คอลัมนิสต์

เมื่อหมูไม่กลัวน้ำร้อน "อธิบดีปศุสัตว์" สวนกลับ กมธ. ใครห้ามเคลื่อนย้ายหมู

เมื่อหมูไม่กลัวน้ำร้อน "อธิบดีปศุสัตว์" สวนกลับ กมธ. ใครห้ามเคลื่อนย้ายหมู

10 ก.พ. 2565

เรื่องของหมูพ่นพิษ กรรมาธิการแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง อัดกรมปศุสัตว์ ห้ามเคลื่อนย้ายหมู ทำหมูราคาแพง ด้านอธิบดีปศุสัตว์โต้ทันควัน ใครห้ามเคลื่อนย้าย ... เจาะประเด็นร้อน โดย “ขุนเกษตรพิเรน”

          วันนี้ (10 กุมภาพพันธ์ 2565) กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาปัญหาการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และศึกษาแนวทางช่วยเหลือประชาชน จากปัญหาราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ปรับตัวสูงขึ้น สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้จัดแถลงข่าวที่รัฐสภา 

โดยกรรมาธิการมีข้อสรุปดังนี้ 
          1. ให้ กระทรวงการคลัง สั่งการไปยังธนาคารที่อยู่ในกำกับ บรรเทาผลกระทบจากการถูกฟ้องร้องการเลี้ยงสุกร 
          2. ให้ กรมปศุสัตว์ นำรายละเอียดการเยียวยาแต่ละจังหวัดมาให้กรรมาธิการรับทราบ
          3.ให้ กรมการค้าภายใน แจ้งสต๊อกสุกรในโกดังห้องเย็นว่าอยู่ที่ใดบ้าง ถูกต้องหรือไม่ 
          4.ให้ กรมปศุสัตว์ นำเสนอข้อมูลต้นทุนอาหารสัตว์ และการผลิตลูกสุกร เพื่อนำมาเป็นข้อมูลเปรียบเทียบและตรวจสอบความถูกต้อง รวมทั้งแจ้งสูตรการคิดราคาต้นทุนด้วย 
          5.ให้ กรรมาธิการ ทั้ง 5 คนที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ ออกไปสำรวจราคาหมูในตลาดแล้วนำมาเสนอในที่ประชุม

          ทั้งนี้มีประเด็นที่น่าสนใจคือการให้สัมภาษณ์ของ นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ที่กล่าวว่า ขณะนี้ราคาหมูแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน เนื่องจากบางจังหวัดได้รับความเสียหายมาก ทำให้มีสุกรน้อย ราคาจึงสูง บางจังหวัดเสียหายน้อยจึงเหลือสุกรจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถนำหมูข้ามไปให้จังหวัดที่ขาดแคลนได้ ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่อยากฝากภาครัฐช่วยดูแล ให้สามารถนำหมูมาขายซึ่งกันและกันได้สะดวกยิ่งขึ้น

          การเคลื่อนย้ายสุกรข้ามจังหวัด กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที

          “ขุนเกษตรพิเรน” ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในประเด็นดังกล่าว ได้รับคำตอบอย่างหนักแน่นว่า
          “ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายชัดเจนที่จะแก้ปัญหาราคาสุกรและการควบคุมการระบาดของโรค ที่สำคัญคือ ห้ามทำให้เกษตรกรและผู้เลี้ยงสุกรเดือดร้อนจากมาตรการต่างๆ
          กรมปศุสัตว์รับนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างเต็มกำลัง ทั้งการร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชน์ ในการตรวจสต๊อกห้องเย็น และการเคลื่อนย้ายสัตว์โดยที่ไม่มีใบอนุญาต กรมปศุสัตว์ขอยืนยันว่าไม่ได้มีการสั่งห้ามเคลื่อนย้ายสุกรใด ๆ ยังสามารถเคลื่อนย้ายได้ปกติ แต่ต้องเป็นไปตามระเบียบและมาตรฐาน ไม่ใช่จะเคลื่อนย้ายโดยเสรีซึ่งผิดกฎหมาย”

เมื่อหมูไม่กลัวน้ำร้อน \"อธิบดีปศุสัตว์\" สวนกลับ กมธ. ใครห้ามเคลื่อนย้ายหมู

          “ขุนเกษตรพิเรน” สืบต่อถึงกฎระเบียบในการเคลื่อนย้าย  หลักใหญ่ใจความคือ ระเบียบกรมปศุสัตว์ ว่าด้วย หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข การอนุญาต เคลื่อนย้ายสุกร หมูป่า หรือซากสุกร ซากหมูป่า เข้า ออก ผ่าน หรือภายใน เขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พ.ศ. 2564  

กรณีย้ายไปเลี้ยงจะต้องปฏิบัติดังนี้

(1) กรณีทั่วไป ฟาร์มปลายทางต้องได้รับการรับรอง GFM เป็นขั้นต่ำ

(2) กรณีฟาร์มต้นทางเคยพบความเสี่ยงสูงมาก จะต้องทำลายสุกรมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน และต้องเก็บตัวอย่างสุกรที่ฟาร์ม ปลายทาง ชุดที่เคลื่อนย้าย โรงเรือน ละ 15 ตัวอย่าง ในวันที่ 1 และ 7 ภายหลังลงเลี้ยง

(3) กรณีฟาร์มปลายทางเคยพบความเสี่ยงสูงมาก ต้องทำลายสุกรมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วัน และต้องเป็นฟาร์ม GAP ขึ้นไป และก่อนลงเลี้ยงจริง ต้องเก็บตัวอย่างพื้นผิวโรงเรือนเลี้ยงสุกร 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 สัปดาห์ ต้องใช้ sentinel ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของกำลังการผลิตของโรงเรือนเลี้ยง เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 สัปดาห์ เก็บตัวอย่างตรวจ หากไม่พบโรค ASF จึงจะสามารถขออนุญาตนำสุกรเข้ามาเลี้ยงได้เต็มกำลังการผลิตของโรงเรือนนั้น

(4) ให้สัตวแพทย์ประจำท้องที่ต้นทาง เขียนระบุว่า ใบรายงานผลดังกล่าวสามารถใช้ได้กับใบอนุญาตหรือหนังสืออนุญาตเคลื่อนย้ายเลขที่ใด

(5) เฉพาะกรณีเคลื่อนย้ายข้ามเขต ต้องมีหลักฐานการพ่นยาฆ่าเชื้อจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดหรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือ ด่านกักกันสัตว์ อย่างน้อย 1 หน่วยงาน ต่อ เขตปศุสัตว์

เมื่อหมูไม่กลัวน้ำร้อน \"อธิบดีปศุสัตว์\" สวนกลับ กมธ. ใครห้ามเคลื่อนย้ายหมู

กรณีเคลื่อนย้ายซากสุกร 
(1) ในวันเคลื่อนย้ายต้องมีใบรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ ( แบบ รน.) หรือประทับตรารับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ หรือบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ ไปพร้อมหนังสืออนุญาตเคลื่อนย้ายทุกครั้ง 

(2) พื้นที่พิเศษ คือจังหวัดที่มีการออกหนังสืออนุญาตเคลื่อนย้ายซากสุกรจำนวนมาก เช่น สมุทรปราการ นครราชสีมา ขอนแก่น นครปฐม สมุทรสาคร เป็นต้น

(3) การเก็บตัวอย่างซากที่โรงฆ่า โดยเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ให้เก็บ จำนวน 5 ราย รายละ 5 ตัวอย่าง ตัวอย่างละ 50 กรัม ทุกๆ 2 เดือน 

(4)  การเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในโรงฆ่าโดยเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ให้เก็บ surface swab จำนวน 3 บริเวณ (คอกพักสุกร , ไลน์การผลิต , ท่อน้ำทิ้ง ) บริเวณละ 5 จุด ทุก ๆ 1 เดือน 

(5) สัตวแพทย์ประจำท้องที่ปลายทางต้องตอบกลับหนังสืออนุญาต  หากไม่อนุญาตให้ระบุเหตุผลแจ้งสัตวแพทย์ประจำท้องที่ต้นทางทราบภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 วันทำการ 

เมื่อหมูไม่กลัวน้ำร้อน \"อธิบดีปศุสัตว์\" สวนกลับ กมธ. ใครห้ามเคลื่อนย้ายหมู
          มาตรการดังกล่าว “ขุนเกษตรพิเรน” บอกเลยว่าต้องเข้มข้น ในยามวิกฤติ การเคลื่อนย้ายสุกรหรือซากสุกรต้องมีมาตรฐาน ไม่เช่นนั้นไม่ต่างจากการนำหมูป่วยไปปล่อยเชื้อใส่หมูปกติ สุดท้ายโรคระบาดก็ไม่สามารถควบคุมได้จบสิ้น

          “ขุนเกษตรพิเรน” ถามย้ำกับอธิบดีปศุสัตว์หลายครั้ง ไม่มีการห้ามเคลื่อนย้ายจริงหรือไม่ คำตอบที่ได้ยังหนักแน่นเช่นเดิม กรมปศุสัตว์ไม่ได้สั่งห้ามเคลื่อนย้าย และปศุสัตว์ในพื้นที่ก็ทำงานกันเต็มกำลัง การบอกว่าเราห้ามเคลื่อนย้ายเป็นคำพูดที่บั่นทอนจิตใจคนทำงาน และที่สำคัญอยากให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบคือ  

          วันนี้จากนโยบายของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งผลให้ราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม จากราคา 110 บาท เมื่อกลางเดือนมกราคม ลดลงเหลือ 94 บาท และส่งผลให้ราคาขายส่งห้างค้าปลีกลดลงเหลือกิโลกรัมละ 150 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาขายปลีกอยู่ระหว่าง 186 บาท และราคาจำหน่ายหมูเนื้อแดง ส่วนสะโพก ไหล่ ไม่รวมหมูเนื้อแดงปรุงแต่ง อยู่ที่กิโลกรัมละ 164-170 บาท