คอลัมนิสต์

"เลือกตั้ง อบต.  ส่อประชาชนอยากเปลี่ยน"  โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

"เลือกตั้ง อบต.  ส่อประชาชนอยากเปลี่ยน" โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป

30 ม.ค. 2565

ควันหลงเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศ เมื่อ 28 พ.ย.64 ที่ผ่านมา ถ้าติดตามจากรายงานข่าวและการวิเคราะห์วิจารณ์ของสื่อมวลชนทั่วไปมักได้ยินแต่เสียงสะท้อนปัญหาการทุจริต รุนแรงเหลือเกิน แต่ในอนุฯสว.มองอีกมุมหนึ่ง ติดตามได้ที่เจาะประเด็นร้อน โดย พลเดช ปิ่นประทีป

 

ควันหลงจากการเลือกตั้ง อบต. 5,300 แห่งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564  ถ้าติดตามจากรายงานข่าวและการวิเคราะห์วิจารณ์ของสื่อมวลชนทั่วไปมักจะได้ยินแต่เสียงสะท้อนปัญหาการทุจริต ซื้อสิทธิ์ขายเสียงว่ารุนแรงเหลือเกิน และสรุปลงท้ายว่ามันเป็นเรื่องที่สิ้นหวัง เพราะมีการสมยอมกัน มีปัญหาทั่วทุกหัวระแหง  กล่าวโทษนั่นนี่กันไปเรื่อยเปื่อย  ฉันไม่เกี่ยว ไม่รู้จะแก้อย่างไร ใครที่มีอำนาจมาช่วยที


แต่ในคณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา  ไม่คิดแบบนั้น พวกเราเฝ้าติดตามสถานการณ์ที่เป็นจริงในภาคสนาม ขบคิดวิธีการแก้ไข ขณะเดียวกันก็มุ่งมั่นขับเคลื่อน  "การปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนจากฐานล่าง"   

จากการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน 3 เครือข่ายใหญ่ เชื่อมโยงทั้ง 77 จังหวัด ได้แก่ เครือข่ายการเมืองวิถีใหม่ เครือข่ายท้องถิ่นท้องที่วิถีใหม่ และเครือข่ายสภาประชาสังคมไทย ได้พบสัญญาณที่ส่อว่าประชาชนอยากเปลี่ยน ซึ่งจากจุดนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมืองระดับชาติในอนาคตอันใกล้


จากข้อมูลทั่วไปของการเลือกตั้ง อบต.2564  มีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั่วประเทศรวม 136,250 คน แยกเป็นผู้สมัครนายก อบต. 12,309 คน หรือเฉลี่ย 2.3 คน/อบต. (แข่ง 3 คน เอา 1 คน)  ส่วนผู้สมัครสมาชิก อบต.มีจำนวนทั้งสิ้น 123,941 คน  หรือเฉลี่ย 23.4 คน/อบต. ซึ่งสมาชิก อบต.มีจำนวนขั้นต่ำสุด 6 คน ส่วน อบต.ขนาดใหญ่ขึ้นมาจะมีสมาชิกเท่ากับจำนวนหมู่บ้าน คือ 1 คน / 1 หมู่บ้าน ในส่วนผู้สมัครสมาชิก อบต.ก็แข่งกันแบบ 3 คน ได้ 1 คน เช่นกัน



ในภาพรวม จากรายงานของเครือข่ายประชาสังคม 10 จังหวัด ที่เข้าสังเกตุการณ์การเลือกตั้งและประมวลผลมาให้อย่างเป็นระบบ พบว่าในแต่ละพื้นที่มีการขับเคี่ยวกันระหว่าง 3 กระแส ได้แก่ 


1) กระแสอิทธิพลในท้องถิ่น  - ส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์ที่เชื่อมกับระบบหัวคะแนนของนักการเมืองระดับชาติ อย่างที่เขาเรียกกันว่า “บ้านใหญ่” อันเป็นเครือข่ายระบบอุปถัมป์ที่แข็งแรงที่สุดในต่างจังหวัด กลุ่มนี้มีทั้งที่ต้องการสนับสนุนคนเก่าและที่ต้องการเปลี่ยนคนใหม่ มีทั้งวิธีการใช้อิทธิพลบีบให้คู่แข่งหลีกทางเพื่อให้เหลือผู้สมัครของตนเพียงคนเดียว ไร้คู่แข่ง และที่ใช้วิธีการทุ่มเงินซื้อเสียงกันในโค้งสุดท้าย  


2)กระแสเงินจากนายทุนท้องถิ่น  - มีบางแห่งที่ผู้สมัครได้รับการสนับสนุนจากนายทุนอิสระในท้องถิ่น อาจด้วยเหตุผลที่แตกต่างหลากหลาย ผู้สมัครอาจเป็นคนเก่าหรือคนใหม่ก็ได้ โดยนายทุนจะเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชนที่คุ้นเคยมารับประทานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้าน แล้วบอกตามตรงว่าตนต้องการสนับสนุนผู้สมัครคนนี้ ถ้าใครเห็นด้วยขอให้อยู่คุยกันต่อและมีของขวัญรางวัลติดไม้ติดมือกลับไป ส่วนใครที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่สบายใจขอให้กลับไปได้เลย ไม่ต้องเกรงใจกัน  ในบางพื้นที่จะเห็นรูปโปสเตอร์หาเสียงของผู้สมัคร ที่มีรูปนายทุนผู้สนับสนุนประกอบไว้อย่างเปิดเผย


3)กระแสผลงานและคุณธรรมความดี  - ส่วนนี้ก็มีจริงและคงอยู่มายาวนาน แต่นับวันจะอ่อนล้าและถูกเบียดขับด้วยอิทธิพลและเงินทุน  ส่วนนี้คือพลังการปฏิรูปสำคัญที่ฐานล่าง ซึ่งคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วม วุฒิสภา เล็งเห็นคุณค่าและมุ่งส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการลุกยืนขึ้นมา ก่อตัว สร้างกระแสทวน 
ในการเลือกตั้ง อบต.ครั้งล่าสุด มีปรากฏการณ์บางอย่างที่สะท้อน "ประชาชนอยากเปลี่ยน" ซึ่งควรติดตามจับตามองต่อไปอีกสักระยะ  และนักการเมืองทุกฝ่ายอาจต้องใคร่ครวญ.


ในภาพรวมทั่วประเทศ มีประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อบต.ในคราวนี้ รวม 27.386 ล้านคน มาใช้สิทธิ์เลือกตั้ง 20.424 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 74.58  นับว่าเป็นเปอร์เซนต์ที่สูงมาก มี 10 จังหวัดที่ประชาชนมาใช้สิทธิ์สูงสุด ระหว่างร้อยละ 84.97-80.88  ได้แก่ พัทลุง ตรัง สุราษฎร์ธานี สงขลา เพชรบุรี สระบุรี นครนายก กระบี่ สตูล และลำพูน
ผู้ได้รับเลือกเป็นนายก อบต.  มีสัดส่วนระหว่างคนใหม่ ต่อ คนเก่า  คิดเป็น  68 : 32  โดยที่จังหวัดร้อยเอ็ด 129 แห่ง  นายกเก่าสอบตก 102 คน  ที่ขอนแก่น อบต.โนนสะอาด อ.แวงใหญ่ มีผู้สมัครคนเดียว แต่แพ้ "โหวตโน"   

 

ส่วนที่โคราช 243 อบต. แชมป์เก่าร่วง 160 คน ทางด้านคณะก้าวหน้าแถลงว่า คราวนี้ทางกลุ่มส่งเลือกตั้งนายก อบต.196 แห่งทั่วประเทศ ได้ชัยชนะ 38 แห่ง คุยว่าเป็นความสำเร็จร้อยละ 20  ส่วนทางด้านของเครือข่ายภาคประชาสังคม มีรายงานจาก 24 จังหวัดโดยแจ้งว่ามีนายก อบต.ที่ชนะอำนาจเงินด้วยคุณธรรมและผลงานอย่างน้อย 94 แห่ง 

 

ในเรื่องนี้ คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน  ได้วิเคราะห์ข้อมูลการรายงานของเครือข่ายภาคประชาสังคม 10 จังหวัด ในส่วนที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบและมีความน่าเชื่อถือ พบว่าผู้ได้รับเลือกเป็นนายก อบต.ที่อยู่ในวิถีทางของการเมืองเชิงศีลธรรม ไม่ใช้เงินซื้อเสียง มุ่งเสนอนโยบายและคุณงามความดี  มีจำนวน 71 แห่ง จากทั้งหมด 570 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 12.5   ดังตาราง


 

\"เลือกตั้ง อบต.  ส่อประชาชนอยากเปลี่ยน\"  โดย ส.ว.พลเดช  ปิ่นประทีป