คอลัมนิสต์

ยุบแตก.. แยกย้าย วังวนบนความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อสัญญาณการเลือกตั้งเริ่มปรากฏชัดขึ้น ภาพของส.ส. นักการเมือง และพรรคการเมือง มักยุบพรรค ย้ายพรรค หรือพรรคแตกแบ่งเป็น 2 ขั้วเพื่อต่อรองอำนาจทางการเมืองและเตรียมการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐกำลังประสบกับภาวะ ยุบแตก..แยกย้าย ในวังวนบนความขัดแย้งทางการเมือง

 

นาทีนี้คงไม่อาจปฏิเสธได้เลย  พรรคพลังประชารัฐ  กำลังตกอยู่ในสภาพปั่นป่วนวุ่นวายศึกภายในยังไม่สงบ  ภายหลังกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคและพวก ซึ่งเป็นส.ส.ในพรรคอีก 20 คน รวมเป็น 21 ส.ส. ถูกกรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคพลังประชารัฐ มีมติให้ขับออกจากพรรค โดยการแถลงข่าวของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค ที่ระบุว่าเพื่อรักษาหลักการในเรื่องความมีเสถียรภาพและความเป็นเอกภาพของพรรค

 

จากกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัสและพวกมีข้อเสนอที่เป็นเหตุที่ร้ายแรงต่อพรรค กก.บห.จึงเห็นว่าเข้ากับข้อบังคับข้อที่ 54(5) ที่มีเหตุร้ายแรง จึงมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส และส.ส. รวม 21 คน พ้นจาก พรรคพลังประชารัฐ โดยมีส.ส.ของพรรคจำนวน 63 เสียงมีมติให้ขับพ้นออกจากพรรค จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็น กก.บห.และสมาชิกพรรคจำนวน 78 คน

 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ และอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

 

“คมชัดลึก” มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ พรรคพลังประชารัฐ และ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่อาจมองได้ว่าตอนนี้ตกอยู่ในสถานะที่เป็นรองทางการเมือง เนื่องจากการยกก๊วนออกจากพรรคพลังประชารัฐของ ร.อ.ธรรมนัสและพวก ทำให้กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงกว่าที่เคยอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ เพราะเมื่อย้ายออกจากพรรคแล้ว ภาพของการเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำของพล.อ.ประยุทธ์ มีความชัดเจนมากและมีโอกาสเกิดเหตุเรือล่มได้สูงมากทีเดียว

 

หากในกลางปีนี้มีการพิจารณากฎหมายสำคัญ ๆ ในสภาฯ อย่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ไม่ผ่านการพิจารณา หรือกรณีที่ฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และลงมติเป็นรายบุคคล แล้วเสียงยกมือโหวตรัฐบาลไม่ผ่านการซักฟอก รัฐบาลต้องยุบสภาหรือลาออก 
 

 

ดังนั้น กรณีที่กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ถูกขับออกจาก พรรคพลังประชารัฐ จึงเป็นการเดินหมากทางการเมืองที่ฝ่ายกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ได้เปรียบเพราะการหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 30 วันนั้น ไม่ใช่ปัญหา และล่าสุดกระแสข่าวชัดเจนแล้วว่ากลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส จะเข้าไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย และเมื่อมีพรรคสังกัดแล้ว สถานะความเป็นส.ส.ก็ยังมีอยู่เต็มร้อย อำนาจการต่อรองขอเก้าอี้รัฐมนตรีใน คณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีสูงมาก หรืออาจจะเล่นเอาล่อเอาเถิดกับรัฐบาล ด้วยการร่วมมือกับฝายค้านปล่อยให้เกิดสภาล่มซ้ำซาก

 

ขณะที่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำของ พล.อ.ประยุทธ์ กลับตกอยู่ในสภาวะที่ทำงานการเมืองในสภาฯ ลำบาก และแทบกระดิกตัวไปไหนไม่ได้เลย โดยเฉพาะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ที่อาจทำให้การลงพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาของประชาชน ไม่สามารถทำได้เต็มที่เหมือนเช่นเคย  

 

ยุบแตก.. แยกย้าย วังวนบนความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ

 

ส่วนฟากฝั่ง ร.อ.ธรรมนัส อาจจะรวมคะแนนเสียงส.ส.ในสภา เข้ากลุ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อสร้างอาณาจักรและเป็น “หนามยอกอก” ของพล.อ.ประยุทธ์ ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งรัฐบาลอาจจะเกิด การยุบสภา หรือ ลาออก ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์การเมืองกันอย่างใกล้ชิดต่อไป 

 

อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งภายใน พรรคพลังประชารัฐ จนนำไปสู่ภาพของพรรคที่มีความแตกแยกและร้าวลึกนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก

 

เพราะถ้าจำกันได้ 2 แกนนำคนสำคัญของพรรค “สร้างอนาคตไทย” ในวันนี้ คือ นายอุตตม สาวนายน อดีตรมว.คลังและอดีตหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พลังงานและอดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ต่างต้องออกจากพรรคพลังประชารัฐมาเช่นกัน แต่นั่นเป็นการลาออก

 

ยุบแตก.. แยกย้าย วังวนบนความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ

 

พรรคพลังประชารัฐ ที่มีจุดเริ่มต้นของพรรค โดยก่อตั้งพรรคขึ้นเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 เพื่อทำงานการเมือง ด้วยการรวบรวมคนจากหลากลายสาขาอาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เคยเป็นส.ส.จากพรรคการเมืองต่าง ๆ มาเป็นสมาชิกพรรค และลงสู้ศึกเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 จนพรรคได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและได้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กระทั่งวันที่ 9 ก.ค. 2563 นาย อุตตมและนายสนธิรัตน์ ได้ลาออกจาก พรรคพลังประชารัฐ โดยมีกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นหัวหน้าพรรค 

 

ถึงแม้ว่าห้วงเวลานั้น นายอุตตมและนายสนธิรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง พรรคพลังประชารัฐ  จะบอกว่าการตัดสินใจยุติบทบาททางการเมือง ในฐานะสมาชิก พรรคพลังประชารัฐ ตลอด 2 ปีนั้นได้มีส่วนร่วมในการจัดตั้ง พรรคพลังประชารัฐ ด้วยความตั้งใจในการทำงานการเมืองและมีเจตนารมณ์ในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งบรรลุในสิ่งที่ตั้งเป้าหมายไว้แล้วก็ตาม แต่ลึก ๆ แล้วย่อมเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นภายในพรรค ไม่เช่นนั้นจะไม่มีการเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ขึ้นมาแทนที่ นายอุตตมและนายสนธิรัตน์ อย่างแน่นอน 

 

นี่เป็นเหตุการณ์แรกของการ "แยก" ออกจากพรรค จากผู้ที่เคยเป็นแกนนำและคนสำคัญของพรรค เรียกว่าจากมาด้วยความชอกช้ำใจ ซึ่งตอนนั้นทั้งสองคนยังไม่คิดจะตั้งพรรคการเมือง กระทั่งผ่านมา 2 ปี จึงได้เปิดตัวพรรค  "สร้างอนาคตไทย"  ไปเมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อล้างปมในใจของทั้งสองคน หลังจากได้เคยร่วมปั้นร่วมสร้าง พรรคพลังประชารัฐ มากับมือ แต่สุดท้ายต้องลาออกจากพรรค

 

ยุบแตก.. แยกย้าย วังวนบนความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ

 

ส่วนกรณีกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสและพวก ต้องพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ นี่เป็นเหตุการณ์ครั้งที่ 2 ที่เกิดการ "แตก" และ "แยก" ออกมาจากพรรค ซึ่งมาจากปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐทั้งสิ้น แต่เป็นการแตกและแยกย้ายออกมาในรูปแบบที่หวังผลทางการเมืองสูงมาก นั่นคือมีเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเดิมพัน พอ ๆ กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องอยู่ท่ามกลางสภาวะที่ไม่รู้ว่าจะล่มเมื่อไร หากไม่สามารถควบคุมเสียงข้างมากในสภาฯ ได้อย่างแท้จริง 

 

สำหรับกรณีการยุบพรรคการเมืองของไทย ไม่ว่าจะเป็นการ "ยุบ" เพื่อรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือยุบเพราะทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง นับตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 และมีกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พบว่ามีการยุบพรรคการเมืองไปแล้ว 110 พรรค ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะพรรคการเมืองที่เป็นที่รู้จักในวงกว้างของแวดวงการเมืองไทย

 

ทั้งนี้ พบว่าพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 นั้น มีพรรคการเมือง 5 พรรคที่ถูกยุบพรรคเพื่อไปรวมกับพรรคการเมืองอื่น (มาตรา 65 วรรค 3) ได้แก่ พรรคมวลชน ไปรวมกับพรรคความหวังใหม่ (ปี 2541) พรรคเสรีธรรม ไปรวมกับพรรคไทยรักไทย (ปี 2544) พรรคความหวังใหม่ ไปรวมกับพรรคไทยรักไทย (ปี 2545) พรรคชาติพัฒนา ไปรวมกับพรรคไทยรักไทย (ปี 2547) พรรคต้นตระกูลไทย ไปรวมกับพรรคชาติไทย (ปี 2548)

 

ขณะที่ พรรคไทยรักไทย ถูกยุบเพราะกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กรณีจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กให้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงเกณฑ์ต้องได้คะแนนเสียง ร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในเขตที่มีผู้สมัครคนเดียว (30 พ.ค. 2550)

 

ยุบแตก.. แยกย้าย วังวนบนความขัดแย้งทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ

 

ขณะเดียวกันมี พรรคการเมือง 3 พรรค ที่ถูกยุบเพราะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข คือ 3 พรรคเล็กที่ส่งผู้สมัครสนับสนุนพรรคไทยรักไทย ในเขตที่มีผู้สมัครคนเดียว ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย

 

ส่วนพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 พบว่ามีพรรคการเมือง 3 พรรคที่ถูกยุบ (ปี 2551) เนื่องจากการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย พรรคมัชฌิมาธิปไตย กรณีกรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้ง แจกใบแดง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง คือ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ส.ส.แบบสัดส่วน / นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัครรับเลือกตั้งและรองเลขาธิการพรรคชาติไทย / นายสุนทร วิลาวัลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งและรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย

 

สำหรับพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 พบว่ามีจำนวน 2 พรรค คือ พรรคไทยรักษาชาติ (ปี 2562) โดยมีการกระทำที่อาจจะเป็นปฏิปักษ์กับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (ตามมาตรา 92) กรณีการเสนอชื่อบุคคลให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี) และพรรคอนาคตใหม่ ถูกยุบพรรคเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบใน "คดีเงินกู้ 191 ล้านบาท" ที่พรรคกู้เงินจาก นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้า พรรคอนาคตใหม่

 

กล่าวถึงเหตุการณ์ยุบพรรคข้างต้นเพื่อเป็นอนุสติเตือนกลุ่มก๊วนการเมืองทั้งหลาย ที่มีการรวมตัวตั้งพรรคการเมือง

 

โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ ก่อนจะมีบางส่วนแยกย้ายออกไปตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย  รวมไปถึงเหตุการณ์พปชร. ขับ ร.อ.ธรรมนัส และพวกพ้นสมาชิกพรรค พบว่า นักการเมืองจำนวนหนึ่งล้วนมาจากสาแหรกพรรคการเมืองที่โดนยุบพรรค (พรรคไทยรักไทย ) ก่อนจะมารวมตัวกันใหม่ในสังกัดพรรคต่าง ๆ รวมถึงการเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐด้วย 

 

เหตุการณ์ตอนนี้ก็กลับมาอยู่ในวังวน ยุบ-แตก- แยก-ย้าย  ล่าสุดกับปมปัญหาข้อกฎหมายกรณีพปชร.ขับ ร.อ.ธรรมนัสและพวกออกจากสมาชิกพรรค ถึงกับมีผู้ร้องต่อกกต.ให้พิจารณาว่า จะเข้าข่ายยุบพรรคพปชร.ได้หรือไม่ 

 

....นี่หล่ะพรรคการเมืองไทย... 

   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ