คอลัมนิสต์

เมื่อนายกฯต้องเดินอยู่บน "เส้นด้าย" 6 เดือนยุบสภาและท่วงท่า ขับรถไม่วางมือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อะไรก็เกิดขึ้นได้ในวงการการเมือง แต่ความพยายามของพลเอกประยุทธ์ที่ต้องการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตัวเองและในที่ประชุม ศบศ. "อย่ายอมแพ้" นั้น อะไรที่จะเป็นประเด็นต่อจากนี้ที่ต้องจับตา

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยืนอยู่บนความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง หลังการเลือกตั้งซ่อมสงขลา ชุมพร พร้อมกับความพ่ายแพ้ของพรรคพลังประชารัฐไม่ใช่แค่พ่ายแพ้ แต่นำมาซึ่งความขัดแย้ง แตกแยกภายในพรรคอย่างรุนแรง ถึงขั้นพรรคพลังประชารัฐมีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และเพื่อน ส.ส.ในกลุ่มอีก 20 คนพ้นจากสมาชิกพรรค ด้วยข้อกล่าวหาสร้างความขัดแย้งภายในพรรค

ความขัดแย้งอันเกิดจากผลพวงของการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม “เลือก ส.ส.ต้องเลือกคนมีชาติตระกูล และมีตังค์” เป็นวลีในการปราศรัยโค้งสุดท้าย ที่ถูกนำไปขยายผลมากมาย และถูกมองว่าเป็นวลีที่สร้างความพ่ายแพ้ให้พรรคพลังประชารัฐ

น่าจะเป็นวลีที่ทำให้ สุชาติ ชมกลิ่น รวม.แรงงาน เสนอให้ทำโพล และมีคำถามชี้นำว่า พรรคพลังประชารัฐตกต่ำ เพราะ ร.อ.ธรรมนัส ใช่หรือไม่

     

ยังมีข้อกล่าวหาถึงการต่อรองตำแหน่งสองรัฐมนตรีให้กลุ่มธรรมนัสที่หายไปจากการปลด “ธรรมนัส-นฤมล” ซึ่งข้อเท็จจริงไม่มีการยืนยัน ไม่มีหลักฐานอะไร และเป็นข้อต่อรองที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่น่าจะยอมเป็นเบี้ยล่าง

อีกข้อกล่าวหา คือ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า ร.อ.ธรรมนัส เสนอให้ปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่ อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกมากขึ้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคจึงไม่ยอม แต่ไม่มีรายละเอียดว่า เสนอปรับโครงสร้างพรรคขนานใหญ่อย่างไรที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกรุนแรง ถึงขั้นต้องขับเลขาธิการพรรค และพวกถึง 21 คนออกจากพรรค

"ในทางการเมืองการขับสมาชิกพรรคที่เป็น ส.ส.ออกจากพรรคถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ยิ่งเป็นการสร้างความแตกแยกขัดแย้ง ถีบมิตรไปเป็นศัตรู แม้ท่าทีของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสจะยังไม่ชัดเจนนักว่าจะยืนอยู่ตรงไหน แต่แน่นอนว่า ต้องไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์อย่างเป็นแน่แท้"

เสียงของรัฐบาลที่เคยมีอยู่ 277 เสียง หายไปทันที 21 เสียง จึงเหลืออยู่เพียง 256 เสียง เกินกึ่งหนึ่งไป 5 เสียง ในขณะที่เสียงของฝ่ายค้านที่เคยมี 209 เสียง เพิ่มขึ้นเป็น 230 เสียงทันที

 277 เสียงของรัฐบาลที่ผ่านมา สภาก็ล่มแล้วล่มอีก ไม่อาจผ่านกฎหมายสำคัญไปได้มาหลายครั้งแล้ว มาถึงเวลานี้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงยืนอยู่บนความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง

ความเสี่ยงแรกคือ ความเสี่ยงของการถูกคว่ำร่างพระราชบัญญัติ เมื่อส.ส.ที่สนับสนุนรัฐบาลหายไป 21 คน ทำให้จำนวน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลที่เหลือ มีจำนวนเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่งผลให้สถานภาพของรัฐบาลเดินเข้าสู่แดนอันตราย สัญญาณที่ปรากฎในระยะนี้คือ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรล่มบ่อยครั้ง เพราะองค์ประชุมไม่ครบ คาดว่าการทำงานขับเคลื่อนกฎหมายของรัฐบาลในปี 2565 จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และหากรัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าไปในสภาฯ ก็มีความเสี่ยงที่จะถูกคว่ำได้ โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ. เกี่ยวกับการเงิน และ พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินในกลางปีนี้ (ถ้ารัฐบาลยังอยู่ถึงในเวลานั้น)

 

ความเสี่ยงที่สองคือ การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติที่ฝ่ายค้านยื่นไปแล้ว และการถูกลงมติไม่ไว้วางใจ ประมาณเดือนพฤษภาคมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็เปิดโอกาสให้กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสร่วมมือกับฝ่ายค้านเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจพล.อ.ประยุทธ์ได้ หากคะแนนไม่ไว้วางใจมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ทั้งหมดที่อยู่ในสภา พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทันที

มีความเป็นไปได้ว่า หากมีสัญญาณชัดเจนว่า กลุ่มร.อ.ธรรมนัสจะร่วมมือกับฝ่ายค้านแน่ และทำให้เสียงไม่ไว้วางใจมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาฯ พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจชิงยุบสภาฯ เสียก่อนที่ฝ่ายค้านจะยื่นญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจ (ถ้ายื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้วจะยุบสภาหนีไม่ได้) อย่างไรก็ตามมีความเป็นไปได้เช่นกันว่า กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสอาจวางแผนและแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์ตายใจและยอมให้ฝ่ายค้านอภิปราย จากนั้นเมื่อฝ่ายค้านอภิปรายเสร็จสิ้น กลุ่มร.อ.ธรรมนัสก็หันไปร่วมมือกับฝ่ายค้านลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ภายใต้เหตุผลว่า ข้อมูลฝ่ายค้านมีความหนักแน่นชัดเจนจนทำให้ไม่สามารถไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีก หากจำนวนคะแนนไม่ไว้วางใจเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งอย่างเจ็บปวดที่สุด เพราะจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่พ้นจากตำแหน่งโดยมติไม่ไว้วางใจในสภาฯ

 

นับจากต่อจากนี้เป็นต้นไป รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มีสภาพเหมือนเดินอยู่บน "เส้นด้าย" ที่พร้อมจะขาดลงไปทันทีเมื่อมีสิ่งใดมากระทบ และดูเหมือนสิ่งที่เข้ามากระทบมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ มีความเป็นไปได้สูงว่า ภายในหกเดือนนี้ หากพล.อ.ประยุทธ์ไม่ยุบสภาฯ ก็คงจะถูกไล่ออกกลางสภาฯ แต่ถ้าอยู่รอดไปจนถึงมิถุนายน 2565 ได้ ก็นับว่าเป็นปาฏิหาริย์

ประเด็นอยู่ที่ว่า พล.อ.ประวิตร จะวางให้ ร.อ.ธรรมนัส อยู่ในฐานะอะไรในพรรคใหม่ พรรคเศรษฐกิจไทย ที่ พล.อ.ประวิตรยกให้ไป และน่าจะส่ง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา น้องรักไปนั่งเป็นหัวหน้าพรรคพรรค ในแบบ “ขับรถไม่วางมือ”

 #มากกว่าข่าว #นายหัวไทร

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ