คอลัมนิสต์

รัฐบาล "รอด-ไม่รอด" หลังก๊วน "ธรรมนัส" ยกพวกพ้น พปชร.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นักวิชาการ ชี้กรณีก๊วน "ธรรมนัส" ยกพวกพ้นพลังประชารัฐ หากพรรคร่วมรัฐบาลสามัคคีกัน รัฐบาลก็รอด แต่ถ้าคุมเสียงในสภาไม่ได้ กรณีพิจารณากฎหมายสำคัญหรือญัตติซักฟอกรัฐบาล อาจเกิดการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ได้ หรือทหารเข้ายึดอำนาจ หากบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะสุ่มเสี่ยง

 

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย วิเคราะห์ถึงกรณีที่กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ และสมาชิกพรรคพลังประชารัฐพวกอีก 20 คน ถูกขับพ้นจาก พรรคพลังประชารัฐ จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงจนถึงขั้นยุบสภาและการเลือกตั้งส.ส.ขึ้นใหม่หรือไม่ว่า  ขณะนี้คงไม่ถึงขั้นจะยุบสภา เพราะถ้าดูโดยรวม ก็ไม่แน่ใจว่า ร.อ.ธรรมนัสและพวก จะไปอยู่ฝั่งไหน ถ้าไปอยู่ฝั่งพรรครัฐบาล ซึ่งไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่กระทบการทำงานของรัฐบาล แต่ถ้าไปอยู่กับฝ่ายค้าน ก็คงต้องมาวัดกันดูในส่วนของสัดส่วนของส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ 

 

รัฐบาล "รอด-ไม่รอด" หลังก๊วน "ธรรมนัส" ยกพวกพ้น พปชร.

 

รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุว่า จำนวนส.ส.ในส่วนของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลยังเกินกันอยู่ 20 คน ดังนั้น การที่ ร.อ.ธรรมนัส กับพวกออกจากพรรค พปชร.ไป ถ้าวัดกำลังกัน อย่างมากก็คงสูสี แต่สิ่งสำคัญคือต้องดูที่ปัจจัยดึงหรือดัน ถ้าเป็นปัจจัยดัน คือพรรคร่วมรัฐบาลสามารถพูดคุยกัน ทำงานช่วยงานกัน และทำงานร่วมกันด้วยดี รัฐบาลก็ยังคงอยู่ต่อไปได้ ถึงแม้ ร.อ.ธรรมนัสและพวกจะไปอยู่กับฝ่ายค้าน ถ้านับคะแนนเสียงแล้ว ฝั่งรัฐบาลมีความสามัคคีกันก็จะไม่มีปัญหาอะไร 

 

รัฐบาล "รอด-ไม่รอด" หลังก๊วน "ธรรมนัส" ยกพวกพ้น พปชร.

 

ส่วนปัจจัยดึงลง ซึ่งอาจจะมีส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่มาประชุมบ้าง หรืองดออกเสียงบ้าง หรือพรรคเล็กไม่ลงคะแนนให้รัฐบาล แล้วผลไปตกให้อีกฝั่ง จุดนี้ก็จะทำให้รัฐบาลลำบาก เหนื่อยยาก  และจะส่งผลทำให้กระแสรัฐบาลตกต่ำ ถ้ามีการพิจารณากฎหมายสำคัญและลงมติ และรัฐบาลไม่สามารถคุมเสียงได้ หรือถ้าฝ่ายค้านเขายื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล แล้วเสียงโหวตฝั่งรัฐบาลไม่ผ่าน ฝ่ายค้านก็สามารถที่จะถอดถอนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้  

นอกจากนี้ ถ้าในมองระยะยาว ก็ไม่รู้ว่า ร.อ.ธรรมนัสและพวก จะไปอยู่กับพรรคการเมืองไหน แต่ถ้า ร.อ.ธรรมนัส ไม่ถูกกันกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม การจะร่วมมือกันนั้นก็เป็นไปไม่ได้เลย หรือ ร.อ.ธรรมนัส จะไปร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล หรือพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้จะเอายังไงต่อไป หรือแม้แต่กรณี พรรคสร้างอนาคตไทย ที่เพิ่งเปิดตัวไปนั้น ก็ตกอยู่ในลักษณะคล้ายๆ กับ ร.อ.ธรรมนัส คือบอบช้ำมาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และก็ไม่ได้รับการเหลียวแลจากพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น "ศัตรูของศัตรูคือมิตร" ซึ่งกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส และพรรคสร้างอนาคตไทย ก็อาจจะไปทอนกำลังของ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งอันนี้เป็นปัจจัยภายนอกที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

 

แต่ถ้าพิจารณาปัจจัยภายใน  การที่ ร.อ.ธรรมนัสและพวก ออกจาก พรรคพลังประชารัฐ ก็จะเป็นผลดีต่อพรรค หมดปัญหาการทะเลาะกันเอง ซึ่งที่ผ่านมาก็หาจุดลงตัวยาก มีการเล่นเอาล่อเอาเถิดกัน พอเคลียร์กันจบแบบนี้สภาวะอิหลักอิเหลื่อก็หายไป พรรคก็สามารถก็ทำงานต่อไปได้ 

 

รัฐบาล "รอด-ไม่รอด" หลังก๊วน "ธรรมนัส" ยกพวกพ้น พปชร.

 

หรือถ้าในกรณีที่ ร.อ.ธรรมนัส บาดหมางกันจริงกับ พล.อ.ประยุทธ์ และการที่ พล.อ.ประวิตร ยอมทำตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการมาโดยตลอด ทั้งกรณีการยอมให้ปลด ร.อ.ธรรมนัส ออกจากตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ พล.อ.ประวิตรก็ไม่ว่าอะไร หรือกรณีล่าสุดที่ขับพ้นออกจากพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.ประวิตร ก็ยังยอม ก็มีคำถามง่ายๆ ว่า "มีอะไรที่ป้อมไม่ทำให้ตู่ แต่ต่อให้ไม่บาดหมางกัน ยังไง ก็ต้องรู้สึกบ้าง"

 

ส่วนกรณีถ้ามองข้ามช็อตว่า หากมีโอกาสถึงขั้นยุบสภา และมีการเลือกตั้งใหม่ขึ้นจริง แต่ขณะที่กฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้ง คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง สภายังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญให้ใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2 ใบในการเลือกตั้ง กรณีนี้จะใช้กฎหมายใด หรือมีทางออกใดบ้าง รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่าก่อนหน้านี้สภาได้คิดแนวทางแก้ไขไว้แล้วในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 โดยให้ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล ว่า ถ้ากฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้งยังไม่มีผลบังคับใช้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สามารถออกข้อบังคับมาใช้เพื่อให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้ แต่สุดท้ายก็ไม่ได้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ แล้วก็ไปเขียนว่าให้ใช้กฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้งฉบับใหม่ 

 

รัฐบาล "รอด-ไม่รอด" หลังก๊วน "ธรรมนัส" ยกพวกพ้น พปชร.

 

แต่ถ้ากฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้งยังทำไม่เสร็จ ก็ให้กลับไปใช้ มาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญปี 2560  ที่ระบุว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" 

 

ฉะนั้น หากดำเนินการตาม มาตรา 5 เมื่อไม่มีบทบัญญัติระบุไว้ ก็ให้กลับมาใช้รัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้ว โดยให้ใช้เท่าที่สามารถใช้ได้ อะไรที่ไม่เกี่ยวกับการกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็สามารถนำมาใช้ได้ ส่วนอันไหนที่เจาะจงไว้ ก็ให้ทำตามนั้น 

 

ดังนั้น ในประเด็นนี้ ก็สามารถที่จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ได้ ใน 2 หัวข้อสำคัญคือ 1.เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 1 ไปเลย และ 2.ออกกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมาอีกฉบับหนึ่ง แล้วไปเขียนในวาระที่ยังไม่ออกกฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้งออกมา ให้กกต. สามารถออกระเบียบเพื่อให้สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ขั้นตอนกฎหมายจะเป็นเช่นนี้ ฝ่ายค้านจะให้ยุบสภาและให้มีการเลือกตั้งเลย โดยไม่มีปัญหานั้นเป็นไปไม่ได้  หรืออีกกรณีหนึ่ง ก็อาจจะเป็นช่องทางให้ทหารเข้ามาคุมและมีอำนาจอีกครั้งก็ได้ ถ้าเกิดกรณีที่ทำให้บ้านเมืองมีความสุ่มเสี่ยง บ้านเมืองเกิดความย่ำแย่ลง ทหารก็อาจจะกลับเข้ามายึดอำนาจ และเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจากพล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนใหม่ขึ้นทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็อาจจะเป็นอดีต คสช.คนที่ยังไม่ช้ำมาเป็นนายกรัฐมนตรี  

 

แต่ถ้าจะออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การเลือกตั้งนั้น รัฐบาลไม่สามารถทำได้ เพราะ พ.ร.ก. มีศักดิ์ทางกฎหมายในลำดับที่น้อยกว่ากฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้ง ซึ่ง พระราชกำหนดมีศักดิ์ลำดับทางกฎหมายเท่ากับพระราชบัญญัติ

 

รัฐบาล "รอด-ไม่รอด" หลังก๊วน "ธรรมนัส" ยกพวกพ้น พปชร.

 

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เจษฎ์ วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า ในสถานการณ์แบบนี้รัฐบาลจะรอด หรือไม่รอดนั้น คิดว่ารัฐบาลก็คงจะถูลู่ถูกัง และต้องพยายามรักษาเสถียรภาพของการเป็นรัฐบาลต่อไปให้ได้นานที่สุด แต่การที่เป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำนี้ ก็มีปัจจัยที่ต้องคอยระวัง  คือ

 

1.พรรคตัวเองต้องมาประชุมสภาอย่างพร้อมเพรียงกัน จะขาดไม่ได้เลย

 

2.พรรคฝ่ายรัฐบาต้องสามัคคีกันมากกว่าฝ่ายค้าน

 

3.ต้องรอดูว่าในระยะยาว รัฐบาลจะคุมเสียงได้หรือไม่

 

"เพราะคะแนนปริ่มน้ำ ใครขาดไม่ได้ ลงพื้นที่ไม่ได้ จะไปร่วมประชุมกรรมาธิการฯ ก็ไม่ได้ อันนี้จะลำบาก ก็หวังว่าสภา ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลจะทำกฎหมายลูกประกอบการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ และยุบสภา หรือลาออกเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งก็สามารถจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ในปีนี้" รศ.ดร.เจษฎ์ ระบุ

 

รัฐบาล "รอด-ไม่รอด" หลังก๊วน "ธรรมนัส" ยกพวกพ้น พปชร.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ