คอลัมนิสต์

ผ่าเพลงร้อน "เฮ็ดนาเด้อบ่ได้เฮ็ดนม" ลาวปั้นงาน ไทยปั่นยอดวิว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สูตรสำเร็จเพลงเรต18+ "เฮ็ดนาเด้อบ่ได้เฮ็ดนม" ศิลปินลาวปั้นงานเพลง ส่งต่อศิลปินไทยปั่นยอดวิว ทางการลาวเต้น ลุกขึ้นมางัดข้อกฎหมาย ปรามอินดี้ฝั่งซ้ายอย่าล้ำเส้น คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

เพลงไร้พรมแดน “เฮ็ดนาเด้อบ่ได้เฮ็ดนม” ใช้เวลาเผยแพร่แค่ครึ่งเดือน ประเด็นดราม่าก็บังเกิดลามกอนาจารหรือไม่

 

ภาพสะท้อนลาวยุคดิจิทัล “เฮ็ดนาเด้อบ่ได้เฮ็ดนม” ศิลปินอินดี้ฝั่งซ้ายปั้นงาน ศิลปินฝั่งขวาปั่นยอดวิว สองฝั่งโขงประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

 

อิทธิฤทธิ์ “เฮ็ดนาเด้อบ่ได้เฮ็ดนม” รัฐบาลลาวอยู่นิ่งไม่ได้ จึงออกโรงปรามศิลปินฝั่งซ้าย ขอให้สร้างผลงานอยู่ในกรอบกฎหมายศิลปะการแสดงและกฎหมายสื่อมวลชน

 

5 ปีมานี้ ศิลปินลาวค้นพบการเอาตัวรอดจากพายุดิจิทัลดิสรัปชัน โดยใช้สูตรสำเร็จ อินดี้ฝั่งซ้ายปั้นงาน อินดี้ฝั่งขวาปั่นยอดวิว เนื่องจากประชากรลาว มี 7 ล้านคน ขณะที่ประชากรไทยมีมากกว่า 60 ล้านคน

 

เพลง “เฮ็ดนาเด้อบ่ได้เฮ็ดนม” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของศิลปินลาว ที่ประสบความสำเร็จตามสูตรลาวปั้น ไทยปั่น โดย SOMBATH.97 และ นัท ชนก ได้อัพเพลงเฮ็ดนาเด้อบ่ได้เฮ็ดนม ขึ้นยูทูบเมื่อ 1 ม.ค.2565 พร้อมกับตัดต่อท่อนฮุกไปเผยแพร่ผ่าน TikTok

แค่สัปดาห์เดียว ก็มีนักร้องไทยทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นนำเอาเพลงเฮ็ดนาเด้อบ่ได้เฮ็ดนม มาคัฟเวอร์ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ทำให้ยอดวิวเพลงนี้ทะลุ 6 ล้านวิว

 

‘ผ่าเพลงฉาว’

สมบัดหรือ SOMBATH.97 ผู้สร้างเพลง “เฮ็ดนาเด้อบ่ได้เฮ็ดนม” รู้ดีว่า จะทำเพลงยังไงให้ดังและโดน จึงเลือกท่อนฮุกแบบสุ่มเสี่ยง “เฮ็ดนาเด้อบ่ได้เฮ็ดนม บ่ต้องมาจ่ม ว่านมข้อยบ่มี เนินนมอาจสิบ่มี แต่เนิน...อลังการ” ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ

 

จริงๆแล้ว โดยภาพรวมของเพลง เป็นเพลงที่ดีเพลงหนึ่ง พูดถึงหญิงชาวนาตัดพ้อที่ถูกผู้ชายบูลลี่รูปร่างโดยเฉพาะส่วนหน้าอกหน้าใจ ว่าเป็นสาวจอแบน

 

ท่อนฮุกที่โด่งดังสองฝั่งโขง ทำให้กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และท่องเที่ยว แห่ง สปป.ลาว อยู่นิ่งไม่ได้ เพราะมีกระแสเสียงว่า ทำไมทางการลาวจึงปล่อยปละละเลย ไม่มีการตรวจสอบเนื้อเพลง

ที่ผ่านมา ทางการลาว ได้ผ่อนปรนเรื่องการทำเพลงยุคดิจิทัล เพราะรู้ว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไป ยากที่จะควบคุมกระแสโซเชียลได้ จึงปล่อยให้ศิลปินทำเพลงโดยเสรี ไม่ต้องมาทำเรื่องขออนุญาตจากแผนกวัฒนธรรม

 

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2565 กระทรวง แถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ได้ออกคำสั่งให้ตรวจสอบผลงานเพลงและกลอนลำ ทั้งประเทศ 

 

เนื่องจาก ปัจจุบันมีการแต่งเพลง ขับ-ลำ ที่มีเนื้อหาลามก อนาจาร เผยแพร่ผ่านทางสื่อออนไลน์ ซึ่งผิดต่อกฎหมายว่าด้วยศิลปะการแสดง

 

ในอดีต ผู้ผลิตงานเพลงหรือศิลปิน จะต้องนำเอ็มวีทุกประเภท ก่อนจะนำออกแสดง เผยแพร่ ซื้อขาย หรือผ่านสื่อมวลชนทั้งภายใน และต่างประเทศ ต้องผ่านการตรวจตราและอนุญาตอย่างถูกต้องจากกระทรวงแถลงข่าวฯ

 

ฉะนั้น ทางการลาวจึงมอบให้หัวหน้าแผนกแถลงข่าวฯ 17 แขวงและนครหลวงเวียงจันทน์ ปฏิบัติดังนี้

 

1.ย้อนตรวจบทเพลง ขับ-ลำที่ไม่ผ่านการตรวจ และไม่ได้รับอนุญาตที่นำไปเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ และให้กล่าวเตือน ศึกษาอบรม ปฏิบัติวินัยตามกฎหมาย และระเบียบการที่กำหนดไว้

 

2.โฆษณาเผยแพร่กฎหมายว่าด้วยศิลปะการแสดงและกฎหมายว่าด้วยสื่อมวลชนให้ปวงชนได้รับรู้อย่างกว้างขวาง

 

ทางการลาวรู้ดีว่า ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว จะใช้กฎเกณฑ์แบบยุคสังคมนิยมไม่ได้ จึงอนุโลมให้สร้างงานเพลงได้ แต่การปล่อยเสรีเกินไป ก็เหมือนไร้การควบคุม จึงออกมากระตุกเตือนคนรุ่นใหม่บ้าง

นัท ชนก ผู้ร้องเพลงเฮ็ดนาเด้อบ่ได้เฮ็ดนม

‘เพลงไร้พรมแดน’

กลุ่มผู้สร้างงานเพลง “เฮ็ดนาเด้อบ่ได้เฮ็ดนม” ได้เดินตามรอยความสำเร็จของเพลงลาวชื่อ อยากเป็นลูกเขย ที่ทำสถิติใหม่ในประวัติศาสตร์เพลงสองฝั่งโขง ใช้เวลา 1 ปี มียอดวิวทะลุ 170 ล้านวิว

 

นี่คือตัวอย่างของเพลงไร้พรมแดน เพราะแพลทฟอร์มอย่างเฟซบุ๊ก,ทวิตเตอร์ ,อินสตาแกรรม และติ๊กต็อก (TikTok) ได้ทลายเส้นแบ่งเขตแดนไทย-ลาว

 

เพลงอยากเป็นลูกเขย เป็นผลงานของโสพะนา ช่างภาพอิสระ ชาวเมืองปากเซ แขวงจำปาสัก อยากทำเพลงโปรโมทช่องยูทูบ Sophana CHANNEL จึงชวนมิตรสหายมาทำเพลง

 

เพลงอยากเป็นลูกเขยคือแบบอย่างแห่งความสำเร็จ ตามสูตรศิลปินฝั่งลาวปั้นเพลง ศิลปินฝั่งไทยปั่นกระแส ปั่นยอดวิว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ