คอลัมนิสต์

อัปเดตกฎหมายลูกเลือกตั้ง ก่อนชี้ขาดในเวทีสภาฯ

10 ม.ค. 2565

เกาะติดร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ก่อนบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนมกราคมนี้ ทั้งในส่วนของร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งทุกพรรคการเมืองต่างมีข้อเสนอในประเด็นสำคัญ ทั้งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน

 

เดือนธันวาคม 2564 ร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง 2 ฉบับ คือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ทั้งในส่วนของที่เป็นร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ร่างของพรรคเพื่อไทย ร่างของพรรคก้าวไกล ได้เสนอร่างกฎหมายลูกแก่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย แล้ว

 

ขณะที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เสนอให้ครม.พิจารณาแล้วเช่นกัน โดยนายชวน ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ร่างกฎหมายลูก ทั้ง 2 ฉบับจะถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ เพื่อพิจารณาให้เสร็จสิ้นทั้ง 3 วาระภายใน วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565

 

อัปเดตกฎหมายลูกเลือกตั้ง ก่อนชี้ขาดในเวทีสภาฯ

 

ก่อนที่ร่างกฎหมายลูกทุกฉบับจะถูกนำมาพิจารณาในที่ประชุมสภาเพื่อให้มีการบังคับใช้ต่อไปนั้น “คมชัดลึก” ขอนำร่างกฎหมายทั้งหมดมาอัปเดตให้เห็นถึง เนื้อหาสาระของร่างแต่ละฉบับว่ามีความเหมือน หรือแตกต่างกันในประเด็นใดบ้าง

 

โดยเบื้องต้นคาดว่าที่ประชุมสภาจะยึดร่างกฎหมายลูกจาก กกต.เป็นหลัก จากนั้นจะพิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาจากร่างฉบับอื่น ๆ ที่ทุกพรรคการเมืองเสนอเข้ามาเพื่อให้ร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับมีความถูกต้องและสมบูรณ์มากที่สุด 

 

อัปเดตกฎหมายลูกเลือกตั้ง ก่อนชี้ขาดในเวทีสภาฯ


 

 

ทั้งนี้ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2564 อนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ… และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ… ตามที่ กกต. เสนอเพื่อให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2564 ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.


1.ให้ กกต.ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน 


2.ให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว จึงมีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ และต้องกำหนดให้ส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าว ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยต้องกำหนดวันที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 3 วัน 


3.กำหนดให้มีคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 คน มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในที่เลือกตั้งและนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่ง


4.ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบละ 1 ใบ (บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส่วนหีบบัตรเลือกตั้งให้มีลักษณะตามที่ กกต. กำหนด)


5.แก้ไขเพิ่มเติมการประกาศผลเลือกตั้ง โดยเมื่อรวมผลเลือกตั้งแล้ว คะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น รวมทั้งคะแนนที่ได้จากการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง และการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้ กกต. ประจำเขตเลือกตั้ง ดำเนินการประกาศผลรวมคะแนน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด ผลการรวมคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และคะแนนที่ไม่เลือกพรรคการเมืองใด แล้วรายงาน กกต. โดยเร็ว

 


 

 

ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง

1.แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการสรรหาของแต่ละพรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่เกิน 100 รายชื่อ

2.แก้ไขเพิ่มเติมให้สมาชิกพรรคการเมืองลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้คนละไม่เกิน 10 รายชื่อ จากเดิม 15 รายชื่อ 

 

อัปเดตกฎหมายลูกเลือกตั้ง ก่อนชี้ขาดในเวทีสภาฯ

 

พรรคเพื่อไทย


สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 
1.กำหนดให้ผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อและแบบเเบ่งเขตมีเบอร์เดียวกัน สามารถกระทำได้โดยให้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเป็นวันที่สองของระบบเขตและรับสมัครแบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่าสามวัน

2.การแบ่งเขตเลือกตั้ง ในเขตเลือกตั้งเดียวกันต้องมีเขตพื้นที่ติดต่อกัน แตกต่างจากกฎหมายเดิม ซึ่งเขตเลือกตั้งเดียวกันแต่พื้นที่มิได้ติดต่อกัน ที่อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

3.ฐานจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องใกล้เคียงกัน เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา ฐานจำนวนประชากรในเขตเลือกตั้งแต่ละเขตมีจำนวนแตกต่างกันมาก บางเขตแตกต่างกันมากถึง 9 หมื่นคน เป็นต้น

 

4.การคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้นำคะแนนแบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองหารด้วย 100 แล้วหารด้วยคะแนนแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง จะได้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของแต่ละพรรคการเมืองโดยใช้จำนวนเต็มในเบื้องต้น

 

5. หากคำนวณตามข้อ 2. แล้วได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อรวมกันไม่ครบ 100 คน ให้นำเศษของแต่ละพรรคการเมืองที่มีเศษมากมาเพิ่มให้โดยลำดับ โดยให้คิดเศษมากโดยลำดับให้รวมถึงพรรคที่มีคะแนนไม่ถึงค่าเฉลี่ยต่อส.ส. 1 คนในตอนแรกมาคิดคำนวณด้วย และจะไม่มีการปัดเศษ

 

ทั้งนี้ ได้แก้ไขรายละเอียดในประเด็นอื่น ๆ เช่น เพิ่มกรรมการประจำหน่วยจาก 5 คนเป็น 7 คน เนื่องจากมีการเพิ่มเขตเลือกตั้ง การแบ่งเขตการเลือกตั้ง นอกจากต้องเป็นเขตติดต่อกันแล้ว ต้องให้ประชากรของทุก ๆ เขตแตกต่างกันไม่เกิน 10% เป็นต้น


ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 


1.การส่งบัญชีรายชื่อให้สามารถส่งได้เลย เมื่อมีผู้สมัคร ส.ส.เขตไปสมัครเพียง 1 เขต ไม่ต้องรอให้มีการรับรองคุณสมบัติผู้สมัคร

 

2.ยกเลิกการเก็บค่าบำรุงพรรค เนื่องจากสร้างปัญหาแก่พรรคการเมืองหลายประการ โดยเฉพาะการเสียค่าบำรุงเป็นรายปี การไม่ชำระค่าบำรุง 2 ปีติดต่อกันทำให้ขาดจากสมาชิก  แต่ถ้าพรรคการเมืองใดเห็นสมควรจะเรียกเก็บก็ให้กำหนดในข้อบังคับพรรค ซึ่งค่าบำรุงพรรคของสมาชิกจากเดิม สมาชิกชั่วคราวต้องจ่ายค่าบำรุงพรรค 100 บาท และสมาชิกถาวร 2,000 บาท พรรคเพื่อไทยเสนอว่าอัตราค่าสมาชิกพรรคให้ไปเขียนไว้ในข้อบังคับพรรคของแต่ละพรรคที่จะเป็นผู้กำหนด

 

3. ยกเลิกการกำหนดคุณสมบัติความเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ให้เป็นเช่นเดียวกันกับคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. เพราะการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ควรเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชน

 

4. กำหนดอำนาจของ กกต. ในการปลดกรรมการบริหารพรรคการเมือง และกำหนดกรณีการครอบงำ ควบคุมพรรคการเมืองโดยบุคคลภายนอกให้รอบคอบรัดกุมมีเหตุมีผลมากขึ้น ไม่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 

5. ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วยการจัดทำนโยบายต้องแสดงที่มาของรายได้ ความคุ้มค่า ความเสี่ยง เพราะไม่มีผลในทางปฏิบัติ เห็นได้จากการเสนอนโยบายของพรรคการเมืองที่ผ่านมา

 

6. การยุบพรรคการเมือง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยยุบพรรคการเมือง ต้องมีความชัดเจน  โดยกำหนดให้การเลิกพรรคการเมือง ยุบพรรคการเมือง มีความเหมาะสมรัดกุมขึ้น ยกเลิกเหตุยุบพรรคการเมืองบางกรณี ไม่ใช้การเลิกหรือการยุบพรรคเป็นประโยชน์หรือเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบที่เป็นอยู่ 

 

7. สำหรับการจัดทำไพรมารี่ ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งคงจะยกเลิกการรับฟังความเห็นจากสมาชิกไม่ได้ เพราะอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ที่ให้รับฟังความเห็นจากสมาชิกอย่างกว้างขวาง แต่พรรคเพื่อไทยเห็นว่าโดยหลักการควรใช้เขตจังหวัดเป็นเขตรับฟัง อาจเป็นสาขา หรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ที่ครอบคลุมเขตจังหวัด และสามารถส่งผู้สมัครได้ทุกเขตทั้งจังหวัด ทั้งนี้ คงจะต้องมีบทเฉพาะกาลเนื่องจากพรรคการเมืองส่วนใหญ่ได้ตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามระบบเดิมไปมากแล้ว และอาจมีปัญหา เช่น จะต้องมีการแบ่งเขตใหม่ อาจทำให้ตัวแทนหรือสมาชิกคลาดเคลื่อน เช่น เหลือสมาชิกไม่ถึง 100 คน หรือเขตใหม่ 50 เขต ไม่ควรตั้งตัวแทนขึ้นมาอีก หากมีการตั้งตัวแทนไว้ในเขตอื่น ๆ แล้ว

 

8. การจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมือง ให้มีตัวแทนพรรคการเมืองทั้งที่มี ส.ส.และไม่มี ส.ส.เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย

 

อัปเดตกฎหมายลูกเลือกตั้ง ก่อนชี้ขาดในเวทีสภาฯ

 

พรรคก้าวไกล 


สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 

-แก้ไขให้บัตรเลือกตั้งที่มาจากนอกราชอาณาจักร ที่จัดส่งหลังจากนับคะแนนไปแล้ว ไม่ถือเป็นบัตรเสีย 

- การจัดการเลือกตั้งต้องรายงานอย่างต่อเนื่องผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้

- ใช้การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระบบ MMM แบบปี 2540

 

ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 

- กองทุนพัฒนาการเมืองควรเป็นแหล่งทุนให้พรรคการเมืองไทยสามารถยืมได้

- การเข้าถึงแหล่งทุนในระบบออนไลน์
 

- การให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองได้ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมีอยู่ในระบบนิเวศน์ของการเมืองไทย

- ยกเลิกโทษการเพิกถอนเลือกตั้งในบทกำหนดโทษ เพราะมีบทลงโทษทางอาญาแล้ว โดยสิทธิในการเลือกตั้งจะต้องเป็นสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี 

 

อัปเดตกฎหมายลูกเลือกตั้ง ก่อนชี้ขาดในเวทีสภาฯ

 

พรรคร่วมรัฐบาล 
 

สาระสำคัญ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 

- การคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ กำหนดให้มีสัดส่วนสัมพันธ์กันโดยตรง 

 

ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรการเมือง 

-การสมัครเป็นสมาชิกพรรค พรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้ปรับลดค่าธรรมเนียมการสมัครจากปีละ 100 บาท เป็นปีละ 20 บาท 

-การทำไพรมารี่โหวต กำหนดให้สมาชิกพรรคทำไพรมารี่โหวตโดยลงคะแนน พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าเป็นกระบวนการที่เกินกว่าหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงเสนอให้รับฟังความเห็นสมาชิกผ่านตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือตัวแทนสาขา

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากร่างกฎหมายลูกเลือกตั้งทุกฉบับที่เสนอต่อประธานสภาฯ นั้น ในส่วนของ ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มีเนื้อหาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเน้นการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ และมีเขตเลือกตั้งแบบส.ส. 400 เขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เน้นเป็นแบบกำหนดให้มีสัดส่วนสัมพันธ์กันโดยตรง เหมือนการคำนวณส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เมื่อครั้งประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ส่วนที่แตกต่างคือพรรคเพื่อไทยเสนอให้ใช้เบอร์เดียวกันในการเลือกตั้ง

 

ส่วน ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง นั้น มีความแตกต่างกันในรายละเอียดของการ ทำไพรมารี่โหวต โดย พรรคเพื่อไทย เสนอหลักการส่งเสริมระบบ ไพรมารีโหวต แต่เปลี่ยนวิธีการจากการมีตัวแทนหรือสาขาพรรคการเมืองประจำจังหวัดทุกเขตเลือกตั้ง มาเป็นมีเพียงสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพียง 1 เขตก็สามารถส่งผู้สมัคร ส.ส.ได้ทุกเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้น ขณะที่ พรรคร่วมรัฐบาล เห็นว่าการกำหนดให้สมาชิกพรรคทำ ไพรมารี่โหวต โดยลงคะแนน เป็นกระบวนการที่เกินกว่าหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงเสนอให้รับฟังความเห็นสมาชิกผ่านตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือตัวแทนสาขา 

 

สำหรับประเด็นของ ค่าสมัครสมาชิกพรรค นั้น มีข้อเสนอที่แตกต่างกันไป โดยพรรคเพื่อไทยเสนอว่า อัตราค่าสมาชิกพรรคให้ไปเขียนไว้ในข้อบังคับพรรคของแต่ละพรรคเป็นผู้กำหนด จากเดิมค่าบำรุงพรรค สมาชิกชั่วคราวต้องจ่ายค่าบำรุงพรรค 100 บาท และสมาชิกถาวร 2,000 บาท ขณะที่ พรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้ปรับลดค่าธรรมเนียมการสมัครจากปีละ 100 บาท เป็นปีละ 20 บาท 

 

นอกจากนี้ ในส่วนของ พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล ยังมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง การยุบพรรคการเมือง โดยเห็นว่าการยุบพรรคการเมือง โดย ศาลรัฐธรรมนูญ นั้น ควรจะต้องมีความชัดเจน ไม่ใช่ยุบพรรคให้เป็นประโยชน์หรือเป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือไม่ควรมีการยุบพรรคการเมืองอีกต่อไป รวมถึงการเสนอให้ยกเลิกโทษการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพราะสิทธิในการเลือกตั้ง ต้องเป็นสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี และประเด็นสุดท้าย พรรคเพื่อไทยเห็นว่า ควรกำหนดอำนาจของ กกต. ในการปลดกรรมการบริหารพรรคการเมือง และ กำหนดกรณีการครอบงำ ควบคุมพรรคการเมืองโดยบุคคลภายนอกให้รอบคอบรัดกุมมีเหตุมีผลมากขึ้น ไม่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ร่างกฎหมายลูกของ กกต.และของพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้เสนอในประเด็นเหล่านี้