คอลัมนิสต์

ศึกนี้แพ้ไม่ได้"เลือกตั้งซ่อมหลักสี่"กทม. ชี้วัดสถานการณ์คุมเมืองหลวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เเพ้ไม่ได้ ....คือนิยามการเมืองของผู้สมัครเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ กทม. เพราะการเลือกตั้งซ่อมหนนี้จะเป็นปัจจัยชี้วัดว่าพรรคใดจะคุมเมืองหลวง เเละใครคือคู่ประชันอย่างเป็นทางการ กันเเน่ที่จะมีโอกาสปักธงในพื้นที่นี้ ติดตามในเจาะประเด็นร้อน โดย เมฆาในวายุ

 

การรับสมัครเลือกตั้งซ่อมส.ส.กทม. เขต 9 (หลักสี่ -จตุจักร)แทน"สิระ  เจนจาคะ "อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคพลังประชารัฐในเขตนี้ โดยจะมีขึ้นในวันที่30ม.ค.นั้น ตอนนี้ทราบกันแล้วในชั้นต้นว่า เจ็ดพรรคส่งเจ็ดชีวิตลงประชัน โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 170,764 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2564) จะเป็นคนชี้ชะตาว่าใคร-พรรคใดควรจะไปทำหน้าที่ส.ส.ในห้วงเวลาหนึ่งปีเศษ

 

บรรยากาศกองเชียร์  "สรัลรัศมิ์  เจนจาคะ" ผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ กทม. พรรคพลังประชารัฐ

 

สนามนี้นั้น แกนนำบางพรรคมองว่าเป็นจุดตัดวัดกระแสนิยมสองสนามคือ"เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.และเลือกตั้งส.ส.คราวหน้า (พื้นที่กทม.)" โดยจะเป็นการหยั่งกระแสเบื้องต้นที่จะถอดรหัสการเมืองวันหน้าได้คร่าวๆว่า ชาวบ้านจะไว้วางใจพรรครัฐบาล/พรรคฝ่ายค้าน/พรรคหน้าใหม่กันแน่

 

เพราะสนามกทม.ตอนนี้มีสามสิบส.ส.และงวดหน้าน่าจะเพิ่มเป็น 33 คน( ตามการคาดการณ์ขั้นต้น ) และเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางการเมืองสูงที่นำผลคะแนนมาตรวจสอบ-ถอดรหัสทางการเมืองได้ในระดับหนึ่ง และเป็นการวางแผนสำหรับการเมืองสนามใหญ่ในวันข้างหน้า  และบางคนมองว่าสนามเมืองหลวงนั้นเป็นจุดตัดในการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ด้วย(แม้ว่าบางครั้งผลเลือกตั้งจะบอกว่า ชาวกทม.จะเลือกส.ส.ฝ่ายค้านมากกว่าฝ่ายรัฐบาล แต่บางครั้งสัดส่วนส.ส.พรรคฝ่ายค้าน/รัฐบาลก็ใกล้เคียงกัน)

 

ศึกนี้แพ้ไม่ได้"เลือกตั้งซ่อมหลักสี่"กทม. ชี้วัดสถานการณ์คุมเมืองหลวง

 

ย้อนไปชมผลการเลือกตั้ง 22มี.ค.2562 นั้น สามอันดับแรกพบว่า 1. สิระ เจนจาคะ (พปชร.) คว้าไป 33,175คะแนน 2.สุรชาติ เทียนทอง (พท.) เก็บได้ 30,422 คะแนน3. กฤษณุชา สรรเจริญ (อนค.)  ได้ 23,527 คะแนน      

 

แปลว่า"กว่าสามพันแต้ม"ที่ส่งผลชนะ-แพ้ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว คือหนึ่งในปัจจัยชี้ผล  และคราวนี้ในขั้นต้นนั้นคะแนนชี้ขาดน่าจะมากกว่าสามพันแต้ม แต่ในตอนนี้มีเจ็ดพรรคหวังที่จะมีคะแนนติดตัว รวมทั้งหวังที่จะปักธงหนึ่งส.ส.ให้จงได้

 

หากจะวัดกันจริงๆแล้ว สนามนี้น่าจะประชันกันอย่างเป็นทางการเพียงสองพรรคเท่านั้นคือ "พรรคพลังประชารัฐ"ที่ส่ง"สรัลรัศมิ์  เจนจาคะ" (ลงแข่งแทนสิระ)ไปชนกับ "สุรชาติ เทียนทอง" แห่งพรรคเพื่อไทย(อดีตส.ส.เขตนี้หนึ่งสมัย)

 

บรรยากาศกองเชียร์ สุรชาติ เทียนทอง ผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ กทม.พรรคเพื่อไทย

 

ส่วนพรรคอื่นๆนั้น แม้บางคนจะมีดีกรีติดตัว เช่น "อรรถวิชญ์ สุวรรณภักดี" จากพรรคกล้า เคยเป็นส.ส.เมืองหลวงมาแล้วสองสมัย

 

พรรคก้าวไกลส่ง "กรุณพล   เทียนสุวรรณ" นักแสดงที่มีมุมมองการเมืองตรงข้ามรัฐบาล

 

พรรคไทยภักดีที่ตอนนี้หลายคนเริ่มจับตาก็ส่ง "พันธุ์เทพ  ฉัตรนะรัชต์" แต่เอาจริงๆแล้ว บางพรรคน่าจะหวังหยั่งเชิง วัดกระแสมากกว่าที่จะปักธง  

 

เพราะแกนนำพรรคเหล่านั้นน่าจะรู้ยุทธศาสตร์ จับจุดอ่อน-จุดแข็งกระแสการเมืองดีว่า พรรคของตนนั้นมีจุดยืน สะสมแต้มทางการเมืองไว้อย่างไร  และบางพรรคที่มีบทบาทการเมืองในตอนนี้รวมทั้งพรรคเกิดใหม่บางพรรคที่ไม่ส่งผู้สมัครในพื้นที่นี้น่าจะมีคำตอบในใจว่าทำไมยอมเลี่ยงไม่ส่งคนลงแข่งขันในพื้นที่นี้

 

ศึกนี้แพ้ไม่ได้"เลือกตั้งซ่อมหลักสี่"กทม. ชี้วัดสถานการณ์คุมเมืองหลวง
แปลว่าสงครามหาแต้มคราวนี้คือ"ศึกป้องกันตำแหน่ง" เพราะสิระส่งคู่ชีวิตลงป้องกันเก้าอี้ และยังเป็นหนึ่งเดียวจากพรรครัฐบาล(พรรคร่วมรัฐบาล เช่นประชาธิปัตย์/ภูมิใจไทยไม่ส่งผู้สมัคร )  ส่วนสุรชาตินั้นหวังทวงบัลลังก์คืนหลังพ่ายสิระในงวดที่แล้ว(แต่ต้องตัดแต้มกับพรรคร่วมฝ่ายค้านคือพรรคก้าวไกล/ไทยศรีวิไลย์)

 

ในเมื่อ"เจ๊หลี"แข่งขันกับ"อ๊อบ ลูกชายนักเลงวังน้ำเย็น"   ดังนั้นคำว่า"แพ้ไม่ได้...."จึงบังเกิดขึ้นกับสองชีวิตและสองพรรคต้นสังกัดในข้างต้น


เวลาที่เหลืออยู่ก่อนเปิดคูหาหย่อนบัตร ติดตามว่าการหาแต้มของผู้สมัครแต่ละรายจะมีสีสันอย่างไร  เพื่อรอลุ้นว่าชาวกรุงเขต 9 จะชี้ชะตาให้ใครสมหวัง-ผิดหวัง...


และรอคะแนนจากเขตนี้เพื่อประเมินการเมืองขั้นต้นในสนามผู้ว่าฯกทม.-สนามส.ส.งวดหน้าไปด้วยว่า   พรรคใดจะเป็นว่าที่พรรครัฐบาล - พรรคฝ่ายค้าน
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ