ศึกชุมพรกลายเป็นสงครามเงา “ธรรมนัส” กับชุมพล จุลใส ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ดูเหมือนจะเกี้ยเซี้ยกันได้ แต่ปมขัดแย้งภายในเครือข่าย 3 ป. ก่อให้เกิดความหวาดระแวง
มากกว่าเลือกตั้งซ่อม เกม “ธรรมนัส” ปะทะลูกหมีที่ชุมพร อาจโยงสนามหลักสี่ การทดสอบกำลังของฝ่ายหนุนลุงตู่กับหนุนลุงป้อม
“ธรรมนัส” คงเห็นสัญญาณบางอย่าง อดีตแกนนำ กปปส.เมืองหลวงที่สนิทกับชุมพล จุลใส เริ่มขยับจัดตั้งพรรคใหม่ จึงไม่ไว้ใจตระกูลจุลใส แห่งเมืองชุมพร
วันที่ 1 ม.ค.2564 เปิดศักราชใหม่ ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ก็จุดพลุประเด็นทหาร 100 กว่าคน เข้าพื้นที่เขต 1 ชุมพร พร้อมร้องเรียนให้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ตรวจสอบโดยเร็ว
ที่น่าสนใจ มีการเปิดชื่อตัวละครนายทหารคนหนึ่งอักษรย่อ ต.เต่า เป็นผู้นำกำลังทหารเข้าพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้ พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ออกมาชี้แจงว่า ตรวจสอบในพื้นที่แล้วไม่มีอะไร ตนสั่งเด็ดขาด ห้ามทหารเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมือง ให้วางตัวเป็นกลางทางการเมือง
การที่โฆษก ปชป.เอ่ยชื่อ เสธ.ต. ขึ้นมานั้น ย่อมทำให้สปอตไลต์การเมืองสาดจับไปที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแวดวงยุทธจักรการเมืองต่างรู้มือรู้ไม้กันดี
แม้ “ธรรมนัส” จะไม่ใช่ผู้อำนวยการเลือกตั้งซ่อมชุมพร เขต 1 (อ.เมือง และอำเภอสวี) แต่ก่อนหน้านั้น ผู้กองเมืองพะเยาได้ลงมาวางเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นทั่วภาคใต้ ตั้งแต่ อบจ.ยัน อบต. โดยมีเพื่อนเตรียมทหารรุ่นเดียวกันคอยช่วยเหลือ
ดังนั้น ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า จึงเปรียบเสมือนแม่ทัพหลังม่าน คอยเดินเกมสนับสนุน สันติ พร้อมพัฒน์ ผอ.เลือกตั้งซ่อมชุมพร อย่างเป็นทางการ
‘ผู้กองเปลี่ยนเกม’
ดังที่รู้กัน สนามเลือกตั้งซ่อมชุมพร “ธรรมนัส” ตัดสินใจพลิกเกมพาชวลิต อาจหาญ ผู้สมัคร ส.ส.ชุมพร เขต 1 และศิริศักดิ์ อ่อนละมัย อดีต ส.ส.ชุมพร 6 สมัย พรรค ปชป. เข้าพบ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่บ้านป่ารอยต่อฯ เพราะได้กลิ่นข่าวไม่สู้ดีว่า ลูกหมี ชุมพล จุลใส สมัยหน้าจะอยู่กับ ปชป.
คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ จะพลิกมติส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 ชุมพร สำทับคำประกาศของ พล.อ.ประวิตรว่า สนามนี้แพ้ไม่ได้ แถมยังฝากเพื่อนรุ่นเดียวที่เป็น ส.ว.ไปคุยโวในสภาฯว่า ทนายแดงชนะแน่
สาเหตุที่ทำให้ “ธรรมนัส” เปลี่ยนแผน คงสืบเนื่องมาจาก สกลธี ภัททิยกุล และ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เดินทางไปพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาล ตามมาด้วยถ้อยแถลงของสกลธี ที่จะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. และเตรียมเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่
มิหนำซ้ำ อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า กระโจนลงสนามเลือกตั้งซ่อม กทม.เขต 9 โดยสกลธี ยอมรับว่า ทีมงานของเขาในเขตหลักสี่ จะถอนตัวจากทีมสิระ เจนจาคะ มาช่วยอรรถวิชช์
บังเอิญว่า ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร เป็น 1 ใน 4 ทหารเสือ กปปส.ร่วมกับสกลธี ภัททิยกุล, ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จึงทำให้ฝ่ายลุงป้อมเกิดความระแวงแคลงใจ
ถึง “ธรรมนัส” จะหอบหิ้วลุงป้อมไปชุมพร 2 รอบ เที่ยวแรกไปเจอลูกหมี เที่ยวหลังไปเจอลูกช้าง ก็ยังไม่มีความมั่นใจว่า ตระกูลจุลใส จะยกทัพมาร่วมงานพลังประชารัฐ
‘ศิษย์เก่า กปปส.’
ปีที่แล้ว “ธรรมนัส” ตกเป็นจำเลยศึกกบฏพลังประชารัฐ กลุ่ม 6 รัฐมนตรี พยายามดึง ส.ส.กทม.บางคน มาเป็นฐานกำลัง เนื่องจากเดิมที สนามเมืองหลวง อยู่ในการดูแลของ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
หลังอดีตแกนนำ กปปส. ติดบ่วงคดีเก่า ต้องหลุด ส.ส. ฝ่าย ร.อ.ธรรมนัส จึงสยายปีกเข้ามาดูแล ส.ส.กทม. และพยายามดึงคนเด่นดังมาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค แต่ก็ยังไม่ได้ตามสเปค
สกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าฯ กทม. และ 1 ใน 4 ทหาร กปปส. เป็นคนเดียวที่ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้องในคดีกบฏ 112 ส่วนคนอื่น ต่างได้รับโทษแตกต่างกันคือ ชุมพล จุลใส จำคุก 9 ปี 24 เดือน พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำคุก 7 ปี และณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำคุก 6 ปี 16 เดือน
ด้วยเหตุนี้ สกลธีจึงเป็นคนเดียวที่เคลื่อนไหวทางการเมืองได้เต็มที่ และผลการเลือกตั้งสนามหลักสี่ จะเป็นบททดสอบฐานเสียงตัวเขาเอง ก่อนจะลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.ต่อไป
เช่นเดียวกับชุมพล จุลใส การรักษาที่มั่นเขต 1 ชุมพรไว้ได้ ก็หมายถึงชัยชนะของตระกูลจุลใส บวกกับเขต 3 สุพล จุลใส พรรครวมพลังประชาชาติไทย รวมเป็น 2 ที่นั่ง
ฉะนั้น การขยับตัวแรงของโฆษก ปชป. ก็เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ตีจุดแข็งของผู้กองคนพะเยา ทำให้การเลือกตั้งซ่อมมาอยู่ในสังเวียนเปิดโล่ง ไม่มีเกมใต้ดิน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง