คอลัมนิสต์

เจาะสนาม "เลือกตั้งซ่อมหลักสี่" ใครเข้าวิน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เลือกตั้งซ่อม กทม.หลักสี่-จตุจักร" สุดสูสีจริง ๆ เมื่อเห็นชื่อหน้าตาว่าที่ผู้สมัครฯ ที่เปิดตัวออกมา เลือกตั้งซ่อมครั้งนี้เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีแพ้ไม่ได้ เพราะเป็นการซ้อมใหญ่วัดคะแนนนิยมคนกรุงต่อพรรคการเมือง ก่อนเลือกตั้งทั่วไปและเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ที่จะมาถึง

พระราชกฤษฎีกาให้มีการ "เลือกตั้งซ่อม" กทม.เขตเลือกตั้งที่ 9 ประกอบด้วย เขตหลักสี่ และเขตจตุจักรเฉพาะแขวงลาดยาว เสนานิคม จันทรเกษม (ยกเว้นแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล)ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่  30 ธ.ค.ที่ผ่านมา

 

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกประกาศ กกต. กำหนดวันเลือกตั้ง และวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 9 กทม.แทนตำแหน่งที่ว่างลง โดยกำหนดวันและเวลาในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งคือวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2565 เวลา 08.00-17.00 น.วันรับสมัครรับเลือกตั้งวันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม -วันจันทร์ที่ 10 มกราคม 2565 เวลา 08.30-16.30 น.โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ  ณ  สำนักงานเขตหลักสี่

 

ต่อจากนี้ก็จะได้เห็นบรรยากาศของการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเมืองหลวงซึ่งห่างหายไปตั้งแต่ปี 2562 ที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป

 

ตอนนี้ที่เปิดตัวไปแล้วมี 5 คน ที่จะลงสมัครรับ "เลือกตั้งซ่อม" ในครั้งนี้ 

เจาะสนาม "เลือกตั้งซ่อมหลักสี่" ใครเข้าวิน

                                                                สุรชาติ เทียนทอง

- สุรชาติ เทียนทอง  จากพรรคเพื่อไทย  ที่ยกให้เป็นเต็งหนึ่ง  


สุรชาติ ชื่อเล่นว่า อ๊อบ  อดีต ส.ส. กทม.เขตเลือกตั้งที่ 11  ซึ่งประกอบด้วยเขตหลักสี่และเขตดอนเมือง(เฉพาะแขวงสนามบิน )จากพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งเมื่อปี 2554 เขาได้คะแนนเสียง 28,376  คะแนน คว้าเก้าอี้ ส.ส. ชนะคู่แข่งคนสำคัญ สกลธี ภัททิยกุล  จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ 25,704 คะแนน 


แต่ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2562 ครั้งล่าสุด สุรชาติ ลงสมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้งที่ 9 ประกอบด้วยเขตหลักสี่ และเขตจตุจักร (ยกเว้นแขวงจตุจักร และแขวงจอมพล) ในสังกัดพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ได้ 32,115 คะแนน  แพ้ให้กับ สิระ เจนจาคะ จากพรรคพลังประชารัฐที่ได้ 34,907 คะแนน เพียง  2,792 คะแนน

 

 

 

 

 

 

เพราะตอนนั้นนายสิระ ได้อานิสงส์จากกระแสลุ่งตู่มาแรง กับสโลแกน เลือกความสงบ จบที่ลุงตู่ และได้คะแนนจาก กปปส.ที่เทให้เนื่องจากเขาเป็นแนวร่วมกปปส. สมัยที่ กปปส.ชุมนุม สิระ อนุญาตให้ กปปส.ใช้ บ้านทรงไทยของเขาซึ่งอยู่ตรงข้ามศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เป็นที่พัก

 

อีกทั้งมีพรรคการเมืองฟากเดียวกันอย่างผู้สมัครจากพรรคอนาคตใหม่ ไปตัดคะแนนนายสุรชาติ 

 

แต่ "เลือกตั้งซ่อม" ครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงพรรคพลังประชารัฐและพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในช่วงขาลง  ขณะที่กระแสพรรคเพื่อไทย โทนี่ วู้ดซัม  อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร อยู่ในช่วงขาขึ้น

 

สำหรับกลยุทธ์หาเสียงของพรรคเพื่อไทยในการ "เลือกตั้งซ่อม"ครั้งนี้ เน้นการพบปะประชาชนในพื้นที่แบบเคาะประตูทุกบ้าน เนื่องจากการ "เลือกตั้งซ่อม" ไม่เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป 

 

และเนื่องจากพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน การหาเสียงครั้งนี้จะชูประเด็นตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในสภา เสนอการทำงานของฝ่ายค้าน เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน และพรรคเพื่อไทยเชื่อว่าเวลา"เลือกตั้งซ่อม"คนมักจะเลือกพรคฝ่ายค้านเพื่อไปตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

 

อีกทั้งนายสุรชาติก็ไม่เคยทิ้งพื้นที่ อยู่กับพื้นที่มาตลอด แม้ว่าเลือกตั้งครั้งนี้ทางพรรคฝ่ายค้านด้วยกัน คือพรรคก้าวไกล  ส่งคนลงแข่งและคงตัดคะแนนนายสุรชาติ ไปบ้างบางส่วน เนื่องจากมีฐานเสียงเดียวกันจากคนที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลประยุทธ์  แต่โดยภาพรวมนายสุรชาติ ยังถือว่าเหนือกว่า ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่น  

เจาะสนาม "เลือกตั้งซ่อมหลักสี่" ใครเข้าวิน

                                                                 สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ

คนต่อมา สรัลรัศมิ์ เจนจาคะหรือเตชะจิรสิน ประธานกรรมการ หจก.ไทยสงวนอีควิปเมนต์ ผู้นำเข้าเครื่องยนต์มือสอง อะไหล่รถยนต์รายใหญ่ จึงมีฉายาว่า เจ๊หลี เซียงกง 


หรือในอีกบทบาทหนึ่งเธอเป็นประธาน กต.ตร.สน.ทุ่งสองห้อง และประธานอนุ กต.ตร. บก.น. 2 จึงออกงานช่วยเหลือสังคมในนาม มาดามหลี

 

เป็นภรรยาของนายสิระ เจนจาคะ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชารัฐในเขตนี้ที่เพิ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจาก ส.ส.เนื่องจากเคยถูกศาลพิพากษาจำคุกคดีฉ้อโกงเมื่อปี 2538 จนนำมาซึ่งการ"เลือกตั้งซ่อม"ครั้งนี้ 

 

การ "เลือกตั้งซ่อม" ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ สรัลรัศมิ์ ที่จะรักษาพื้นที่เดิมของสามีไว้ได้ แม้ว่าเธอดูมั่นอกมั่นใจกับสิ่งที่เธอและสามีเคยทำให้กับพื้นที่ 

 

เพราะว่าหากดูจากคะแนนที่ สิระ ชนะ  สุรชาติ เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่แล้วปี 2562  ก็เพียง 2 พันกว่าคะแนนเท่านั้น ทั้งที่ปัจจัยหลายอย่างเกื้อหนุนให้กับนายสิระ ไม่ว่ากระแสนิยม ลุงตู่ , จากสกลธี ภัททิยกุล ช่วงเลือกตั้งสมัยที่แล้วได้ยกทีมงานมาช่วย สิระ ซึ่งสกลธีมีคะแนนเสียงเดิมในเขตหลักสี่ 25,704 คะแนน เมื่อครั้งสกลธี ลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อปี 2554 แต่เลือกตั้งครั้งนี้สกลธี คงหันไปเทคะแนนให้กับเพื่อนรัก อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ที่ลงสมัครในนามพรรคกล้าแทน 

 

และหากยังจำกันได้เมื่อครั้งที่ นายสิระ เป็นประธาน กมธ.การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร  ได้กระทบกระทั่งอย่างหนักกับ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ แกนนำ กปปส. ที่สร้างโรงพยาบาลสนามช่วงโควิดระบาด โดยนายสิระ จะขอเข้าไปตรวจสอบ ดังนั้นคะแนนของ กปปส.ที่เคยหนุนนายสิระก็จะหายไป อีกทั้งพรรคไทยภักดีของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส่งคนลงแข่งเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ด้วย คะแนนของ กปปส. ก็จะหันไปเทให้ทางผู้สมัครของพรรรคไทยภักดี แทน เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อ สรัลรัศมิ์ ทั้งสิ้น


อีกทั้งนายสิระ ก็มีแผลจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งชี้ให้พ้นจาก ส.ส. อันเนื่องจากเคยถูกศาลพิพากษาจำคุกคดีฉ้อโกงซึ่งไม่เป็นผลดีต่อ สรัลรัศมิ์  ซึ่งเป็นตัวแทนนายสิระในการลงสมัครแข่งขันเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้

 

และหากมองไปที่คะแนนนิยมเฉพาะตัวนายสิระ ก็ไม่มากการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อปี 2554 เขต 11 หลักสี่ ดอนเมือง (แขวงสนามบิน) ในนามพรรครักษ์สันติของ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์  สิระ สอบตก ตอนนั้นเขาได้รับคะแนนมาเพียง 2,437 คะแนนเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้ สรัลรัศมิ์  มีคนของพรรคพลังประชารัฐคอยหนุนช่วย และการที่พรรคพลังประชารัฐตั้งชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ซึ่งมีความสนิทกับ กปปส. เป็นผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ก็พอดึงคะแนน กปปส. ส่วนหนึ่งไว้ได้บ้าง รวมทั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คอยช่วยอีกแรง

 

อีกทั้ง "การเลือกตั้งซ่อม" ใน กทม.ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการวัดคะแนนนิยมของคนกรุงต่อพรรคการเมืองโดยเฉพาะต่อพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐก่อนที่การเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นดังนั้นพรรคพลังประชารัฐคงไม่ยอมเสียเก้าอี้ ส.ส. ในเขตนี้ไปง่าย ๆ โดยพยายามทำทุกวิถีทาง สรัลรัศมิ์  จึงถือว่ายังเป็นเต็งสอง    

เจาะสนาม "เลือกตั้งซ่อมหลักสี่" ใครเข้าวิน

                                                               เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ

ส่วนอีกคน  เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ จากพรรคก้าวไกล  นักแสดง คนในวงการบันเทิงที่กระโดดเข้าสู่สนามการเมือง แม้จะเป็นหน้าใหม่ แต่ก็ประมาทไม่ได้ 

 

ก่อนที่เขาจะเบนเข็มเดินเข้าสู่เส้นทางการเมือง ในปี 2563 เขาประกาศจุดยืนสนับสนุนผู้ชุมนุมประท้วง เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเรียกร้องรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 19 กันยายน 63 เขาได้ขึ้นปราศรัยบนเวทีทำให้ถูกคนในวงการบันเทิงบางกลุ่มแบน 

 

เพชร-กรุณพล  น่าจะได้คะแนนเสียงไม่น้อยจากคนรุ่นใหม่ คนไม่เอารัฐบาล และกลุ่มม็อบต่าง ๆ รวมทั้งผู้สนับสนุนม็อบที่เคยชุมนุมต้านรัฐบาล และคะแนนเสียงจากคนกรุงที่นิยมพรรคก้าวไกล อีกทั้งเขาก็เป็นคนในพื้นที่คนหนึ่ง อยู่ลาดยาว เขตจตุจักร ตั้งแต่อายุ 17 ปี จบ ม.เกษตรฯ ทำสปา และร้านอาหารอยู่แถวลาดยาวมาจนถึงปัจจุบัน รวมกว่า 20 ปีในพื้นที่ ก็คงเป็นจุดขายเรียกคะแนนจากคนในพื้นที่ได้บ้าง  จึงยกให้เขาเป็นเต็งสาม 

เจาะสนาม "เลือกตั้งซ่อมหลักสี่" ใครเข้าวิน

                                                           อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี

 

-อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคกล้า  คนนี้ยกให้เป็นเต็งสี่ 

 ปี 2551 อรรถวิชช์ สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต 4 คือ เขตจตุจักร บางซื่อ หลักสี่ ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์โดยร่วมทีมกับนายบุญยอด สุขถิ่นไทยและนายสกลธี ภัททิยกุล สามารถชนะเลือกตั้งแบบยกทีม

 

ปี 2554 เขาได้รับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขต 9 จตุจักร

 

แต่การเลือกตั้งปี 2562 ลงสมัคร ส.ส.กทม.เขต 6 (ราชเทวี ,พญาไท และจตุจักร(เฉพาะแขวงจตุจักร และแขวงจอมพล)สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่า สอบตก

 

ต้นปี 63 อรรถวิชช์ ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไปร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ซึ่งก็คือพรรคกล้า กับกรณ์ จาติกวณิช

 

เหตุใด อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรคกล้า กระโจนลงสนามเลือกตั้งซ่อมเขต 9 น่าจะมีอยู่ 2 ปัจจัยคือ รู้ข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งผู้สมัครฯและมีเพื่อนรัก คือ สกลธี ภัททิยกุล คอยหนุน 


เขตหลักสี่ เป็นพื้นที่ที่อรรถวิชช์ คุ้นเคย เขาบอกว่าเขารู้จักทุกตรอกซอกซอย  


เลือกตั้งครั้งนี้ อรรถวิชช์ มีความพร้อมพอสมควร ซึ่งเขาจะได้คะแนนเสียงจากคนพรรคประชาธิปัตย์ คะแนนเสียงที่ ผู้การแต้ม พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้จากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วในเขตนี้เลือกตั้งนี้จำนวน 16,255 คะแนน จะไหลไปที่ อรรถวิชช์ แทน  นอกจากนี้ก็จะได้คะแนนเสียงจากสกลธี และจาก กปปส. บางส่วน  

เจาะสนาม "เลือกตั้งซ่อมหลักสี่" ใครเข้าวิน

                                                            พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์

ส่วนคนสุดท้าย  พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์  จากพรรคไทยภักดี  


พันธุ์เทพ  เป็นนักธุรกิจหนุ่มไฟแรง เคยดำรงตำแหน่งซีอีโอบริษัทหลายบริษัท ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ 

 

แต่พรรคไทยภักดี ยังใหม่สำหรับสนามเลือกตั้ง เพิ่งส่งผู้สมัครครั้งแรก  จึงเป็นการชิมลางเสียมากกว่า คะแนนของพันธุ์เทพ คงได้จาก กปปส. เป็นด้านหลัก เนื่องจาก นพ.วรงค์ หัวหน้าพรรคฯ มีความสนิทสนมกับแกนนำ กปปส. หลายคน   


 

 

logoline