คอลัมนิสต์

เปิด "สายสัมพันธ์" ปม พิจิตต หนุน ชัชชาติ สู้ศึกเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดที่มา "สายสัมสัมพันธ์" ดร.โจ พิจิตต รัตตกุล ช่วย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หาเสียงสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และหวังผลได้แค่ไหน สุดท้ายขึ้นอยู่กับใครเป็นคนชี้ขาดแพ้-ชนะ

ย้อนไปเมื่อ 19 ธ.ค. 64  ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามอิสระ ลงพื้นที่บางขุนเทียน เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

 

ในวันเดียวกัน  ดร.ชัชชาติ ได้สร้างเซอร์ไพรส์ เรียกเสียงฮือฮา จากการเปิดตัว ดร.พิจิตต รัตตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม.(ซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในปี 2539 ในชื่อกลุ่มมดงานและได้รับชัยชนะ ) ที่ลงพื้นที่ด้วยกันในวันนั้นมาร่วมเสริมทัพสู้ศึกเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คนมองว่า ทำให้ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่า กทม. รายอื่น เหนื่อยขึ้นไปอีก เพราะขณะนี้คะแนนนิยมจากโพล  ดร.ชัชชาติ ก็นำอยู่แล้ว  

 

ไม่เพียงแค่นั้นในวันนั้น ชัชชาติ ยังได้พกเอานายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ อดีตผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร New Dem หรือ กลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ บุตรชาย นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ มาเป็นหนึ่งในทีมงานช่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย 

 

จนมีคนตีความว่า เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการหาเสียงของ ชัชชาติ โชว์ภาพคน 3 เจนเนอเรชั่น  รุ่นใหญ่สุด ดร.พิจิตต รุ่นกลาง ดร.ชัชชาติ  และรุ่นเล็ก พรพรหม   ประสานงานกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อขับเคลื่อนงาน กทม.


แต่ก็มีหลายคนมองต่างว่า การดึงเอา ดร.พิจิตต และนายพรพรหม ซึ่งอดีตเป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์มาร่วมงาน เพราะ ดร. ชัชชาติ พยายามทำให้เห็นว่า เขาเข้าได้กับทุกคน ทุกฝ่าย เพื่อสลัดภาพติดตัวเขาที่ว่าเป็นคนของพรรคเพื่อไทย ซึ่งที่ผ่านมาคน กทม. ไม่ขานรับพรรคการเมืองนี้สักเท่าไหร่ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
 

เปิด "สายสัมพันธ์" ปม พิจิตต หนุน ชัชชาติ สู้ศึกเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.

                       ชัชชาติ เปิดตัว  ดร.พิจิตต วันที่ลงพื้นที่บางขุนเทียน

 

และมีประเด็นที่คนสนใจกันมากก็คือ ทำไมจู่ ๆ ดร.โจ พิจิตต รัตตกุล  ซึ่งเคยเป็นถึงระดับ ผู้ว่าฯ กทม. จึงโผล่มาช่วยงานหาเสียงให้กับ ดร. ชัชชาติ ได้ มีที่มาที่ไปอย่างไร มี "สายสัมพันธ์" ลึกซึ้งกันแค่ไหน เพราะดูจากอายุของคนทั้งสองก็ห่างไกลกันถึง 20 ปี ดร.ชัชชาติ อายุ 55 ปี ส่วน ดร.พิจิตต อายุ 75 ปี คนละรุ่นกันเลย 


เรื่องนี้ฟังจากปากของ ดร.พิจิตต ที่ให้สัมภาษณ์รายการหนึ่งทางทีวี ก็จะพบว่ามี 2 สาเหตุหลัก 


1.ครอบครัวคนทั้งสองมีความสนิทกัน รู้จักกันมานาน 40-50 ปี ปู่และย่า ดร.พิจิตต ถือเอา พ่อแม่ของ ดร.ชัชชาติ เหมือนกับลูกหลาน


2. ทั้งสองคนเคยทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ ปี 2554  โดยขณะนั้น ดร.ชัชชาติ เป็นผู้ช่วยอธิการบดี  จุฬาฯ  ส่วน ดร.พิจิตต เป็นผู้อำนวยการบริหารแห่งมูลนิธิศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ซึ่งตอนนั้นมูลนิธิฯมีแนวคิดจะย้ายมาอยู่ที่จุฬาฯ จึงมีปัญหาหารือกัน จากนั้นทั้งสองคนก็ติดต่อกันมาโดยตลอด และในปี 2554  ก็ร่วมกันทำงานในเรื่องของ Big Bag  ป้องกันน้ำท่วม


จากการทำงานร่วมกันมา ดร.พิจิตต จึงคุ้นเคยกับวิธีคิด วิธีทำงานของ ดร. ชัชชาติ  ที่เร็ว ตัดสินใจได้แม่นยำ ให้เกียรติกับคนอื่นในการรับฟังความคิดเห็น แนวคิดต่าง ๆ ก็ตรงกัน  ดร.พิจิตต จึงได้อาสาสมัครเข้ามาช่วยหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ให้กับ ดร.ชัชชาติ แต่เป็นแค่อาสาสมัครช่วยงาน และถ้า ดร.ชัชชาติ ชนะเลือกตั้ง  ดร.พิจิตต ก็ไม่มีตำแหน่งอะไรทั้งสิ้น เหมือนกับสมัยก่อนที่มีการเปิดให้มีอาสาสมัครช่วยหาเสียงจากคนทุกวัย 
 

โดย ดร. พิจิตต มีเงื่อนไขเดียวกับ ดร.ชัชชาติ ในการมาช่วยงานครั้งนี้ว่า ขอให้มีความอิสระจริง ไม่กลับไปทำงานให้กับพรรคการเมืองอีกเพราะถ้ามีความอิสระ ไม่ผูกพันโยงใยกับพรรคการเมือง ก็จะทำงานบรรลุเป้าหมายได้รวดเร็ว ซึ่งคนกรุงเทพจะได้ประโยชน์มาก  

 

อย่างไรก็ตามการที่ ดร.พิจิตต มาช่วยงาน ดร.ชัชชาติ ไม่ใช่ว่าจะมีผลดีเสมอไป เพราะเพียงแค่ ดร.ชัชชาติ  เปิดตัว ดร.พิจิตต  ก็มีการขุดคุ้ยเรื่องเก่าของ ดร. พิจิตต คือ คดี กทม.จัดซื้อที่ดินตาบอดบริเวณบางซื่อเพื่อทำเป็นที่จอดรถทิ้งขยะอันอื้อฉาวซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 มาเล่นงานเพื่อด้อยค่า ดร.ชัชชาติ ทันที ทั้งที่เป็นคดีเก่าจบไปนานแล้ว และศาลฎีกา ยกฟ้อง ดร.พิจิตต ซึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยไปแล้ว 

 

อย่างไรก็ตาม ดร.พิจิตต คงช่วย ดร.ชัชชาติ ในด้านคะแนนเสียงได้ไม่มาก ในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ครั้งนี้ เพราะ ดร.พิจิตต อายุมากแล้วและระยะหลัง  ดร.พิจิตต ไม่ได้รับความนิยมจากคน กทม.เหมือนเมื่อก่อน เห็นได้จากหลัง ดร.พิจิตต ครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. ดร.พิจิตต ได้ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.อีกครั้งในปี 2547แต่ไม่ได้รับเลือกตั้งและลงสมัครชิง ส.ว.กรุงเทพฯ ในปี 2550 ก็ไม่ได้รับเลือกตั้งเช่นกัน อีกทั้งเครือข่ายมดงานที่เขาเคยตั้งขึ้น ก็ไม่ได้เข้มแข็งเหมือนเมื่อก่อน

 

ภาพสมัยที่ ดร.พิจิตต เป็นผู้ว่าฯ กทม. เวลาฝนตกน้ำท่วม จะปรากฏตัวในชุดทะมัดทะแมง ลงไปขุดลอกคูคลอง หรือลงมาช่วยระบายน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง ถูกลืมเลือน  ยิ่งคนรุ่นใหม่ คนรุ่นหลังที่เป็นคะแนนเสียงตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในครั้งนี้ ไม่เคยได้รับรู้ในสิ่งเหล่านี้ด้วย

 

สุดท้ายจึงขึ้นอยู่ที่ตัว ดร.ชัชชาติ มากกว่า  การสลัดภาพออกจากพรรคเพื่อไทยและทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นเรื่องสำคัญอันหนึ่ง  ซึ่ง ดร.ชัชชาติ ก็พยายามทำอยู่ เห็นได้จากการพยายามเข้าหาหรือดึงคนจากทุกฝ่ายเข้ามาร่วมงาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าเข้าได้กับทุกคน ทุกฝ่าย อิสระไม่ขึ้นกับพรรคการเมืองใด

 

แต่การสลัดภาพในอดีต ก็ไม่ง่ายนัก เพราะแม้ว่าตัวเองจะพยายามสลัดออก แต่ทางพรรคเพื่อไทย กลับพยายามขยับเข้าหา  เมื่อเร็ว ๆ นี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้แถลงข่าวว่าพรรคเพื่อไทย จะไม่ส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.เพราะขณะนี้เสมือนมีตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยที่อาสาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.อยู่แล้ว ตรงกับเจตนารมณ์ของพรรคเพื่อไทยในการส่งเสริมฝ่ายประชาธิปไตย ถ้าพรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัครในนามของพรรค อาจมีปัญหาในการตัดคะแนนกันเอง

 

จึงมีข้อสรุปชัดเจนว่า จะไม่ส่งตัวแทนของพรรคเพื่อไทยเนื่องจากต้องการส่งเสริมคนที่อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งและพรรคเพื่อไทยพร้อมสนับสนุนนายชัชชาติแต่การจะประกาศสนับสนุนอย่างเป็นทางการต้องรอจังหวะ โอกาส และเวลาที่เหมาะสมเพราะว่ามีผลกระทบหลายด้านโดยเฉพาะตัวผู้สมัครเองและยินดีใช้กลไกของพรรคสนับสนุน  

 

แม้ว่าตอนนี้คะแนนนิยมจากหลายสำนักโพล  ดร.ชัชชาติ ยังนำว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.รายอื่น ๆ แต่ก็อาจเป็นแค่ความรู้สึกชื่นชอบในระยะนี้เท่านั้น เพราะคน กทม. มักจะตัดสินใจเลือกเอาตอนสุดท้ายใกล้วันเลือกตั้ง ถ้าผู้สมัครฯคนไหนเกิดทำอะไรขึ้นมาเป็นที่ถูกใจในช่วงนั้น ก็จะเลือกคนนั้นเลย

 

หรือบางทีเกิดการพลิกผันเอาช่วงโค้งสุดท้ายได้ง่าย ๆ เมื่อถูกอีกฝ่ายหนึ่งงัดกลุยทธ์ไม้เด็ดขึ้นมา อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.เมื่อปี 2556  ตอนนั้นแข่งกันระหว่าง ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครสมัยที่สอง ซึ่ง ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ต้องแข่งขันกับ พล.ต.อ. พงศพัศ พงษ์เจริญ คู่แข่งจากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรครัฐบาล

 

การสำรวจโดยสำนักโพลต่าง ๆ ก่อนการเลือกตั้ง พบว่า พล.ต.อ.พงศพัศ มีคะแนนนำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ในการสำรวจทุกครั้ง  จนพรรคประชาธิปัตย์ต้องงัดไม้เด็ดมาใช้ในช่วงโค้งสุดท้าย 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง กับวาทกรรม  ไม่เลือกเรา เขามาแน่ และกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง การหาเสียงด้วยวาทกรรมนี้ช่วยให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พลิกชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อีกสมัย ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 เสียง สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร 

 

การสลัดภาพของ ดร.ชัชชาติ ออกจากพรรคเพื่อไทยอย่างสะเด็ดน้ำ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้น ดร.ชัชชาติ อาจจะโดนวาทกรรม ไม่เลือกเรา เขามาแน่  ทำให้คน กทม. เกิดความหวาดกลัว เล่นงานเข้าใส่ในช่วงโค้งสุดท้าย ก็อาจเป็นได้ และถ้าขืนประมาทว่าวาทกรรมนี้สิ้นมนต์ขลังใช้ไม่ได้แล้ว อาจต้องน้ำตาตกใน ในที่สุด

 

logoline