คอลัมนิสต์

ปี 2565 จับจังหวะ "ลุงตู่" ฝ่าหลุมพราง ยืนระยะ "รุ่งหรือร่วง"บนถนนการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ไทม์ไลน์การเมืองตลอดปี 2565 ของคนชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯแต่ละห้วงเวลาพบว่ามีการวางกับดักล่อให้มาตกหลุม พร้อมการวางระเบิดเวลาภายในกันเอง นี่จะเป็นการชี้ชะตา "รุ่งหรือร่วง"ไปจนถึงครบวาระการทำงาน ติดตามในเจาะประเด็นร้อน โดย เมฆาในวายุ

 

ต้องยอมรับว่าประสบการณ์การบริหารบ้านเมือง+การเมืองของ"พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" นับตั้งแต่22พ.ค.2557ถึงวันนี้ "ชั่วโมงบิน+ลีลา"ของลุงตู่นั้น"แพรวพราวขึ้น"  จนนับว่าเป็น"นักการเมืองเต็มตัว" ไปแล้ว

 

เบอร์1ตึกไทยคู่ฟ้ามีอำนาจ"กดปุ่มยุบสภา-เซ็นใบลาออก"ในการคืนอำนาจให้ประชาชน ล้วนมีผลกับการเมืองไทยทั้งกระดาน เพราะเสียงร้องเรียกให้"ลุงตู่"ไขก๊อกจากขั้วตรงข้ามเกิดขึ้นเป็นระยะ แต่"ลุงตู่"ย้ำหลายครั้งให้ทราบเป็นนัยว่า "ไม่ยุบ-ไม่ออก-อยู่ครบวาระ"

 

ดังนั้นปี2565 ชะตากรรมการเมืองในวันข้างหน้าจะเกิดอะไรบ้าง บรรทัดจากนี้จะเป็นลายแทงให้ติดตาม.....


ปฏิเสธไม่ได้ว่าห้วงเวลารัฐบาลคสช.-รัฐบาลผสมชุดปัจจุบันนั้น "ลุงตู่" คือหัวหน้ารัฐบาล โดยมี3ป.(พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย)เป็น"แบ็กอัพ" และมี"พปชร."เป็นฐานกำลังหลัก     หากนับเงื่อนเวลาแล้ว"ลุงตู่"เหลือเวลาบริหารราชการแผ่นดินราว"1ปี3เดือน" จึงครบวาระสี่ปีตามที่รัฐธรรมนูญระบุ(จากการหย่อนบัตรเลือกตั้งส.ส.22มี.ค.2562)  จังหวะการเมืองปี 2565 จะส่งผลอะไรกับบ้านเมืองโดยรวม และเวลา 1ปี 3 เดือน นั้นมีจังหวะอะไรให้ต้องลุ้นกันบ้าง...

 

เหลียวมองไปยังครม.ชุดนี้ พบว่าที่ผ่านมานั้น"รอยปริของรัฐบาลผสม 18 พรรคชุดนี้"แทบ" ไม่มีข่าวขัดแย้ง หรือเตะตัดขากันระหว่าง"เสนาบดี" หลุดออกมา แต่"ห้วงท้ายๆของรัฐบาลผสม"นั้นประวัติศาสตร์ ระบุไว้ว่า"บางครั้งก็จบไม่สวย-บางครั้งก็จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง เพื่อที่จะจากกันด้วยดี"ก่อนที่จะนำ "ผลงานดีเด่นของตัวเอง-แผลในใจที่เพื่อนฝากไว้"ไปขยี้"ในช่วงหาเสียง  ตอนนั้นก็มาติดตามกันว่าห้วงเวลาที่ร่วมเรือเหล็กกันนั้น "ใครเอาดีเข้าตัว เอาชั่วให้เพื่อน" บนหลักที่ว่า"การเมืองนั้นไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร"กันบ้าง      

 

ตรงนี้ต้องติดตาม"มติครม."ที่จะเกิดขึ้นในรอบปี2565ว่าจะมีอะไร"ทิ้งทวน-ขัดแย้งกันบ้าง?"กับการประชุมราว52ครั้งที่เหลืออยู่ในปี2565  รวมทั้งจับตา"การลงพื้นที่ของสร.1/เสนาบดี"ที่จะใช้จังหวะนี้ตรวจราชการต่างจังหวัดและหาแต้มจากสังคมให้เพิ่มพูนเพื่อผลทางการเมืองในวันข้างหน้า( ซึ่งเป็นไปได้สูงที่ตารางเดินสายหัวเมืองของ ครม.จะเกิดขึ้นแบบถี่ยิบ )


เมื่อ"ลุงตู่" คือประมุขฝ่ายบริหาร การทำงานย่อมมีคำชม คำติเตียน  เห็นง่ายๆ"โทนี่ วู้ดซัม"วิพากษ์สร.1คนปัจจุบันแบบไม่ยั้งแถมยังโชว์วิสัยทัศน์สอนมวยรุ่นน้องแทบทุกสัปดาห์(นัยว่าหาแต้มให้พรรคเพื่อไทย) บวกกับแกนนำพรรคต่างๆที่ผสมโรงจัดเต็ม"ลุงตู่"หลากข้อหา   ผนวกกับการเคลื่อนตัวของ"ม็อบสามนิ้วและแฟนคลับ"ที่ปรับเกมไล่"ลุงตู่"ไปหลากรูปแบบ (แม้แกนนำม็อบสามนิ้วบางคนเล่น"เกมเสี่ยง"หลายคราวในช่วงที่ผ่านมา)แต่ตอนนี้บรรดา"แกนนำการชุมนุมถูกตั้งข้อกล่าวหาและควบคุมตัวไปหลายคน"นั้น แรงกระแทกจากกลุ่มสามนิ้วที่เคย"ระดมพลประชาชน"ที่อยู่ตรงข้าม"ลุงตู่"มาขับไล่รัฐบาลก็"แผ่วลง"จน"ลุงตู่"คุมภาวะเหล่านี้ไว้ได้  

 

หากอ่านเกม-จังหวะนอกสภาของ"ขั้วตรงข้ามลุงตู่"นั้น ในปี2565 น่าจะเริ่มต้นตั้งแต่ไตรมาสแรกและเคลื่อนจังหวะแบบยาวๆกันไปเพราะแน่นอนว่า"พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า-มวลชนสามนิ้ว"ยังขยับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด1-2 รวมทั้งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 และสร้างแรงบีบจากการจัดชุมนุมหลากเวทีเป็นระลอก แต่จะเดินเกมเช่นใดต้องติดตาม   ส่วนพรรคฝ่ายค้านนั้นคงเดินสายเปิดตัวให้มวลชนรู้จักและไปเปิดประเด็นปัญหาในแต่ละพื้นที่ซึ่งรัฐบาลอาจละเลยมาหาแต้มสะสมไว้ ดังนั้นเกมขับไล่นอกสภาน่าจะอยู่ในแนวนี้ 

 

สมมติว่า"ลุงตู่"คุมจังหวะข้างต้นไว้ได้ ก็เหลือเกมการเมือง"ในระบบ" ซึ่งฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลด้วยการ  "อภิปรายทั่วไป-อภิปรายไม่ไว้วางใจ" บวกกับ  "การขับเคลื่อนญัตติ-การพิจารณาร่างกฎหมาย-การนับองค์ประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติ"นั้นคือ "จังหวะที่ยังเหลือเป็นอาวุธของฝ่ายค้าน"ซึ่งขั้วตรงข้ามลุงตู่น่าจะรอคอยและเปิดแผล....ไปเรื่อยๆ

 

ปี 2565 จับจังหวะ "ลุงตู่" ฝ่าหลุมพราง ยืนระยะ "รุ่งหรือร่วง"บนถนนการเมือง

ฉะนั้น"ไทม์ไลน์หลักบนเวทีการเมืองในระบบ"ของปี 2565 น่าจะเริ่มด้วย


-จับตาการย้ายพรรค/การตั้งพรรคใหม่ๆของคนการเมืองที่น่าจะคลอดเป็นระยะๆตลอดปี2565


-"การแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเรื่องบัตรเลือกตั้งสองใบและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง" 


-"เลือกตั้งซ่อมส.ส.3เขต"


-"การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ" 


-กลางปีจะมี"การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม."


- การพิจารณา"ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2566" 


-"ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครม." 


-ห้วงรอยต่อ-เดือนส.ค.น่าจะมีการชี้ชัดตามรัฐธรรมนูญว่า"การดำรงตำแหน่งนายกฯของลุงตู่ตามรัฐธรรมนูญครบสองสมัยเมื่อใด"(24 ส.ค.2565 ลุงตู่ครบวาระ8ปีตามที่ฝ่ายค้านอ้างอิง)


-คดีการเมืองต่างๆที่องค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรมถืออยู่จะชี้มูลอย่างไร( เช่น จำนำข้าวรอบสอง-ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน-คดีทุจริตต่างๆ)


-การเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกของประเทศไทยที่จัดขึ้นในปลายปี


ไทม์ไลน์ข้างต้นขยายความให้เห็นชัดเจนขึ้นดังนี้    

 

เดือนมกราคมเป็นต้นไปนั้น "ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง"จะขับเคลื่อน รอลุ้นว่านักการเมืองหลากพรรคจะสรุปความเห็นอย่างไร เพราะกติกานี้" พรรคไหนได้-พรรคใดเสียประโยชน์"กันบ้าง

 

ส่วนเกม"วัดเรตติ้งของหลากพรรค" นั้น  วันที่ 16 มกราคม จะมีการเลือกตั้งซ่อมส.ส.ชุมพรเขต1และสงขลาเขต 6  และคาดว่าจะมีการจัดให้เลือกตั้งซ่อม กทม.เขต 9 ตามมาในเวลาไล่เลี่ยวกัน เนื่องจากมีการตราพระราชกฤษฏีกากำหนดให้มีการเลือตั้งซ่อมกทม.เขตหลักสี่ ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อปลายปี2564 ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

 

แน่นอนว่า"พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล-กล้า-พปชร.-ประชาธิปัตย์และอื่นๆ"ส่งตัวแทนไปปักธง แต่ใครจะสมหวังนั้นก็ต้องติดตาม   ดังนั้นการชิงตำแหน่งส.ส.3เขตนี้ หากพรรคไหนสอบผ่านในงวดนี้แม้จะมีอายุงานไม่นานนัก  แต่ความจริงนั้นมีผลทางจิตวิทยาการเมืองไม่น้อย โดยเฉพาะ"พรรคแชมป์เก่า" หากป้องกันเก้าอี้ไว้มิได้ก็ย่อมมีผลไปในทางใดทางหนึ่ง

 

และอีกสิ่งหนึ่งที่น่ามองลึกๆคือ"พปชร."ที่คว้าชัยในการเลือกตั้งซ่อมมาหลายเขต รู้กันว่าคราวนั้น"ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า" รับหน้าที่แถวหน้าบัญชาการเกม  แต่งวดนี้กลับมอบหน้าที่ให้"สุชาติ ชมกลิ่น" รองหัวหน้าพรรคดูแลสงขลา พร้อมมอบหมาย "สันติ พร้อมพัฒน์" ไปเป็นผอ.พรรคดูแลชุมพร ส่วนกทม.นั้นมอบให้ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส จัดการ

 

น่าคิดว่า ทำไมยามนี้ผู้กองคนดังยอมเปิดทางให้แกนนำคนอื่นถือธง  บางคนมองว่าผู้กองคนดังน่าจะทราบจังหวะดีว่า"พื้นที่ใดควรชน-พื้นที่ใดควรเลี่ยง" เพราะเจ้าถิ่นบางรายมีสัมพันธ์ดีๆกับ"ร้อยเอกธรรมนัส"ห และเป็นไปได้หรือไม่ว่า"เลขาธิการพรรคพปชร."รู้ทางลมว่า "เกมนี้ ควรเสี่ยงเล่นหรือไม่ หากผลลัพธ์ออกมา อาการขาดทุนสูงกว่ากำไร?" ร้อยเอกธรรมนัสจึงโยนหน้าที่ให้แกนนำคนอื่นที่ยืนคนละมุมในพรรคกับผู้กองคนดังลงไปโชว์ฝีมือ....."ชนะ-แพ้"ผอ.เลือกตั้งซ่อมรับไปชี้แจงกับคนในพรรคเอาเอง   ตรงนี้จะเป็นศึกใหม่ในพปชร.อีกยกหรือไม่ ต้องรอชม 

 

และติดตาม"รอยปริ"ที่"ร้อยเอกธรรมนัส" สร้างไว้กับ"ลุงตู่" ในห้วงปีที่แล้วกับข้อหา"กบฏ" แผลนี้จะสมานอย่างไร   ผู้กองคนดังจะยืนข้างลุงป้อมหรือย้ายฝั่ง?...เพราะตอนนี้คนในเครือข่ายผู้กองคนดังเริ่มปรากฏตัวกับพรรคอื่นๆกันบ้างแล้ว และอย่าลืมการชิงอำนาจในพปชร.เพราะหลากขั้วหวังเปลี่ยนตัวผู้กองคนดังให้พ้นโครงสร้างการบริหารพรรคอย่างเป็นทางการ หลังเคยเคลื่อนแล้วโดน"ลุงป้อม"เบรคเกมไว้

 

อีกทั้งในเดือนแรกของปี2565 รอดูว่าพรรคใหม่ของ"กลุ่มสี่กุมาร"ที่แยกตัวแบบเจ็บช้ำจากพปชร.จะเปิดตัวใครบ้างมาร่วมเวที หลังได้"นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ" จากปชป.มาเป็นขุนพลปักษ์ใต้+ฝ่ายกฎหมาย และมีแนวโน้มว่า"สมคิด จาตุศรีพิทักษ์"จะถูกชูเป็นแคนดิเดตสร.1ของพรรคนี้เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปิดตัวคนการเมืองที่ทยอยเปลี่ยนพรรคน่าจะชัดเจนเป็นระยะ และดูท่าทีของคนการเมืองทั้งที่มีสิทธิและโดนตัดสิทธิทางการเมืองว่าจะขยับอย่างไรกันบ้าง

 

รวมทั้งติดตามการเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.ของพรรคก้าวไกล และคนอื่นๆที่ประสงค์ไปนั่งทำงานที่เสาชิงช้าว่าจะมีใครมาขันอาสากันอีกบ้าง

 

จากนั้น"การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ" จะบังเกิดโดยน่าจะดำเนินการช่วงเดือนกุมภาพันธ์ งานนี้ฝ่ายค้านจะใช้เวทีนี้"หลอกด่ารัฐบาลไปพลางๆ" เพราะ"หมัดเด็ด"ที่จะน็อกลุงตู่นั้น หากฝ่ายค้านมี "ของดี"ก็ต้องซุกไว้ใช้ในศึกซักฟอกยกสุดท้าย และไม่น่าจะงัดหมัดเด็ดมาใช้ในห้วงเวลาดังกล่าว

 

กลางปีจะมีศึก"ชิงประมุขเสาชิงช้า" โดยหลากพรรค-หลายคนที่ลงสมัครอิสระขอปักธงสนามนี้ เพราะเป็น"รอยต่อ"ที่จะสะท้อนว่าคนกรุงจะมีแนวโน้มจะให้ใครไปเป็นแกนนำรัฐบาลงวดหน้า แม้ที่ผ่านมาการเมืองท้องถิ่นกับสนามใหญ่นั้นผลลัพธ์จะอยู่ตรงข้ามคือ "ชาวเมืองหลวงจะเลือกฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมาบริหารกทม."ก็ตาม  และเหตุผลที่ซ้อนไว้อีกชั้นหนึ่งซึ่งหลากพรรคหวังพิชิตให้ได้คือ "สนามกทม.นั้นจะมีส.ส.กว่าสามสิบคนในการเลือกตั้งงวดหน้า"

 

ดังนั้นหากใครชิง"ส.ก.และผู้ว่าฯกทม."ไว้ได้ โอกาสที่จะ"ชนะเลือกตั้งผู้แทนฯระบบเขต"ในเมืองหลวงก็สูงขึ้น หรืออย่างน้อยแต้มในระบบ"ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์"ก็อาจจะงอกบ้าง หาก"แพ้"ระบบเขตก็ตาม

 

จากนั้นจะมีการพิจารณาร่างกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี2566 หาก"ร่างกฎหมายการเงินการคลัง"ฉบับนี้ไม่ผ่าน เพราะฝ่ายค้านน่าจะจองคิวถล่ม"ลุงตู่"ว่า"ดีแต่กู้-สร้างหนี้ให้ลูกหลาน-ส่อแววโกง" จนเสียงส่วนใหญ่โหวตคว่ำนั้น "ลุงตู่ต้องไขก๊อกสถานเดียว"และนับหนึ่งกันใหม่ ( รอลุ้นว่ากติกาที่แก้ไขในช่วงเดือนมกราคมจะผ่านและใช้บังคับได้ทันหรือไม่ หากไม่ทันก็ใช้กติกาเดิมกับการเลือกตั้งส.ส.เหมือนปี2562)

 

หากเวลาข้างต้น"ลุงตู่"ผ่านมาได้ก็จะเจอ"ศึกซักฟอกงวดสุดท้าย" ซึ่งรอดู"หมัดเด็ด"ของฝ่ายค้านว่าจะถล่มลุงตู่และคณะอย่างไรให้หมอบราบได้หรือไม่  สมมติว่า ข้อมูลของฝ่ายค้านน่าเชื่อถือ รวมทั้งเกมใต้ดินของหลากพรรคที่จะล็อบบี้ผู้แทนฯให้ลงมติ"เห็นชอบ/ไม่เห็นชอบ/งดออกเสียง"กับญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครม.ของฝ่ายค้านนั้น จะออกมาในรูปแบบใดก็ต้องเกาะติด

 

จากนั้นน่าจะเข้าห้วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม การขยี้อายุงานบนเก้าอี้สร.1 ครบแปดปีตามกติกาหลักคงจะร้อนขึ้น (รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรค 4 บัญญัติว่า "นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง"

    

จึงเกิดข้อถกเถียงกันคือ 8 ปีนั้น  นับจากตอนไหน...บางเสียงบอกว่านับตั้งแต่หลังการเลือกตั้งส.ส.22มี.ค.2562 แต่บางคนบอกว่า ต้องนับจากการเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว  2557 (ถ้านับนั้นลุงตู่จะครบ 8 ปีในเดือนส.ค.2565) ตรงนี้ก็เป็นปมที่ฝ่ายตรงข้ามจะขย่มลุงตู่ตั้งแต่เนิ่นๆและเลี้ยงกระแสไปจนถึงเวลาอันสมควร)แต่ลุงตู่น่าจะทราบเรื่องนี้ดีจึงไม่แสดงอาการและย้ำเสมอว่า"อยู่ครบวาระสี่ปี"

 

หาก"ลุงตู่"ผ่านเวลาดังกล่าวมาได้ก็จะอยู่ในช่วง"แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ" ที่จะมีผลในวันที่1ตุลาคมของทุกปี ตรงนี้นับว่ามีผลต่อสนามการเมืองเช่นกันเพราะหากกุมกลไกรัฐ-ข้าราชการไว้ได้ขั้นต้นก็จะสบายทางการเมืองไปอีกชั้นหนึ่ง

 

เวลาต่อมาคือปลายปี แม้ตลอดทั้งปี 2565 ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค (ไทยรับเป็นเจ้าภาพต่อจากนิวซีแลนด์ซึ่งมีการส่งไม้รับหน้าที่กันไปแล้วเมื่อหลายสิบวันก่อน)และจัดประชุมเป็นระยะ แต่ปลายปีนั้นจะจัดประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก   แน่นอนว่า"ลุงตู่"มีความหวังที่จะดำรงตำแหน่งสร.1ไปจนกว่าจะ"เสร็จสิ้นภารกิจนี้"เพื่อเป็นหลักประกันการทำหน้าที่สร.1และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ  เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่อ่านใจลุงตู่ได้ว่า "อย่างไรเสีย...ลุงตู่ต้องทำหน้าที่ให้จบภารกิจดังกล่าวให้ได้หลังจากที่ไทยเคยรับหน้าที่เจ้าภาพการประชุมดังกล่าวเมื่อปี2546 "  หลังจากนั้นการเมืองจะเคลื่อนตัวอย่างไรนั้น จับตา "ลุงตู่" เพราะคือคนกดปุ่ม"ยุบสภา"

 

รอติดตามว่าคำทำนายนี้จะออกมาตรงกับเหตุการณ์จริงในวันข้างหน้าหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าการเมืองพลิกได้เสมอ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ