คอลัมนิสต์

ศึกกะยา "กะเหรี่ยงแดง" รุกทหารเมียนมา ต้นเหตุสังหารหมู่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เบื้องหลังสังหารหมู่ 30 ศพชาติพันธุ์ "กะเหรี่ยงแดง" ทหารเมียนมาตอบโต้กองทัพประชาชน KNDF และกองทัพกะเรนนี ที่ดำเนินสงครามจรยุทธ์ประสบผลสำเร็จ คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

โลกสะเทือนใจเหตุสังหารหมู่ 30 ศพในรัฐกะยาหรือ “กะเหรี่ยงแดง” ยูเอ็นเรียกร้องรัฐบาลทหารเมียนมาสอบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างโปร่งใส

 

หลังมินอ่องหล่ายยึดอำนาจ หนุ่มสาว “กะเหรี่ยงแดง” ได้รวมตัวจัดตั้งกองกำลังประชาชนต่อต้านทหารเมียนมา โดยการฝึกของกองทัพกะเรนนี

 

ยิ่งปราบปรามยิ่งลุกขึ้นสู้ “กะเหรี่ยงแดง” ชาติพันธุ์ที่ไม่ยอมจำนน กองกำลังประชาชนและกองทัพกะเรนนี จึงเปิดแนวรบสู้ทหารเมียนมาทุกรูปแบบ

 

เหตุการณ์สังหารหมู่ที่รัฐกะยา เกิดขึ้นที่เมืองพรูโซ เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2564 มีการปะทะกันระหว่างทหารเมียนมากับกองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (KNDF) บนถนนสายหนึ่ง และมีรถยนต์ 7 คัน ถูกทหารเมียนมาตั้งด่านสกัด พวกเขาถูกสังหารทั้งหมดและมีการจุดไฟเผารถยนต์

สื่อท้องถิ่นในรัฐกะยารายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 คนในจำนวนนี้ มีเด็กและผู้หญิงที่ถูกเผาไหม้เกรียม จากเหตุการณ์ดังกล่าว มาร์ติน กริฟฟิทส์  รองเลขาธิการยูเอ็นด้านมนุษยธรรม ได้ออกแถลงการณ์ประณามผู้ก่อเหตุการณ์อันเลวร้ายในครั้งนี้และการโจมตีพลเรือนเมียนมาทั้งหมด พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาเร่งสืบสวนเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดถี่ถ้วนและโปร่งใส

 

นับแต่เดือน พ.ค.2564 ในรัฐกะยา มีกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาถูกจัดตั้งขึ้นหลายกลุ่มซึ่งมีองค์กรหลักที่ชื่อว่า กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (Karenni Nationalities Defense Force-KNDF)

 

กองกำลังกะเหรี่ยงแดง KNDF ได้ปฏิบัติการทางทหารอย่างต่อเนื่อง สร้างความปั่นป่วนให้กองทัพเมียนมา จนพวกเขาต้องก่ออาชญากรรมร้ายแรง อาทิการยิงปืนใหญ่ถล่มหมู่บ้าน และการสังหารหมู่ผู้บริสุทธิ์

 

‘ทัพกะเรนนี’

ชาติพันธุ์กะเรนนีหรือ “กะเหรี่ยงแดง” อาศัยอยู่ในรัฐกะยา (Kayah State) เป็นรัฐที่เล็กที่สุดของพม่า อยู่ติดกับพรมแดนไทยด้าน อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

รัฐกะยา มีเนื้อที่ 11,737 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงและป่าไม้ ที่ราบมีน้อย โดยแบ่งการปกครองเป็น 3 อำเภอ 7 ตำบล 106 หมู่บ้าน เมืองหลวงของรัฐชื่อล๋อยก่อ

 

ในอดีต รัฐกะยาเป็นรัฐอิสระ ไม่เคยอยู่ใต้รัฐบาลพม่า หลังจากพม่าได้เอกราชจากอังกฤษในปี 2491 รัฐกะยาถูกรวมเข้าในสหภาพพม่า จึงมีการต่อสู้เพื่อเอกราชของชาวกะเหรี่ยงแดง

ทหารกองทัพประชาชนกะเหรี่ยงแดง (KNDF)

กองทัพกู้ชาติกะเรนนี ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2491 ในนาม “กองทัพแห่งชาติกะเรนนี” (Karenni National Army-KNA) ต่อมา เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP) ทำการต่อสู้กับรัฐบาลทหารเมียนมาที่ยึดครองแผ่นดินของพวกเขา

 

ปัจจุบัน พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP) นำโดยนายพลบีทู ไม่ได้เข้าร่วมเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลทหาร และยืนยันจะต่อสู้กับเผด็จการทหารเมียนมาต่อไป

 

‘นักรบกะเหรี่ยงแดง’

เมื่อ พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ เยาวชน “กะเหรี่ยงแดง” ได้ลุกฮือเดินขบวนประท้วงเผด็จการทหาร และถูกทหารเมียนมาปราบปรามอย่างหนัก


ต่อมา เยาวชนกะเหรี่ยงแดงได้รับการฝึกอาวุธจากกองกำลังกะเหรี่ยงแดง (Karenni Army) ซึ่งเป็นกองทหารของพรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP) ก่อนจะออกปฏิบัติการตอบโต้ทหารเมียนมา

 

หลังมีการจัดตั้งกองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเหรี่ยงแดง (KNDF) เป็นกองทัพขนาดใหญ่ ก็มีเยาวชนคนหนุ่มสาวจากหลายพื้นที่ในเมียนมา เดินทางมารับการฝึกกับกองกำลัง KNDF โดยมีนายทหารผู้มีความเชี่ยวชาญในการรบมาช่วยเป็นครูฝึก

 

หลายครั้ง กองกำลังประชาชน KNDF จะร่วมกับกองทัพกะเรนนี (Karenni Army) ออกทำการสู้รบกับทหารเมียนมา เช่นการโจมตีสถานีตำรวจ และด่านตรวจ

 

สงครามจรยุทธ์โดยกองกำลัง KNDF ในรัฐกะยา ประสบชัยชนะต่อเนื่อง ส่งผลให้ทหารเมียนมาต้องตอบโต้แบบเหวี่ยงแห อย่างเช่นกรณีสังหารหมู่ 30 ศพ

logoline