คอลัมนิสต์

เปิดใจ ธรรมนัส “ผมเป็นแค่หนอนคลุกใบไม้และดินทราย”กับสัญญาใจของใครบางคน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดใจ "ธรรมนัส พรหมเผ่า" จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ถูกให้พ้นตำแหน่ง แต่ ณ วันนี้ เขายังทำหน้าที่เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐอย่างแข็งขัน เป็นเพราะสัญญาใจบางอย่าง ติดตามได้ที่เจาะประเด็นร้อน โดย อสนีบาต

 

"ผมเป็นแค่หนอนคลุกใบไม้และดินทราย" 

 

นั่นคือประโยคช่วงหนึ่งที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งปัจจุบันยังคงทำหน้าที่เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)  สละเวลาเวลาจากการลงพื้นที่อย่างไม่ว่างเว้นจากเหนือจรดใต้ เพื่อมานั่งพูดคุยกับ "คมชัดลึกออนไลน์" ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน  

 

ไม่แน่นอนทั้งความเป็นไปของรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะบริหารประเทศจนครบวาระ หรือประกาศยุบสภาก่อนกำหนด 

 

ไม่แน่นอนทั้งการทำหน้าที่แม่บ้านพรรคพลังประชารัฐไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่?!?  

 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)

 

"รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า"  หรือ "ผู้กองธรรมนัส"  บอกว่า การเป็นนักการเมือง โดยเฉพาะทำหน้าที่แม่บ้านเลขาธิการพรรค  โจทย์คือทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน ในฐานะเป็นตัวแทนตามระบอบประชาธิปไตย  มีตัวแทนเข้าไปเป็นปากเป็นเสียงในสภาผู้แทนฯ   จะต้องเข้าใจความเดือดร้อนในแต่ละเขต แต่ละพื้นที่ แต่ละภาค การรับฟังเสียงจากพี่น้องผู้แทน ไม่ได้หมายความเราไม่เชื่อ แต่ว่าเราอยากไปเห็นด้วยตาได้ยินกับหูว่าชาวบ้าน เพื่อต้องการให้รู้ว่าชาวบ้านต้องการอะไร เพื่อนำปัญหาเหล่านั้น มาเป็นโจทย์ในการกำหนดนโยบายของพรรรค ถือเป็นสาระสำคัญ 

 

"ผมชอบทำตัวเป็นตัวหนอนคลุกใบไม้อยู่กับดิน" 

 

“ผมชอบทำตัวเป็นตัวหนอน คลุกอยู่กับใบไม้คลุกอยู่กับดิน เพื่อให้รู้ว่าสภาพดิน สภาพใบไม้เป็นอย่างไร ดินเป็นอย่างไร นั่นหมายความ ว่าเราจะได้รู้สภาพปัญหาที่แท้จริงของประชาชนแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร เราจะได้นำมาแก้ไขกำหนดเป็นนโยบายพรรค แล้วถ้ามีโอกาสเป็นรัฐบาลอีกรอบ เราจะได้นำนโยบายที่เป็นความต้องการของประชาชนจริงๆนำไปสู่ภาคปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาได้อย่างจีรังยั่งยืนต่อไป”  ร.อ.ธรรมนัส  เปรียบเปรยตัวเอง 

 

เปิดใจ ธรรมนัส “ผมเป็นแค่หนอนคลุกใบไม้และดินทราย”กับสัญญาใจของใครบางคน

 

ทุกครั้งของการลงพื้นที่มิใช่แค่มองเป็นการหาเสียงเท่านั้น หากแต่ ผู้กองธรรมนัส ยังเก็บข้อมูลปัญหาความเดือดร้อน และจำแนกเรื่องเร่งด่วน พร้อมกับการจัดทำแผนระยะยาวส่งต่อไปให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐในฐานะรองนายกรัฐมนตรี  

 

"ปัญหาของประชาชนมีเยอะมากขึ้นอยู่กับว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนแก้ไข หรือวางแผนแก้ไขอย่างยั่งยืน อย่างเอาจริงเอาจัง  เรื่องไหนเร่งด่วนจะสรุปปัญหามอบให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  หัวหน้าพรรคพปชร. ในฐานะรองนายกฯ สั่งการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง  ส่วนใหญ่ปัญหาที่นำเสนอหัวหน้าพรรค ต้องเรียกว่าท่านเป็นนักการเมือง คือทำทันที ที่เป็นความเดือดร้อนประชาชน การทำงานของผมและหัวหน้าจึงสอดคล้องกันทำทันทีได้เกือบทุกประเด็น" 

 

 

 

"สัญญาใจ" อยู่ได้เพราะหัวหน้าฯ

 

ตลอดการสนทนา"ร.อ.ธรรมนัส" กล่าวถึง "พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ" รองนายกฯและหัวหน้าพรรคพปชร. จึงต้องขอให้ ร.อ.ธรรมนัส เปิดเผยกับ"คมชัดลึก" ถึงปัญหาความไม่ลงรอยกับคนบนตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการแลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันนานถึงสามชั่วโมง 

 

เจ้าตัวยอมรับเคยถอดใจ แต่ที่ต้องทำหน้าที่เลขาธิการพรรคพปชร.จนถึงวันนี้ เพราะ เป็นสัญญาใจระหว่าง "ร.อ.ธรรมนัส"กับ "พล.อ.ประวิตร" 

 

"ผมต้องพูดตรงๆว่า ที่ผ่านมา ผมก็ถอดใจมาหลายครั้ง เราไม่ได้ตั้งใจมาเป็นนักการเมือง แต่วันหนึ่งเรามาอยู่เวทีการเมือง บุคลิกส่วนตัวเราตรงไปตรงมา อาจเป็นที่ถูกใจคนบ้างไม่ถูกใจบ้าง พอมีปัญหาช่วงหนึ่ง เอาตรงๆเลย  ผมก็คิดจะไปตั้งพรรคใหม่แต่มาจุดหนึ่งไปคุยกับท่านหัวหน้า ขอให้เรามาช่วยกัน ผมถือว่าท่านหัวหน้าเป็นอีกท่านหนึ่ง ที่ผมให้ความเคารพนับถือ ท่านให้ชีวิตใหม่ผมหลายๆเรื่อง และผมต้องยอมรับว่ารักและเคารพนับถือท่าน ตั้งใจจะอยู่กับท่าน  ท่านบอกว่า ให้มาช่วยงานกัน อย่าไปไหน" 

 

ส่วนทนแรงเสียดทานได้นานขนาดไหน  "ร.อ.ธรรมนัส" บอกว่า   การเป็นนักการเมือง ถ้าเราเอาผลประโยชน์ประเทศชาติ และพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง โดยไม่คำนึงผลประโยชน์ของตนเอง เราจะสบายใจ ดังนั้น ปัญหาแรงเสียดทานต่างๆ เราทำไปมีเป้าประสงค์ข้างบนทำเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง เราจะไม่ท้อ เป็นพลัง เป็นแรงผลักดัน ให้เราทำ หาวิธีแก้ปัญหาให้ผ่านพ้นไปด้วยดีมาโดยตลอดทุกครั้ง 
 

เมื่อให้แม่บ้านพรรคประเมินกรอบเวลาการทำงานรัฐบาลควรยุบสภาเมื่อไหร่อย่างไร  "ร.อ.ธรรมนัส" ประเมินว่า  รัฐบาลชุดนี้อยู่ได้นานที่สุด คือ  24 มี.ค.66  ถ้านับจากนี้เหลือแค่ 14 เดือน ระยะเวลา 14 เดือนเตรียมแผนการเลือกตั้งไม่ใช่ระยะเวลายาว  ประมาณหนึ่งปีถือว่าน้อยมากถ้าเปรียบการเลือกตั้งปี 62  พรรคพลังประชารัฐเริ่มก่อตัวเดือน ม.ค. เมื่อปี 2561  กรอบเวลาคล้ายๆกัน  ดังนั้นคำถามที่ว่าจะมีเลือกตั้งเมื่อไหร่ นานที่สุดอีก14 เดือน

 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ม.ค.ถึง มี.ค.ปีหน้า เราไม่รู้จะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองอะไรขึ้น  อันนี้การเมืองไม่มีอะไรแน่นอน แต่สิ่งสำคัญที่สุดต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะเราเป็นพรรคใหญ่ 

 

เมื่อถามว่า ปัจจัยอะไรที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง"ร.อ.ธรรมนัส" มองว่า ยอมรับว่าระหว่างทางรัฐบาลต้องเผชิญปัญหาหลายเรื่อง อย่างที่ทราบดี ปัญหาเศรษฐกิจ  สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19และมีการกลายพันธุ์เป็นโอไมครอนประดังเข้ามา

 

เราไม่รู้ว่าอุบัติเหตุทางการเมืองจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่  สถานการณ์ทางการเมืองไม่มีอะไรแน่นอน แต่สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องเตรียมพรรคเราให้พร้อมสำหรับศึกเลือกตั้ง 

 

เมื่อมองถึงธรรมชาติทางการเมืองการยุบสภามักเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลกุมความได้เปรียบ ตรงนี้ เลขาธิการพรรคพปชร. บอกว่า "เชื่อมั่นว่าการยุบสภาไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาบ้านเมือง  ตอนนี้ต้องดูว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นอย่างไร หากรัฐบาลยุบสภาเกิดผลดีต่อพี่น้องประชาชนอย่างไร บวกลบคูณหารถ้าดีควรจะทำ แต่ถ้ายุบสภา ยิ่งเพิ่มปัญหาให้ประชาชนก็ไม่ควรทำ จะทำอะไรก็ตามต้องยึดผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นหลัก" 

 

"ผมเรียนแล้ว ไม่มีอะไรแน่นอน ยุบสภาแล้วเกิดผลดีต่อประชาชน หรืออยู่แล้วเกิดผลดีต่อประชาชนไหม "  ร.อ.ธรรมนัส กล่าว 

 

ต่อปัญหาสภาล่มอีกตัวแปรที่สะเทือนการทำงานรัฐบาลและอาจนำไปสู่การยุบสภาด้วยซ้ำ  ประเด็นนี้  "รอ.ธรรมนัส" ให้ความเห็นว่า  "ไม่ใช่ผมเข้าข้างพรรคตัวเอง โดยสถิติเปิดสภามา คิดเป็นอัตราร้อยละ พรรคพปชร.ถือว่าอยู่ในระดับ 93 -100 เปอร์เซ็นต์มาโดยตลอด นั่นหมายความว่า พปชร.ไม่ค่อยมีปัญหาสมาชิกสภาผู้แทนในการร่วมประชุมสภา แต่พรรคอื่นเราไม่วิพากษ์วิจารณ์ หรือแม้แต่พรรคภูมิใจไทย (ภท. ) สมาชิกมาประชุมไม่ต่ำ 93 เปอร์เซนต์ 

 

เปิดใจ ธรรมนัส “ผมเป็นแค่หนอนคลุกใบไม้และดินทราย”กับสัญญาใจของใครบางคน

 

เสนอไอเดียแก้ปัญหาสภาล่ม

 

"ร.อ.ธรรมนัส" กล่าวว่า   การเป็นส.ส.แบบเขต ต้องมีเวลาในการลงพื้นที่ เพราะความเป็นส.ส.ในเวลาแบบนี้ ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ส.ส.แต่ละเขตควรลงพื้นที่ให้เยอะ ฉะนั้น การประชุมสภาแต่ละอาทิตย์ ปกติถ้าประชุมพุธ พฤหัส ปัญหาไม่ค่อยมี แต่ถ้าประชุมอังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ จะมีปัญหาทุกครั้ง เพราะการวางกรอบตารางเวลาส.ส.ลงพื้นที่วางไว้เป็นเดือน แต่การกำหนดให้มีการประชุมสภาฯ บางครั้งสมมติจะประชุมอาทิตย์หน้าเพิ่งมากำหนดวันนี้ ซึ่งเราไปนัดชาวบ้านไว้ล่วงหน้าแล้ว ส.ส.ไม่ลงพื้นที่ตามนัดหมายโดนชาวบ้านด่า ตรงนี้ถือเป็นสาระสำคัญ

 

"อยากฝากเรียนด้วยความเคารพ ถึงวิปรัฐบาล เราต้องนั่งคุยกันเป็นเรื่องเป็นราว คุยกับผู้ทำหน้าที่เป็นประธานสภา กรอบเวลาการประชุมสภา ควรมีไทม์มิ่ง มีแผนว่าประชุมวันไหนในรอบเดือนที่ชัดเจน เราในฐานะส.ส. ได้วางแผนตัวเองได้ อย่างผมประชุมวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมลาไปแล้ว นัดชาวบ้านไว้แล้ว ฉะนั้นการจะขาดงาน 4-5 งาน นัดชาวบ้านเป็นปี จู่จะยกเลิกไม่ได้ วันศุกร์ผมก็ลงพื้นที่เหมือนกัน จึงต้องหารือแก้ปัญหาสภาล่ม" ร.อ.ธรรมนัส  สื่อสารไปถึงวิปรัฐบาลและประธานสภาฯ 

 

เพื่อไทยชนะแลนด์สไลด์จริงหรือ !?! 


เกี่ยวกับกติกาการเลือกตั้งใหม่กำหนดให้มีบัตรเลือกตั้งสองใบโดยเฉพาะเพื่อไทย(พท.) คุยโวว่าจะทำให้เกิดชัยชนะแลนด์สไลด์ ในมุมมองของ"ร.อ.ธรรมนัส" บอกกับ "คมชัดลึก" ว่า  

 

"เรื่องนี้ผมฟังมาเยอะ แต่ในฐานะส.ส.ผู้ปฎิบัติ กล้าพูดได้เลยว่าเป็นส.ส.ที่ลงพื้นที่ 77 จังหวัด เยอะกว่า เลขาธิการพรรคท่านใด ผมรู้ชาวบ้านต้องการอะไร การเลือกตั้งที่จะมาถึง อย่าลืมว่าพปชร.เป็นผู้เสนอ โดยมีพรรคเพื่อไทยเห็นด้วย ประชาธิปัตย์(ปชป.)  เห็นด้วย "

 

"เราเป็นผู้เสนอ เราต้องคิดละเอียดแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพปชร. ย้อนกลับไปที่การเลือกตั้ง ปี 2562  จำนวนโวตเตอร์ ประชาชนที่กาบัตรให้พปชร. แปดล้านกว่า มาอันดับหนึ่ง ถามว่า เราได้ส.ส.แบบเขต 97 ปาร์ตี้ลิสต์ 20 กว่า แต่ลำดับสองที่แพ้หลักร้อยหลักพันเกือบร้อยชีวิต   ที่แพ้ผมกล้าพูดได้เลยว่า ตอนนั้นพปชร.เป็นพรรคน้องใหม่ คนยังไม่สามารถจับต้องนโยบายพรรคตอนนั้นได้ การเลือกตั้งจึงไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ เรารู้ว่าเราควรทำอย่างไร ผู้สมัครที่ผ่านมาแต่ละพื้นที่ให้การยอมรับ ถึงได้คะแนนนิยมมาลำดับสอง แพ้หลักร้อย เมื่อแบ่งบัตรชัดเจน บัตรของพรรคกับบัตรของเขตชัดเจน  ความนิยมของบุคคลนั้นจะมา จะทำให้เราได้ส.ส.แบบเขตมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งเราคิดแล้ว ส่วนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อไทย ส่วนหนึ่ง พปชร. ภท. ปชป.ส่วนหนึ่ง และพรรคเล็ก ผมเชื่อว่าจะกระจายในจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อร้อยชื่อ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ส.ส.เขต เราจะได้จำนวนมากขึ้น ผมมีความมั่นใจอย่างนั้น" 

 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า หรือ ผู้กองธรรมนัส กับการเปิดใจผ่านคมชัดลึก

 

ยุทธศาสตร์ต่อสัมพันธ์"ผู้นำท้องถิ่น"ขอมากกว่า 122 ที่นั่ง  

 

"ร.อ.ธรรมนัส" ยังบอกต่อไปว่า "จากการพูดคุยกับหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และหัวหน้าพรรค หัวหน้าภาคแต่ละภาค มาโดยตลอดว่า การเลือกตั้งคราวที่แล้ว เนื่องจากกรอบเวลาเร่งด่วน เรามาจากแต่ละทิศทางผสมผสานมาเป็นพปชร. แน่นอนการเตรียมตัวไม่ค่อยดี แต่ครั้งนี้ เราเตรียมตัวดี โดยเฉพาะผมลงพื้นที่ ไปหาพื้นที่ที่จังหวัดที่มีส.ส.และจังหวัดที่ไม่มีส.ส.เราได้ตัวแทนแต่ละจังหวัดส่วนใหญ่ได้ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ตั้งแต่นายกอบจ. นายกเทศบาล นายกอบต. เรามีผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเครือข่ายเรา ทุกจังหวัด ผมมีความมั่นใจว่า จำนวนส.ส. ที่เราได้ ณ เวลานี้ 122 ที่นั่ง จะต้องได้มากกว่านั้น แต่จะมากเท่าไหร่ เดี๋ยวคอยดูใกล้ๆ” 

 

เหนือ-ใต้ ต้องได้มากกว่าเดิม 

 

"ฐานที่มั่นสำคัญ สำหรับตัวผมแล้ว การเลือกตั้งคราวที่แล้ว รับผิดชอบ 17 จังหวัดภาคเหนือ  และเราจะมีหัวหน้าอยู่ แต่ละจังหวัด เช่น เพชรบูรณ์ มีท่านสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นหัวหน้า  หรือสุโขทัย ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน  ส่วนจังหวัดอื่นๆแบ่งกันดูแล เราได้ส.ส.มา 17 จังหวัด 25 ที่นั่งบวกเลือกตั้งซ่อม 1 รวม 26 ถามว่า สมรภูมิภาคเหนือ 17 จังหงัด เราจะมีความเชื่อมั่นยึดได้เหมือนเดิม จะมีการขยายเพิ่ม ภาคใต้ 14 จังหวัด ผมถือว่าลงพื้นที่ใต้บ่อยที่สุด และผมมีความมั่นใจ ตอนนนี้เรามี 14 ที่นั่ง เราต้องเพิ่มเป็น 20 เป็น 30 แต่เราต้องเพิ่มแน่นอน"  

 

ยังไม่รีบเปิดตัว "ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม."เดี๋ยวช้ำ

 

กลับมาที่สนามเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯกทม." บ้าง  ร.อ.ธรรมนัส เปิดเผยว่า เนื่องจากกรอบเวลาเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ยังไม่มีความชัดเจน การเปิดตัวผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.เร็วเกินไป ก็จะช้ำ หลายท่านที่เปิดตัวเป็นคนมีคุณภาพ แต่ถ้าเปิดตัวจังหวะไม่ดีช้ำหมด เราได้คุยกับหัวหน้าพรรค กกบห.และผู้รับผิดชอบกทม.ว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะเปิดตัวผู้สมั้คร  แต่สนามสก. ระดับเขต มีครบเกือบหมดแล้วขาด 4-5 เขต ที่กำลังเฟ้นหาอยู่ ทั้งหลายทั้งปวง อยู่ที่กกบห. จะส่งหรือไม่ส่ง ท้ายสุดอยู่ที่หัวหน้าพรรคพปชร. 

 

เปิดใจ ธรรมนัส “ผมเป็นแค่หนอนคลุกใบไม้และดินทราย”กับสัญญาใจของใครบางคน

 

จุดแข็ง-จุดอ่อนพปชร.

 

ร.อ.ธรรมนัส เผยจุดแข็ง พปชร. ว่า   เราต้องเอาความจริงมาพูดกัน การเลือกตั้ง ในระบอบประชาธิปไตย การกำหนดนโยบายพรรคถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่วิพากษ์วิจารณ์พรรคอื่น  อย่างพรรคพปชร. มีความโดดเด่นนโยบาย  เช่น 

 

หนึ่งเรื่องสวัสดิการแห่งรัฐมามาตั้งแต่ปี 62 ได้ทดลองใช้กับกลุ่มบุคคลที่ภาครัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ  เด็กแรกเกิด ผู้มีรายได้น้อย  เราไม่ได้ทำบัตรคนจน เราทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฉะนั้น คนไทยทุกคน เมื่อเกิดมาจะต้องได้รับการดูแลจากรัฐเรียกว่าสวัสดิการแห่งรัฐ แต่คนแต่ละกลุ่มจะได้รับไม่เหมือนกัน ที่ผ่านมาสามปี หลังจากจัดตั้งรัฐบาล ชัดเจนว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรประชารัฐ เป็นบัตรที่ใช้แล้วเกิดประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ นั่นหมายความว่า นโยบายที่เราหาเสียงไว้ เป็นนโยบายที่สามารถนำไปสู่ภาคปฏิบัติเกิดประโยชน์ประชาชนแต่ละกลุ่ม

 

สอง นโยบายที่ดินทำกิน ในฐานะเคยกำกับดูแลกรมพัฒนาที่ดิน และสำนักงานปฏิรูปที่ดิน ผมให้นโยบายชัดเจนว่า จะยึดที่ดินของหลวงที่ตกอยู่ในกลุ่มนายทุนนำมาคืนประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งทำมาเกือบทุกจังหวัด  การกำหนดใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งกรอบเวลาที่ผ่านมา ในอดีตทำยากในที่ดินส.ป.ก.ต้องทำภาคการเกษตรเท่านั้น ซึ่งบริบทของพื้นที่ในประเทศไทยเปลี่ยนไป จากเคยเป็นป่า ทุ่งนา ตอนนี้เป็นชุมชน  ผมทำแก้กฎหมาย แก้ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน ออกเป็นประกาศสองฉบับ นั่นคือ ประกาศที่เกี่ยวกับกิจการที่สนับสนุนการเกษตร และกิจการที่เกี่ยวเนื่องการเกษตร

 

ดังนั้น  ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 40 กว่าล้านไร่ในส.ป.ก.ถูกแก้ไขและเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน  อย่างที่เราหาเสียงไว้ว่าเราจะทำส.ป.ก. ให้เป็น"ส.ป.ก.ทองคำ" ผมทำจนจบ  ซึ่งเป็นนโยบายที่เราหาเสียงเอาไว้ 

 

แล้วจุดอ่อนของพรรคหล่ะ?   

แม่บ้านพรรคพปชร.  ตอบตรงไปตรงมาว่า ภาพออกมาภายนอกมีแต่ความแตกแยก แต่อยากเรียนว่า พรรคพปชร.จริงๆแล้ว ส.ส.ร้อยกว่าชีวิตเรารักกันโดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นผู้บัญชการคนเดียวกัน  มีจิตใจเอ็นดู ใส่ใจลูกพรรคทุกคน และให้การแก้ไขอย่างทันท่วงที่มาโดยตลอด เพราะฉะนั้น สมาชิกสภาผู้แทน พปชร. ไปในทิศทางเดียวกัน แต่ภาพที่ออกมามีความขัดแย้งกันตลอดนั่นคือหัวหน้ากลุ่มแต่ละกลุ่ม ซึ่งถามว่า ภาพที่ออกมาทะเลาะกันจริงๆเจอกันไม่มีอะไร คุยกันจบก็จบ ไม่มีการเอาความหลังมาหาเรื่องกัน ไม่มี เราเดินไปด้วยกัน  เรายึดหัวหน้าเป็นที่ตั้ง" 

 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์และเลขาธิการพรรคพปชร.

 

มาถึงตรงนี้เราจึงถามว่าทุกครั้งของการลงพื้นที่หาเสียงจำเป็นต้องชูว่าที่ผู้นำประเทศด้วย  แล้วการเลือกตั้งสมัยหน้าจะเสนอใครเป็นนายกฯอย่างเต็มปากเต็มคำ  

 

"คำถามนี้ ผมถูกถามมาโดยตลอด และคณะกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดคุยมาโดยตลอด ทุกครั้งที่เราจะชูใครเป็นนายกฯครั้งต่อไป ขอคุยกรรมการบริหาร และนำเสนอท่านหัวหน้า ท้ายสุดอยู่ที่หัวหน้า เสนอใคร เราก็ยอมรับ"  ร.อ.ธรรมนัส กล่าว 

 

"ร.อ.ธรรมนัส" ได้เปิดเผยสโลแกนประจำตัวด้วยว่า  "ตัวผมเอง เป็นเด็กบ้านนอกมาถึงทุกวันนี้ มีความตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติบ้านเมือง พี่น้องประชาชน สิ่งที่เรานำมาเป็นแนวทางการเมือง เราจะทุ่มเททุกอย่าง  ให้ใจสั่งสมองทำงานเพื่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชน ไม่ใช่สมองสั่งใจทุกอย่างต้องทำจากใจ " 

 

"ใจสั่งสมองให้ทำงาน ไม่ใช่สมองสั่งใจ"  เลขาธิการพรรคพปชร. ย้ำเสียงหนักแน่น  
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ