คอลัมนิสต์

สภาล่มซ้ำซาก.. สนิมเนื้อในพรรคร่วมรัฐบาล จุดวิกฤตและตัวแปรสู่การยุบสภา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ถ้าเลือกได้..รัฐนาวา “ลุงตู่” คงไม่อยากได้ยินคำว่า “สภาล่ม” แต่เมื่อ “ลุงตู่-ลุงป้อม” ไม่สามารถคุมเสียงในสภาได้ ก็ต้องยอมรับความจริงและหาทางแก้ไขปัญหาสภาล่มให้ได้ ไม่เช่นนั้นปัญหาสภาล่มซ้ำซาก อาจเป็นจุดวิกฤตและตัวแปรที่นำไปสู่การยุบสภาได้

ห้วงเวลาเพียงแค่เดือนครึ่ง นับแต่วันเปิดการประชุมสภา สมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 64 คำว่า “สภาล่ม” ก็อาจกลายเป็นคำ “แสลงหู” ในสายตาของนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ไปแล้วเพราะในการประชุมสภาของทุกวันพุธ วันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ที่มีขึ้นในทุกสัปดาห์นั้น ไม่มีวันไหนที่จะไม่ลุ้นกันว่าสภาจะล่มหรือไม่ 

 

สภาล่มซ้ำซาก.. สนิมเนื้อในพรรคร่วมรัฐบาล จุดวิกฤตและตัวแปรสู่การยุบสภา

 

เนื่องจากทางฝ่ายค้านประกาศชัดเจนว่าองค์ประชุมจะครบหรือไม่ครบนั้น ให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายเสียงข้างมาก คือส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ในการเข้าประชุมสภา ส่วนฝ่ายค้านเมื่อเข้าประชุม อาจไม่กดบัตรแสดงตน และถ้าเสียงส.ส.ในห้องประชุมมีไม่ถึงครึ่งหนึ่ง สภาล่ม! แน่นอน

 


 

“คมชัดลึก” ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ "สภาล่ม" ที่ปรากฏอย่างชัดเจน นับแต่วันเปิดประชุมสภาวันแรก ในการประชุมสภา สมัยประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 2/2564 พบว่ามีอยู่ 4 ครั้งด้วยกันดังนี้คือ...

 

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 64 ในระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา จำนวน 11 มาตรา โดยพบว่าการลงมติในแต่ละมาตรา องค์ประชุมบางตา บางมาตรามีองค์ประชุมอยู่แค่ 242 คน เกินกึ่งหนึ่งมาแค่ 4 เสียง เมื่อมาถึงมาตรา 6  นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้กดออดเรียกสมาชิกเพื่อเข้ามาแสดงตนอยู่เกือบ 5 นาที แต่สมาชิกในที่ประชุมเหลือน้อยคน ส่อเค้าอาจไม่ครบองค์ประชุม  นายสุชาติตัดสินใจชิงปิดประชุมทันที โดยกล่าวว่า “เอาไว้ประชุมกันคราวต่อไป” และสั่งปิดประชุมเวลา 17.20 น. ถือเป็นเหตุสภาฯ ล่ม ประเดิมการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก 

 

สภาล่มซ้ำซาก.. สนิมเนื้อในพรรคร่วมรัฐบาล จุดวิกฤตและตัวแปรสู่การยุบสภา

 

ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 64 ในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เครื่องสำอาง ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ซึ่งพบว่ามีผู้อภิปรายเหลือเพียงไม่กี่คน และจำนวนสมาชิกในห้องประชุมมีจำนวนมไม่มาก เพราะมีเพียงฝ่ายค้าน 4 คนเท่านั้น หากให้มีการนับองค์ประชุม จะไม่เกิดปัญหา แต่หากปล่อยให้มีการอภิปรายนานกว่านี้ แล้วมีการเสนอนับองค์ประชุมขึ้นมา อาจทำให้องค์ประชุมไม่ครบและเกิดปัญหาสภาล่มได้ จึงได้ชิงสั่งปิดการประชุมสภาในเวลาประมาณ 16.10 น.
 

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 64 ในระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ที่มี นายวิรัช พันธุมะผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ หลังจากที่ส.ส.อภิปรายครบถ้วนแล้ว แต่ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงขอให้ครม.ขอรับร่างฉบับนี้ไปพิจารณาเป็นเวลา 60 วัน จากนั้นเวลา 16.25 น. นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม จึงกดออดเรียกสมาชิกมาแสดงตน เพื่อลงมติส่งเรื่องให้ครม.พิจารณาหรือไม่ นายสุชาติ กดออดเรียกอยู่ 2-3 นาที แต่ภายในห้องประชุมก็ยังมีส.ส.บางตา เมื่อส.ส.กดบัตรแสดงตนครบถ้วนแล้ว นายสุชาติ ทิ้งระยะเวลาอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะบอกว่า “ไม่ครบอีกแล้วหรือครับ” และสั่งปิดประชุมทันที โดยไม่ยอมขานคะแนนว่ามีองค์ประชุมอยู่เท่าใด

 

ครั้งที่ 4 วันที่ 17 ธ.ค. 64 ในวาระรายงานการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน กมธ.ฯ พิจารณาเสร็จเเล้วเสนอเข้ามาพิจารณา โดยมี นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม  การพิจารณาวาระดังกล่าว มี ส.ส.อภิปรายทั้งเห็นด้วย เเละไม่เห็นด้วย ทำให้ในเวลา 10.49 น. ประธานในที่ประชุม ได้กดออดเรียก สมาชิกเข้ามาเสียบบัตรแสดงตนตรวจสอบองค์ประชุม ผ่านไป 2 นาที ห้องประชุมยังคงบางตา ประธานจึงขอสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 30 นาที

 

สภาล่มซ้ำซาก.. สนิมเนื้อในพรรคร่วมรัฐบาล จุดวิกฤตและตัวแปรสู่การยุบสภา

 

ต่อมาเวลา 11.25 น. พอกลับมาประชุมกันอีกครั้ง ที่ประชุมสภาฯ ยังกล่าวโยนความรับผิดชอบเรื่ององค์ประชุมกันไปมา ขณะที่นายศุภชัย พยายามกดออดเรียกสมาชิก น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้เช็กองค์ประชุมแบบขานชื่อ โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย สนับสนุน

 

กระทั่งเวลา 11.39 น. องค์ประชุมสภาฯ ก็ล่ม เมื่อประธานในที่ประชุมได้ให้สมาชิกสภาฯ กดบัตรแสดงตน และเมื่อเวลาผ่านไป 11 นาที นายศุภชัย แจ้งผลการนับองค์ประชุม ปรากฏว่ามีเพียง ส.ส.กดบัตรแสดงตนจำนวน 235 คน จากสมาชิกทั้งหมด 476 คน ถือว่าไม่ถึงครึ่งหนึ่ง องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้นายศุภชัยสั่งปิดประชุมในเวลา 11.50 น.

 

เหตุการณ์สภาล่มที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกเดือน บอกชัดเจนว่าพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ไม่สามารถควบคุมเสียงในสภาได้ แม้จะมีการตั้งประธานวิปฝ่ายรัฐบาลคนใหม่คือ นายนิโรธ สุนทรเลขา เข้าทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ แทนนายวิรัช รัตนเศรษฐ ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนายนิโรธ เคยบอกว่าเขาอาจช่วยทำให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “อุ่นใจ” ได้กับปัญหาสภาล่ม ที่จะไม่เกิดขึ้นอีกหรืออาจจะเกิดขึ้นน้อยลง เพราะเขาเองก็มั่นใจในทีมวิปรัฐบาลที่จะช่วยในการประสานงาน ทั้งในส่วนของครม. และส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดให้เข้าร่วมประชุมสภาและโหวตผ่านกฎหมายทุกครั้ง ป้องกันปัญหานับองค์ประชุมไม่ครบและเกิดสภาล่มซ้ำซาก

 

สภาล่มซ้ำซาก.. สนิมเนื้อในพรรคร่วมรัฐบาล จุดวิกฤตและตัวแปรสู่การยุบสภา

 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ได้กำชับหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล กลางวงประชุมคณะรัฐมนตรี ให้ช่วยกันกำชับเข้มงวด ส.ส.แต่ละพรรค เข้าร่วมประชุมสภาอย่างพร้อมเพรียง เพื่อป้องกันเรื่ององค์ประชุมไม่ครบ หรือสภาล่ม เนื่องจากมีกฎหมายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องพิจารณาเร่งรัดให้ผ่านโดยเร็ว ซึ่งนายกฯ ได้ย้ำในเรื่องนี้มาอย่างน้อยสองถึงสามครั้งแล้ว และยังเคยพูดย้ำเอาไว้เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 64 ว่า

 

สภาล่มซ้ำซาก.. สนิมเนื้อในพรรคร่วมรัฐบาล จุดวิกฤตและตัวแปรสู่การยุบสภา

 

"วิปฝ่ายรัฐบาล และวิปฝ่ายค้าน ต้องคุยกันให้รู้เรื่อง เรื่องไหนสำคัญ เรื่องไหนจำเป็นต้องออก อันไหนที่เป็นกฎหมายที่จะเพิ่มขีดความสามารถทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อมหรือการศึกษา รวมทั้งการปฏิรูปต่าง ๆ เหล่านี้ มันต้องออก ไม่ใช่จะบอกว่าไม่ออกเพื่อให้รัฐบาลล้ม ผมว่าใจร้ายเกินไป ใจร้ายกับประเทศเกินไปผมว่านะ”  

 

ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก็ได้กำชับ ส.ส.พรรคให้เข้าร่วมประชุมสภาและอยู่จนเลิกประชุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาองค์ประชุม หรือสภาล่ม โดยขอให้ทั้งส.ส. และรัฐมนตรีของพรรคมาประชุมสภา ในการประชุมพรรคพลังประชารัฐ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 64 พร้อมขู่ว่าหากมีการนับองค์ประชุม ทางพรรคพลังประชารัฐ จะปริ้นรายชื่อส.ส.ออกมาดู และจะส่งรายชื่อทั้งหมดให้ พล.อ.ประวิตร ดูว่ามีรัฐมนตรี หรือส.ส.คนไหน ขาดประชุมสภา รวมถึงรายชื่อ ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ขาดประชุมสภาด้วย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะรัฐมนตรีและส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐเพียงพรรคเดียว ซึ่งในการประชุม พล.อ.ประวิตร ได้กำชับหลายครั้งและพูดทิ้งท้ายว่า “ถ้าองค์ล่มบ่อย ๆ ก็จะโดนบอกให้ยุบสภา”

 

สภาล่มซ้ำซาก.. สนิมเนื้อในพรรคร่วมรัฐบาล จุดวิกฤตและตัวแปรสู่การยุบสภา

 

ขณะที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานวิปพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเหตุการณ์สภาล่ม เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 64 ว่า เรื่ององค์ประชุมถือเป็นความรับผิดชอบของทุกฝ่าย เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจน ส.ส.มีฐานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ทั้งนี้ ในกรณีขอตรวจสอบองค์ประชุม หรือไม่แสดงตน เป็นสิทธิ์ของฝ่ายค้านที่จะสามารถทำได้ เพราะฝ่ายรัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบในฐานะเสียงข้างมาก

 

สภาล่มซ้ำซาก.. สนิมเนื้อในพรรคร่วมรัฐบาล จุดวิกฤตและตัวแปรสู่การยุบสภา

 

"ที่ผ่านมาการที่ฝ่ายค้านวอล์คเอ้าท์ หรือขอนับองค์ประชุม กระทำก็ต่อเมื่อต้องการตอบโต้รัฐบาล แต่วันนี้มีการพิจารณาเรื่องญัตติที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งเมื่อผมตรวจสอบญัตตินี้เกือบทุกพรรคเสนอเข้ามา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติโดยเฉพาะ ไม่ใช่เรื่องขัดแย้งของฝ่ายค้านและรัฐบาล หรือไม่ใช่เรื่องขัดแย้งในข้อกฎหมายของคณะรัฐมนตรีและเสียงข้างน้อยในสภา" 

 

ฟาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) เคยยืนยันเอาไว้เมื่อ 4 พ.ย. 64 ว่าปัญหาสภาล่มนั้น ไม่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทย และก็ไม่เกี่ยวกับปัญหาของรัฐบาล โดยมองว่าเป็นเรื่องของสภาฯ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล คนละส่วนกัน และไม่ได้สะท้อนถึงเสถียรภาพของรัฐบาลเลย "ไม่มี ไม่เกี่ยวเลย"

 

สภาล่มซ้ำซาก.. สนิมเนื้อในพรรคร่วมรัฐบาล จุดวิกฤตและตัวแปรสู่การยุบสภา

 

ส่วนคนนี้ นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน พูดถึงปัญหาสภาล่มที่เกิดขึ้น 2 ครั้งในรอบสัปดาห์ เอาไว้เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 64 ว่า ขอแนะนำว่าแค่รัฐบาลเพียงสร้างความเป็นเอกภาพในพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้แค่นั้นก็จบ และขอให้ ส.ส.รัฐบาลตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของ ส.ส.รัฐบาลว่า ต้องทำอะไรบ้าง หากทำได้สองเรื่องนี้คิดว่าปัญหาก็จบ

 

สภาล่มซ้ำซาก.. สนิมเนื้อในพรรคร่วมรัฐบาล จุดวิกฤตและตัวแปรสู่การยุบสภา

 

พร้อมกันนี้ นายสุทิน ยังย้ำว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น มีความบกพร่องไปเป็นลำดับ เริ่มตั้งแต่ ส.ส.รัฐบาลเองที่ขาดสำนึกความรับผิดชอบ ประธานวิปรัฐบาล อาจมีปัญหาในการประสานงานกับ ส.ส. เพราะเรื่องนี้ฝ่ายค้านส่งสัญญาณเตือนตลอด แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ รวมไปถึงระดับบน คือตัว พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่สามารถสร้างความเป็นเอกภาพในรัฐบาลได้ จึงส่งผลให้เกิดสภาล่ม 

 

“เรื่องการไม่แสดงตัวเป็นองค์ประชุม เป็นมาตรการของฝ่ายค้านที่จะกระตุ้นให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับงานสภาฯ ซึ่งมาตรการนี้ฝ่ายค้านทำอย่างเปิดเผยมาตลอด ไม่ได้ฉวยโอกาสทำทีเผลอแต่อย่างใด หากนายกฯ แก้ปัญหาไม่ได้ ก็ไม่ควรอยู่ในตำแหน่งต่อไป เพราะผมเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเจตนาของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลบางส่วนด้วย ซึ่งนายกฯ ต้องลงไปดูในรายละเอียดให้ดี” 

 

สำหรับ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย มือเสนอนับองค์ประชุม บอกกับ “คมชัดลึก” ว่า สภาล่มทุกครั้ง ล้วนเกิดขึ้นจากปัญหาภายในพรรครัฐบาลเอง ทุกพรรคในรัฐบาล ล้วนแต่มีปัญหาเกิดขึ้นในพรรคของตัวเองทั้งนั้น รัฐบาลคุมเสียงในสภาไม่ได้ เสี่ยงปริ่มน้ำตลอดเวลา ซึ่งฝ่ายค้านบังคับให้รัฐบาลทำงานสภาและทำเสียงองค์ประชุมให้ครบเพราะรัฐบาลเป็นเสียงข้างมาก แต่สภาล่มครั้งล่าสุดนี้แย่มากเพราะทุกคนรู้อยู่แล้วว่าเปิดประชุมสภามาจะต้องมีการลงมติ แต่สุดท้ายก็สภาล่ม ปิดประชุม ก็อยากให้รัฐบาลมีความเข้มงวดมากกว่านี้ อย่าผลักภาระให้ฝ่ายค้าน 

 

สภาล่มซ้ำซาก.. สนิมเนื้อในพรรคร่วมรัฐบาล จุดวิกฤตและตัวแปรสู่การยุบสภา

 

“สภาล่มบ่อย อาจนำไปสู่การยุบสภาและทำให้การเลือกตั้งเกิดได้เร็วขึ้น เพราะฝ่ายค้านนั้นพร้อมเสมอกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ เราอยากเปลี่ยนรัฐบาลอยู่แล้ว” 

 

“คมชัดลึก” ประมวลเรื่องราวปัญหาสภาล่มที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว คงไม่ผิดถ้าจะมองว่านี่ล้วนแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองล้วน ๆ ไม่ใช่ปัญหาจากฝ่ายค้าน เพราะถ้าพรรคร่วมรัฐบาลร่วมมือกันดี จับมือกันแน่น เข้าประชุมสภาครบ ปัญหาสภาล่ม องค์ประชุมไม่ครบ จะไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์สภาล่ม ก็ล้วนแต่มาจากปัญหาความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นจุดวิกฤตและตัวแปรที่นำไปสู่การยุบสภาได้ นี่เป็นปัญหาสนิมเนื้อในพรรคร่วมรัฐบาล ดังโคลงโลกนิติ ที่บอกเอาไว้ว่า...

“สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ ในตน กินกัดเนื้อเหล็กจน กร่อนขร้ำ..”

สภาล่มซ้ำซาก.. สนิมเนื้อในพรรคร่วมรัฐบาล จุดวิกฤตและตัวแปรสู่การยุบสภา

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ