คอลัมนิสต์

ไทยผวาตกขบวนรถไฟเส้นทางสายไหม โดยรามจักร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระแสตื่นตัวจากการเดินรถจีน-ลาวดังกล่าว สะเทือนไปทั้งภาคอีสานและภาคเหนือ ส่งผลไปถึงสภาพทางเศรษฐกิจ หากไทยยังนิ่ง ก็คงตกขบวนรถแล้ว ถ้าแก้ไขไม่ได้ประเทศไทยก็จะกลายเป็นชนบทชายแดนของประเทศลาว ติดตามได้จากเจาะประเด็นร้อน โดย รามจักร

รถไฟในเส้นทางสายไหมจีน-ลาวจากคุนหมิง-เวียงจันทร์ ซึ่งทำสัญญาร่วมทุนกับจีนหลังไทยทำสัญญาเกือบ 2 ปี ได้เปิดการเดินรถอย่างเป็นทางการแล้วในวันชาติลาวเมื่อ 2 ธันวาคม 2564

 

เพียงไม่ถึงสัปดาห์มีผู้โดยสารร่วมแสนคนจนต้องเพิ่มขบวนรถขึ้นอีก 3 เท่าตัว


กระแสตื่นตัวจากการเดินรถจีน-ลาวดังกล่าว สะเทือนไปทั้งภาคอีสานและภาคเหนือ ทั้งในด้านการค้าและในด้านการท่องเที่ยวเพราะนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะไปจุกอยู่ที่ลาวและการค้าต่างประเทศของไทยก็จะสู้ลาวไม่ได้

 

เพราะเส้นทางขนส่งสินค้าของไทยมีทางออกอยู่ทางเดียว คือ แหลมฉบัง-มาบตาพุด ซึ่งใช้เวลานานและต้นทุนสูง จะไปอาศัยรถไฟลาว-จีนก็ต้องขนของขึ้นรถยนต์ผ่านหนองคายไปเวียงจันทร์และไปเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟลาว-จีน เสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายและเบี้ยใบ้รายทางมากมาย

 

หรือท่าจะไปทางเวียดนามก็ต้องขนทางรถยนต์ผ่านหนองคายเข้าเวียงจันทร์ไปถึงด่านดั่งดงชายแทนลาวเวียดนามแล้วขนขึ้นรถไฟไปที่มณฑลกวางสี เสียเวลาเสียค่าขนส่งเปลี่ยนรถและเบี้ยใบ้รายทางมากมาย

 

กระแสตื่นตัวการท่องเที่ยวตลอดเส้นทางรถไฟจีน-ลาวเกือบ 20 สถานีที่ค่าโดยสารก็ถูกเพียง 460 บาท ค่าที่พักก็ราคาถูกคืนละไม่กี่ร้อยบาทหรือไปพักโรงแรม 5 ดาวที่สิบสองปันนาก็แค่คืนละ 3,500 บาท ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยผวาเพราะคนไทยทั้งประเทศก็จะแห่กันไปเที่ยวตามเส้นทางสายนี้ซึ่งแปลกใหม่และใช้จ่ายถูกกว่า


เป็นแรงกดดันให้ไทยต้องรีบเชื่อมรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนกับลาวที่เวียงจันทร์โดนเร็วที่สุด

 

ขณะนี้สถานทูตไทยในปักกิ่งกำลังเจรจากับจีนโดยเรื่องนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้สั่งการไปนานแล้วและสั่งกำชับไปหลายครั้งก็ไม่คืบหน้า มีการเจรจาไทย-จีนที่ปักกิ่งถึงสองครั้งก็ไม่มีข้อยุติใด ๆ


มิหนำซ้ำยังมีมือดีชงเรื่องผิด ๆ ให้พลเอกประยุทธ์แถลงกับชาวบ้านว่ารถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะเปิดเดินรถได้ในปี 2568 และนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมไทยกับอาเซียน ซึ่งใครฟังแล้วก็ตกใจ


เพราะกระทรวงคมนาคมเพิ่งแถลงว่ารถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพฯ-โคราช จะแล้วเสร็จและเดินรถได้ในปี 2570 ซึ่งยังเชื่อมต่อกับรถไฟเส้นทางสายไหมไม่ได้

 

ส่วนช่วงโคราชไปหนองคายก็ไม่แน่ว่าจะก่อสร้างเสร็จเมื่อใด ถึงก่อสร้างเสร็จถ้าเชื่อมจากหนองคายไปเวียงจันทร์ไม่ได้ก็เป็นแค่รถไฟภายในประเทศอยู่ดี


สำหรับนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีนั้นมีขนาดไม่ใหญ่และไม่มีเส้นทางใดเชื่อมต่อกับประเทศอาเซียนเลย มีแต่ทางรถยนต์และรถไฟรางกว้าง 1 เมตร ซึ่งเชื่อมกับใครไม่ได้ จากอุดรธานีไปหนองคายไปเวียงจันทร์และไปสิ้นสุดลงที่สถานีที่ไม่อาจเชื่อมต่อกับสถานีเวียงจันทร์-คุนหมิงเสียอีก


สภาพดังกล่าวคือสภาพที่ไทยตกขบวนรถแล้ว ถ้าแก้ไขไม่ได้ประเทศไทยก็จะกลายเป็นชนบทชายแดนของประเทศลาว และส่งผลกระทบทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยว อย่างรุนแรง จึงเกิดเป็นกระแสกดดัน


ดังนั้น การเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟเส้นทางสายไหมที่จะทำให้ไทยไม่ตกขบวน จึงต้องรีบเชื่อมเส้นทางจากหนองคายเวียงจันทร์ให้เร็วที่สุด ซึ่งมีระยะทางเพียง 16 กิโลเมตร

 

แต่เป็นเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศที่ไทยและลาวทำโดยลำพังไม่ได้ และแม้ไทยลาวร่วมกันทำก็ยังไม่ได้เพราะต้องทำร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ไทย ลาว และจีน เพราะเป็นเส้นทางระหว่างประเทศที่ต้องมีทั้งด่านศุลกากรและด่านตรวจคนเข้าเมืองด้วย


การทำเรื่องนี้ให้สำเร็จโดยเร็วจึงไม่มีทางอื่นนอกจากตั้งคณะกรรมพิเศษแล้วพลเอกประยุทธ์เป็นประธานเอง ทำหน้าที่เจรจาเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายในไม่เกิน 90 วัน เพื่อเร่งก่อสร้างทางรถไฟเส้นทางสายไหมจากหนองคายถึงเวียงจันทร์ให้เปิดเดินรถได้ภายในปี 2566
 

เรื่องนี้ถึงเวลาที่รัฐบาลและคนไทยจะได้ตื่นจากข่าวลวงโลกที่สมุนบริวารต่างชาติที่พยายามทำให้ประเทศไทยต้องปิดพรมแดนด้านเหนือและอีสานได้แล้ว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ