คอลัมนิสต์

บ้านใหญ่โมเดล "ธรรมนัส" ยึดปักษ์ใต้ ล้างเครือข่ายเพื่อนประยุทธ์

12 ธ.ค. 2564

ต่อยอดจากพัทลุง "ธรรมนัส" เจาะฐานบ้านใหญ่ปักษ์ใต้ ยึดทีละจังหวัด ลบคำปรามาสของ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล ไม่พึ่งกระแสประยุทธ์ ก็เอาชนะคู่แข่งได้ คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

ปักษ์ใต้เปลี่ยน “ธรรมนัส” ล้างบางเครือข่ายเพื่อนประยุทธ์ จัดทีมใหม่เน้นนักการเมืองท้องถิ่น มีฐานแน่น มีทุนหนา ลบคำปรามาส อยากได้ ส.ส.ใต้ ต้องอาศัยกระแสลุงตู่

 

ปฏิบัติการคว้าตระกูลธรรมเพชร มาสวมเสื้อ พปชร. “ธรรมนัส” โชว์เหนือ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล แต่ส่องลึกลงไป เหมือนมีลับลวงพราง เป็นงานสร้างภาพสร้างราคาของใครบางคน

 

ยาม ปชป.อ่อนแรง “ธรรมนัส” ใช้โมเดลบ้านใหญ่ลุยสนามปักษ์ใต้ และไม่ต้องพึ่งกระแสลุงตู่เหมือนปี 2562

 

ควันหลงจากการเปิดตัว วิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง พาลูกชายคนโต มาสวมเสื้อพลังประชารัฐ งานนี้ทำเอา ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ลบคำสบประมาท ค่าย พปชร.ใต้ ไม่มีผู้การชาติ จะไปต่อยาก

นับจากวันที่ผู้การชาติ หันหลังให้กับพรรคพลังประชารัฐ ร.อ.ธรรมนัส ก็เข้ามาดูแล 14 จังหวัดภาคใต้ ทั้งตอนบนและตอนล่าง

 

ประเดิมงานแรก พา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ล่องใต้ไป อ.สุไหง-โกลก ที่มั่นของ สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ ส.ส.นราธิวาส และกูเซ็ง ยาวอหะซัน นายก อบจ.นราธิวาส โดยบิ๊กป้อมมอบให้สัมพันธ์ และกูเซ็ง ยาวอหะซัน จัดทัพเลือกตั้ง หวังกวาดเก้าอี้ ส.ส.นราธิวาสให้ได้มากที่สุด

 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คงสรุปจากผลการเลือกตั้งทั่วไป 2562 กรณี ปชป.แพ้ยับเยินว่า นับจากนี้ไป พรรคไหนก็ปักธงที่ปักษ์ใต้ หากได้ผู้สมัคร ส.ส.ที่มีชื่อเสียง ฐานเสียงแน่น และมีเครือข่ายทุนท้องถิ่น

 

‘เครือข่ายบ้านใหญ่’

 

ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของพลังประชารัฐภาคใต้ โดยแม่ทัพ “ธรรมนัส” ย่อมแตกต่างจากสมัยที่แล้ว ที่มีเพื่อนประยุทธ์เป็นแกนหลักคือ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล (ตท.12),พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ (ตท.12) และ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ (ตท.12) นำทัพเลือกตั้ง

กลยุทธ์หาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. ของอดีตนายทหาร ตท.12 จะเน้นการสร้างเครือข่ายงานมวลชน และเลือกเฟ้นตัวผู้สมัคร ส.ส. จากผู้นำภาคประชาสังคม ซึ่งตรงกันข้ามกับ ร.อ.ธรรมนัส

 

สำหรับ “ธรรมนัส” จะพุ่งเป้าไปที่นักการเมืองท้องถิ่น หรือบ้านใหญ่ในแต่ละจังหวัด ยกตัวอย่างกูเซ็ง ยาวอหะซัน นายก อบจ.นราธิวาส หรือ วิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง

 

สุราษฎร์ธานีก็อยู่ในเป้าหมายของ ร.อ.ธรรมนัส เพราะเขารู้จักมักคุ้นกันดีกับกำนันศักดิ์ หรือ พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ที่สร้างปรากฏการณ์คว่ำเต็งหนึ่งอดีต ส.ส. 6 สมัยค่าย ปชป.

ธรรมนัส คว้าตระกูลธรรมเพชร ออกจากค่าย ปชป.

กำนันศักดิ์ ทำธุรกิจเพาะเลี้ยงหอยแครงและหอยนางรม ก่อนจะเข้าสู่การเมืองท้องถิ่นเป็น ส.อบจ.สุราษฎร์ เขต อ.กาญจนดิษฐ์ และมีชื่อเสียงโด่งดังในยุคข่าวสงครามคอกหอย

 

ชายฝั่งอันดามัน “ธรรมนัส” มี ธนกร บริสุทธิญาณี นายก อบจ.ระนอง เป็นพันธมิตรทางการเมือง ซึ่งปลายปี 2563 ธนกรเอาชนะคู่แข่งจากกลุ่มระนองก้าวหน้า ของกลุ่มลูกชิ้นหมูฮั้งเพ้ง ยึด อบจ.ระนองสำเร็จ

 

สมัยก่อน บ้านใหญ่โมเดลในภาคใต้ ไม่อาจเอาชนะกระแสเทพชวนได้ แต่ชัยชนะของภูมิใจไทยที่พัทลุง ,สตูล, กระบี่ และระนอง สะท้อนพลังของบ้านใหญ่ที่สามารถล้มแชมป์เก่า ปชป.ลงได้

 

‘ลูกช้างเปลี่ยนสีเสื้อ’

โมเดลบ้านใหญ่ของ “ธรรมนัส” ยังคืบคลานเข้ามาใน จ.ชุมพร เมื่อคอการเมืองแถว อ.สวี พูดกันให้แซดว่า ลูกช้าง สุพล จุลใส ส.ส.ชุมพร เขต 3 สมัยหน้าจะย้ายจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย ไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ

 

ดังนั้น วันที่ 17 พ.ย.2564 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค จึงไปปรากฏตัวในพื้นที่ อ.สวี บ้านเกิดของลูกช้าง

 

แม้วันนั้น จะมีแต่ลูกหมี ชุมพล จุลใส และนพพร อุสิทธิ์ นายก อบจ.ชุมพร ออกมาต้อนรับบิ๊กป้อม แต่คนชุมพรก็รับรู้เรื่องสุพล จุลใส จะย้ายไปอยู่พลังประชารัฐ นานนับเดือนแล้ว

 

สไตล์การทำงานแบบถึงลูกถึงคนของ ร.อ.ธรรมนัส บวกกับบุคลิกพี่ใหญ่ใจดี ทำให้นักเลือกตั้งบ้านใหญ่ ชื่นชอบและอยากมาร่วมงานด้วย

 

ที่สำคัญ สนามชุมพร ก็เป็นการโคจรมาพบกันของ ร.อ.ธรรมนัส กับ พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ เพื่อนประยุทธ์ ที่ทิ้ง พปชร. และหันไปสนับสนุนค่ายบุรีรัมย์แทน