คอลัมนิสต์

ย้อนตำนาน "มหาเถรสมาคม" เหลียวหลังแลหน้า ผ่ากฎหมายสงฆ์จากอดีตถึงปัจจุบัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหลียวหลังแลหน้า ผ่ากฏหมายสงฆ์ จากอดีตถึงปัจจุบัน ที่ "พระมหากษัตริย์" ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจ ในการแต่งตั้งกรรมการ "มหาเถรสมาคม"

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงจัดให้มีการปฏิรูปการปกครองบ้านเมือง โดยให้ภูมิภาค ขึ้นตรงกับส่วนกลาง ซึ่งการปกครองคณะสงฆ์ พระองค์ก็ทรงใช้หลักการเดียวกัน โดยให้คณะสงฆ์ทั้งประเทศ อยู่ภายใต้การปกครองและควบคุมจากส่วนกลาง ตามประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 โดยกำหนดให้มี "มหาเถรสมาคม" ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนา และการปกครองบำรุงสังฆมณฑล
 

 

ย้อนตำนาน "มหาเถรสมาคม" เหลียวหลังแลหน้า ผ่ากฎหมายสงฆ์จากอดีตถึงปัจจุบัน

การตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ฉบับนี้ กำหนดให้มี 45 มาตรา และให้เสนาบดีกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษา) รักษาการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ที่มีจุดประสงค์หลัก ทรงหวังจะส่งเสริมสนับสนุนการปฏิบัติธรรมวินัย ให้สอดคล้องกับการปกครองบ้านเมือง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงกำหนดให้มีเจ้าคณะใหญ่อีก 4 คณะ รวมเป็น 8 รูป ทั้ง 8 รูปนี้เป็น "กรรมการมหาเถรสมาคม" ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์ทั่วราชอาณาจักร และกำหนดให้มี "สมเด็จพระสังฆราช" พระองค์เดียวเป็นผู้บัญชาเด็ดขาด เป็นประธานของมหาเถรสมาคม ส่วนขอบข่ายการปกครอง ถูกแบ่งออกเป็นมณฑล เมือง แขวง และวัด ทั้งหมดนี้แบ่งกันขึ้นตามคณะใหญ่ทั้ง 4 คณะ สำหรับคณะธรรมยุตินั้น เดิมรวมอยู่กับคณะกลาง และได้แยกเป็นคณะต่างหาก ครั้งแรกนั้นไม่มีเจ้าคณะใหญ่ กระทั่ง พ.ศ.2393 กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะใหญ่ และต่อมา ยังทรงได้รับการสถาปนา เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 8 และนับเป็นพระเถระ หนึ่งในผู้เป็นต้นวงศ์ของฝ่ายธรรมยุต แต่ดำรงตำแหน่งได้เพียง 10 เดือนก็สิ้นพระชนม์ 

 

 

ย้อนตำนาน "มหาเถรสมาคม" เหลียวหลังแลหน้า ผ่ากฎหมายสงฆ์จากอดีตถึงปัจจุบัน

 

กฎหมายฉบับต่อมา คือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 ที่ให้อำนาจพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยสมเด็จพระสังฆราชทรงออกบัญญัติสังฆาณัติ บริหาร และวินิจฉัยอธิกรณ์ ผ่านสังฆสภาสังฆมนตรี และคณะวินัยธร เพื่อให้ล้อตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยในช่วงเวลานั้น
 

อีก 21 ปีต่อมา จึงตรา พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แต่สาระสำคัญยังคงให้อำนาจพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช แต่ยกเลิกสังฆมนตรี สังฆสภา และคณะวินัยธร และให้การปกครองคณะสงฆ์ อยู่ภายใต้ "มหาเถรสมาคม" ที่ประกอบด้วยสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งขึ้น จำนวนไม่เกิน 12 รูป

 

 

ย้อนตำนาน "มหาเถรสมาคม" เหลียวหลังแลหน้า ผ่ากฎหมายสงฆ์จากอดีตถึงปัจจุบัน

 

30 ปีให้หลัง จึงมีการผลักดันกฎหมาย พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ที่ภาคการเมืองเข้าไปมีส่วนมากขึ้น จึงกำหนดสาระเพิ่มเติมให้ "นายกรัฐมนตรี" โดยความเห็นชอบของ "มหาเถรสมาคม" เสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงสถาปนาเป็น "สมเด็จพระสังฆราช"

 

 

ย้อนตำนาน "มหาเถรสมาคม" เหลียวหลังแลหน้า ผ่ากฎหมายสงฆ์จากอดีตถึงปัจจุบัน

 

กระทั่งมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 10 จึงมีการแก้สาระสำคัญของกฎหมาย มาเป็น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 ซึ่งเปลี่ยนไปให้อำนาจการแต่งตั้ง "สมเด็จพระสังฆราช" กลับไปเหมือนฉบับปี 2505 คือ คืนพระราชอำนาจให้ "พระมหากษัตริย์" ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

 

 

ปัจจุบันที่ยังคงใช้อยู่ คือ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 ที่ถูกแก้ไขให้ "พระมหากษัตริย์" ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง "กรรมการมหาเถรสมาคม" จากเดิมที่ระบุว่า มหาเถรสมาคม ประกอบด้วย "สมเด็จพระสังฆราช" ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการโดยตำแหน่ง สมเด็จพระราชาคณะทุกรูปเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และพระราชาคณะ
ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง มีจำนวนไม่เกิน 12 รูป เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม หรือพูดให้ชัด ก็คือ นอกจากพระมหากษัตริย์ ทรงมีพระราชอำนาจสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชแล้ว พระมหากษัตริย์ยังทรงมีพระราชอำนาจ ในการแต่งตั้ง "มหาเถรสมาคม" อีกด้วย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ