คอลัมนิสต์

"สมเด็จช่วง" พลิกอีกหน้าประวัติ ครั้งหนึ่งในฐานะแคนดิเดต "สมเด็จสังฆราช"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พลิกอีกหนึ่งหน้าประวัติ "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" หรือ "สมเด็จช่วง" ครั้งหนึ่งในฐานะแคนดิเดต "สมเด็จพระสังฆราช"

ย้อนไปถึงการแต่งตั้ง "สมเด็จพระสังฆราช" พระองค์ที่ 20 ซึ่งก็คือองค์ปัจจุบัน คือ "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก" จากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ในยุคนั้นเคยเป็นข่าว และประเด็นร้อนแรง ถูกจับตามองจากทุกฝ่าย เพราะหากแต่งตั้งตามขนบธรรมเนียม ที่ยึดเอาสมณศักดิ์ และวัยวุฒิแล้ว "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" หรือ "สมเด็จช่วง" เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ถือเป็นแคนดิเดตอันดับต้นสุด 

     

 

แต่หลังจากมีกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการเสนอนาม "สมเด็จช่วง" ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช เหตุผลสำคัญคือ รอยมลทินจากข้อครหาหลายประการ ตั้งแต่คดีครอบครองรถหรู ภายหลังกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ พบว่า มีบริษัทนำเข้ารถหรูแบบผิดกฎหมาย และพบรถหรูยี่ห้อเมอร์เซเดสเบนซ์ ทะเบียน ขม 99 รุ่น W186 มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท ที่มีชื่อ "สมเด็จช่วง" เป็นผู้ครอบครอง และต่อมายังพบว่า ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ มีการสะสมรถโบราณไว้เป็นจำนวนมากอีกด้วย 
 

ในช่วงนั้น นาย ศุภภัทร์พจน์ นิติศศธร ฝ่ายกฎหมายวัดปากน้ำฯ ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" ในฐานะผู้ครอบครองรถยนต์โบราณและ "พระมหาศาสนมุนี"(ธนกิจ สุภาโว) หรือ "เจ้าคุณแป๊ะ" ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำฯ และเป็นเลขานุการ "สมเด็จช่วง" ในฐานะผู้ว่าจ้างให้อู่วิชาญ รับเป็นผู้บูรณะรถยนต์โบราณ โดยไม่รู้ว่ารถทั้งหมด มีกระบวนการนำเข้า และจดประกอบอย่างผิดกฎหมาย เนื่องจาก "เจ้าคุณแป๊ะ" ได้ว่าจ้างให้อู่วิชาญ ประกอบรถในราคาเหมาจ่าย เป็นจำนวนเงิน 4 ล้านบาท แบ่งจ่ายออกเป็น 3 งวด โดยงวดสุดท้ายตกลงกับทางอู่ว่า จะจ่ายเมื่อรถซ่อมเสร็จ และได้เล่มทะเบียนรถแล้ว ส่วนกระบวนการนำเข้า พระภิกษุทั้ง 2 ท่าน ไม่รู้มาก่อน เพราะอู่เป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด
    
    

 

ต่อมา "อัยการ" มีคำสั่งไม่ฟ้อง "เจ้าคุณแป๊ะ" ผู้ต้องหาคนที่ 7 ซึ่งถูกตั้งข้อหามีไว้ในครอบครอง โดยไม่รู้ว่าของนั้นไม่ได้เสียภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต โดยอัยการชี้ว่าเพราะไม่มีพยาน หรือหลักฐานพิสูจน์ว่า "เจ้าคุณแป๊ะ" รับรถยนต์ไว้โดยรู้ว่านาย วิชาญ เสียภาษีสรรพสามิตไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็ให้ยุติการดำเนินคดีในคดีนี้ด้วย เนื่องขาดอายุความ

 

 

\"สมเด็จช่วง\" พลิกอีกหน้าประวัติ ครั้งหนึ่งในฐานะแคนดิเดต \"สมเด็จสังฆราช\"
 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีการรับมอบรูปหล่อทองคำ "หลวงพ่อสด" หนัก 1 ตันจาก "วัดพระธรรมกาย" และที่ถูกกล่าวขานถึงอย่างมาก คือ การปกป้อง "พระธัมมชโย" เจ้าอาวาส "วัดพระธรรมกาย" ไม่ให้ต้องปาราชิก โดยหลังจาก "สมเด็จช่วง" ได้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช คดีของ "พระธัมมชโย" ได้ถูกยื่นถอนฟ้อง และยกเลิกการปาราชิก ตามพระลิขิตของ "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" เมื่อปี 2542

 

 

\"สมเด็จช่วง\" พลิกอีกหน้าประวัติ ครั้งหนึ่งในฐานะแคนดิเดต \"สมเด็จสังฆราช\"

    

 

คดีการฉ้อโกงเงินในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด และสั่งจ่ายเพื่อบริจาคเงินกว่า 1,200 ล้านบาทให้กับ "วัดพระธรรมกาย" จนเกิดคดีความฟ้องร้องขึ้น แม้ในภายหลัง "วัดพระธรรมกาย" จะชี้แจงว่าได้คืนทรัพย์สินและที่ดินไปแล้วก็ตาม แต่ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปเป็นวงกว้าง จนลุกลามไปถึงการเสนอให้ปรับแก้พระราชบัญญัติ หรือ พรบ.คณะสงฆ์

 

 

อย่างไรก็ตาม หลัง "สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก" ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 20 ได้เสด็จไปยังวัดปากน้ำภาษีเจริญ ตามธรรมเนียมปฏิบัติของคณะสงฆ์ เพื่อถวายสักการะ "สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์" หรือ "สมเด็จช่วง" เพราะถือว่าท่านมีอาวุโสสูงสุดในสมเด็จพระราชาคณะทุกรูป แต่เนื่องจาก "สมเด็จช่วง" อาพาธ จึงมอบให้ "พระวิสุทธิวงศาจารย์" รองเจ้าอาวาสวัดปากน้ำฯ เป็นผู้ถวายเครื่องสักการะแด่ "สมเด็จพระสังฆราช" แทน และ "สมเด็จพระสังฆราช" ทรงประทานพัดรองตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ "อ.อ.ป." เพื่อเป็นเกียรติแก่ "สมเด็จช่วง" ด้วย

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ