คอลัมนิสต์

ศึกชิมลางการเมือง "เลือกตั้งซ่อม"สงขลา-ชุมพร วัดเรตติ้งสู้ศึกสนามใหญ่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องกล้องลงไปที่การเลือกตั้งซ่อมส.ส.สองเขตภาคใต้ราวปลายเดือนมกราคมนี้น่าจะเป็นการลงประชันเช็กเรตติ้งของหลากพรรคกันมากกว่า เพราะจะได้วัดกระแสพรรคกันล่วงหน้าก่อนเลือกตั้งสนามใหญ่ ติดตามเจาะประเด็นร้อน โดย เมฆาในวายุ

 

แน่นอนแล้วว่าภายใน45 วันจากนี้จะต้องมีการเลือกตั้งซ่อมส.ส.ชุมพร เขต 1(ชุมพล จุลใส พรรคประชาธิปัตย์)และสงขลา เขต6 (ถาวร เสนเนียม พรรคประชาธิปัตย์)หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ " 5 แกนนำกปปส."พ้นคุณสมบัติความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยเหตุมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

 

มองแล้วเลือกตั้งซ่อมส.ส.สองเขตนี้น่าจะเป็นการลงประชันเช็กเรตติ้งของหลากพรรคกันมากกว่า เพราะจะได้วัดกระแสพรรคกันล่วงหน้าก่อนเลือกตั้งสนามใหญ่

สองเขตนี้"พรรคสีฟ้า"จับจองพื้นที่ไว้และโดยมรรยาททางการเมือง "พรรคร่วมรัฐบาล" จะไม่ส่งคนลงแข่งขันในการเลือกตั้งซ่อม แต่เคยมีการยกเว้นมรรยาทข้อนี้ในการเลือกตั้งซ่อมส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3 พื้นที่ของ "เทพไท เสนพงศ์" โดยพรรคพลังประชารัฐส่ง "อาญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ" ลงแข่งขันและชนะ "พงศ์สินธุ์ เสนพงศ์" ตัวแทนค่ายสีฟ้า โดยในคราวนั้น "พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ" หัวหน้าพรรคพปชร.ลงพื้นที่และขึ้นเวทีหาเสียงเป็นครั้งแรก

 

แต่ดูแววแล้วชุมพรเขต1นั้น กระแสข่าวจากหลากสื่อชี้ว่าค่ายปชป.น่าจะเสนอ "อิสระพงษ์ มากอำไพ" เลขานุการนายกอบจ.ชุมพรและเป็นเครือญาติของอดีตส.ส.ลูกหมีลงสมัคร แต่ค่ายสีฟ้าก็มีโอกาสพลิกโผ  เพราะคนการเมืองรู้กันว่าอดีตส.ส.ลูกหมีนั้นใกล้ชิด"ลุงป้อม"เพียงใด  ตอนนี้รอเพียง"ลุงป้อม"ว่าจะเอาอย่างไรในพื้นที่นี้เพราะมีกระแสข่าวว่าเลือกตั้งงวดหน้าตระกูลจุลใสจะย้ายมาสังกัดพรรคลุงป้อม     

 

ส่วนสงขลาเขต 6นั้น "สุภาพร กำเนิดผล" รองนายกอบจ.สงขลาและเป็นภริยาเดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา พรรคสีฟ้าลงแข่งขันโดยพื้นที่นี้น่าสนใจแม้จะเป็นพื้นที่เดิมของอดีตรมช.สองสมัยของค่ายปชป. แต่กระแสข่าวนั้นพบว่าพปชร.น่าจะส่ง "อนุกูล พฤกษานุศักดิ์"  ทายาทศรีตรังโกลฟส์ลงสมัครก็น่าจะสู้กันแบบแพ้ไม่ได้


 

ขณะที่พรรคอันดับสองบนเรือเหล็กคือ"ภูมิใจไทย"นั้นพบว่าพรรคนี้ยังนิ่งกับเกมข้างต้น  แม้พรรคสีน้ำเงินจะมีส.ส.หลายคนในภาคใต้ก็ตามและประเมินแล้วน่าจะนิ่งกับการปักธงเพิ่มในสองเขตดังกล่าว  

 
เกมนี้ มองแล้วพบว่า พรรคร่วมรัฐบาลคือ"พปชร./ปชป."น่าจะซ่อนดาบในรอยยิ้มกับเกมชิงสองเก้าอี้ส.ส.คราวนี้ เพราะนี่คือการวัดเรตติ้งกันในห้วงหนึ่งปีเศษที่เหลืออยู่และวางเกมสำหรับสนามใหญ่ในคราวหน้า เนื่องจากปชป.ที่เคยครองพื้นที่ปักษ์ใต้มายาวนาน โดนท้าทายจากพปชร.และภท.เจาะฐานได้หลายเขต

 

ส่วนพรรคน้องใหม่นั้น ต้องมองว่า"พรรคกล้า"นั้นหลังจากได้ "พันเอกสุชาติ จันทรโชติกุล"ที่ย้ายจากพปชร.มาเป็นรองหัวหน้าพรรคและดูแลภาคใต้น่าจะส่งคนลงประชันกับปชป. โดยมีชื่อของ "พ.ต.อ.ทศพล  โชติคุตร์"ลงแข่งขันที่จ.ชุมพรเป็นครั้งที่สองของพรรคกล้าที่ลงสมัคร หลังจากครั้งแรกพรรคนี้เคยส่ง "สราวุธ สุวรรณรัตน์"เปิดตัวในการเลือกตั้งซ่อมส.ส.นครศรีธรรมราช เขต 3มาแล้ว โดยประเมินแล้วว่าพรรคกล้าน่าจะส่งคนลงวัดกระแสเพื่อประเมินผลการรับรู้ชื่อเสียงของพรรค 

และรอดูลีลาของ "พรรคไทยสร้างไทย" ที่นำโดย "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์"ว่าจะลงแข่งขันเป็นครั้งแรกหรือไม่หลังแยกตัวมาตั้งพรรคและทยอยเดินสายไปหลากจังหวัดแล้ว

 

หันมองพรรคขั้วฝ่ายค้านบ้าง โดยธรรมเนียมการเลือกตั้งซ่อมหลายครั้งที่ผ่านมานั้น พรรคร่วมฝ่ายค้านจะส่งเพียงพรรคเดียวลงแข่งขัน และคราวนี้ต้องจับตา"พรรคเพื่อไทย" หลังเปลี่ยนให้ "ชลน่าน ศรีแก้ว"เป็นหัวหน้าพรรค และประกาศแคมเปญ"เพื่อไทยแลนด์สไลด์"นั้นว่าจะส่งคนลงประชันหรือไม่ เพราะภาคใต้นั้น(เว้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้)ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย/พลังประชาชน/เพื่อไทย พรรคค่ายนายใหญ่ดูไบเคยชนะเลือกตั้งส.ส.ภาคใต้ครั้งเดียว("กฤษ ศรีฟ้า" ส.ส.พังงา พรรคไทยรักไทย ในการเลือกตั้งปี2548 โดยชนะ"จุฤทธิ์ ลักษณะวิศิษฎ์" แห่งปชป.) ท่ามกลางกระแสข่าวล่าสุดว่า”จาตุรนต์ ฉายแสง”และครอบครัว พักการตั้งพรรคเส้นทางใหม่และน่าจะย้ายกลับพรรคเพื่อไทยในเร็วๆนี้ 

 ส่วนพรรคอื่นๆ เช่น"พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ"ยังนิ่งกับเกมตอนนี้ แต่ประเมินแล้ว"พรรคก้าวไกล"น่าจะขยับมากกว่าพรรคอื่นๆในข้างต้น แต่โอกาสจะชิงธงได้หรือไม่นั้น แกนนำพรรคน่าจะทราบกระแสนิยมดีว่าคนปักษ์ใต้ให้โอกาสพรรคสีส้มเวอร์ชั่นล่าสุดอย่างไร
 

logoline