คอลัมนิสต์

ผ่าโครงสร้าง "พ.ร.บ.คณะสงฆ์" กับข้อครหา มส. ใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมจริงหรือ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผ่าโครงสร้าง "พ.ร.บ.คณะสงฆ์" กับข้อครหา "กรรมการมหาเถรสมาคม" การใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม จนนำไปสู่เรื่องร้อนในวงการสงฆ์

การแก้ไขโครงสร้างอำนาจปกครองคณะสงฆ์ และระบบสมณศักดิ์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เชื่อมโยงไปถึงการตรา พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับ พ.ศ. 2484 ตามข้อเรียกร้องของยุวสงฆ์คณะปฏิสังขรณ์ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมือง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ในปี 2475 จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนรายละเอียดในบางช่วงบางตอนมาหลายครั้ง โดยผ่านภาคการเมือง แต่ยังคงอำนาจการบริหาร ผ่านพระสมณศักดิ์ชั้นผู้ใหญ่ ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในนาม "มหาเถรสมาคม" มาโดยตลอด จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงบทบาทหน้าที่ และความเคลือบแคลงต่อคำสั่งที่ประกาศออกมา

 

เช่นล่าสุด ผลการประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม หรือ มส. ซึ่งมีมติ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564ให้พระสังฆาธิการ 3 รูป ออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ได้แก่ 

 

  1. พระราชปริยัติสุนทร วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา (อมรภิรักษ์ ปสันโน) ถอดถอนจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา 
  2. พระธรรมรัตนาภรณ์ (สมศักดิ์ โชตินธโร) วัดเขียนเขต จ.ปทุมธานี ถอดถอนจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี 
  3. พระเทพสารเมธี (บัวศรี ชุตินธโร) วัดประชานิยม จ.กาฬสินธุ์ ถอดถอนจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ 

 

 

ผ่าโครงสร้าง "พ.ร.บ.คณะสงฆ์" กับข้อครหา มส. ใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมจริงหรือ

นำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนโดยเฉพาะที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ถึงขั้นรวมตัวกันลงชื่อคัดค้านคำสั่ง มส. และความร้อนแรงของความไม่พอใจได้ปะทุขึ้นอีก หลังมีคำสั่งแต่งตั้งพระครูสุทธิญาณโสภณ(เล็ก สุทธิญาโณ) เจ้าคณะอำเภอสังคม จ.หนองคาย หรือ "พระเล็ก" ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์(ธ) แทนเจ้าคุณบัวศรี ซึ่ง "พระเล็ก" ได้รับตราตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้

 

 

ปัญหาการแต่งตั้งถอดถอนคณะสงฆ์จึงถูกตั้งคำถามและตั้งข้อสังเกต ถึงการใช้อำนาจของมหาเถรสมาคมเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง และยังมีคำถามถึงบทบาทความรับผิดชอบของกรรมการมหาเถรสมาคม ที่ต้องปกครองดูแลพระสงฆ์ทั้งประเทศ ทั้งทางด้าน นิติบัญญัติ บริหาร และการลงนิคหกรรม รวมทั้งจับตารอดูการแต่งตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมชุดใหม่ขึ้นมาแทนชุดเดิม โดยตั้งข้อสังเกตว่า มส.ชุดเดิมส่วนใหญ่เป็นพระในสังกัดวัดในส่วนกลาง (กรุงเทพมหานคร) และวัยวุฒิของแต่ละรูป ก็มากโขแล้ว

ย้อนไปในอดีต แม้จะมีความพยายามแก้ปัญหาผ่านการปรับปรุงพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของยุคสมัย เช่น ความพยายามในการยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2549 ด้วยการกําหนดให้มี "กรรมการมหาคณิสสร" ซึ่งประกอบด้วยพระภิกษุรุ่นใหม่ ๆ ที่มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น เป็นคณะทํางานอีกชุดหนึ่ง
เพื่อบริหารงานแทนมหาเถรสมาคม และปรับบทบาทอํานาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคมให้ดูแลเฉพาะในส่วนนโยบายและการให้ความเห็นชอบแก่ "มหาคณิสสร" เท่านั้น 

 

แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ประสบความสําเร็จ เนื่องจากเกิดความขัดแย้ง จากการคัดค้านจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าขัดพระธรรมวินัย เป็นเหตุให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต้องยอมถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไป 

 

 

ผ่าโครงสร้าง "พ.ร.บ.คณะสงฆ์" กับข้อครหา มส. ใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมจริงหรือ

 

 

แต่ปัจจุบัน ยังมีการใช้ "สมัชชามหาคณิสสร" ซึ่งก็คือ คณะกรรมการบริหารงานคณะสงฆ์ในฝ่ายมหานิกาย ซึ่งจากการสอบถามผู้รู้ ได้ขยายความว่า คณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายตั้งแต่ระดับเจ้าคณะหนใหญ่ เจ้าคณะภาค ได้มีมติร่วมกันตั้ง "สมัชชามหาคณิสสร" ขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2516 โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพน วิมลมังคลาราม สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 ทรงเห็นชอบในวันที่ 26 มีนาคม 2516 และถือเป็นวันก่อตั้งสมัชชามหาคณิสสร ปัจจุบันมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ ซึ่งเป็นผู้มีอาวุโสสูงสุดทางสมณศักดิ์ เป็นประธานสมัชชามหาคณิสสร และมีพระพรหมโมลี เป็นเลขาธิการ โดยบทบาทปัจจุบันของสมัชชามหาคณิสสรหลัก ๆ คือ การจัดอบรมพระอุปัชฌาย์ ของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายนั่นเอง

 

 

logoline