คอลัมนิสต์

ไม่รอไทย "รถไฟลาว" สองผู้นำลาว-จีน เปิดหวูดเดินรถเที่ยวปฐมฤกษ์

ไม่รอไทย "รถไฟลาว" สองผู้นำลาว-จีน เปิดหวูดเดินรถเที่ยวปฐมฤกษ์

03 ธ.ค. 2564

เปิดคู่มือนั่ง "รถไฟลาว" สายประวัติศาสตร์ สีจิ้นผิง-ทองลุน สีสุลิด ร่วมเปิดหวูดรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ พร้อมกันทั้งนครหลวงเวียงจันทน์ และนครคุนหมิง คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

บ่าย 3 โมง วันที่ 3 ธ.ค.2654 “รถไฟลาว” ขบวนแรกในประวัติศาสตร์ ได้เคลื่อนไปบนเส้นทางรถไฟลาว-จีน ปลดแลนด์ล็อกสู่แลนด์ลิงก์

 

คนลาวรอมากว่า 5 ปี กว่าจะได้ยลโฉม “รถไฟลาว” ขบวนล้านช้าง ที่จะเชื่อมต่อกับรถไฟขบวนฟูซิ่ง วิ่งจากนครหลวงเวียงจันทน์ สู่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน

 

“รถไฟลาว” เปิดหวูดเดินรถเที่ยวปฐมฤกษ์ ได้ร่วมฉลองวันสถาปนา สปป.ลาว ครบรอบ 46 ปี และวันก่อตั้งความสัมพันธ์ทางการทูตลาว-จีน ครบรอบ 60 ปี

 

เวลา 15.30 น.วันที่ 3 ธ.ค.2564 ท่านทองลุน สีสุลิด เลขาธิการใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว และประธานประเทศ สปป.ลาว กับท่านสี จิ้นผิง เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน และประธานาธิบดีจีน ได้เข้าร่วมพิธีเปิดโครงการเส้นทางรถไฟลาว-จีน ผ่านระบบวิดีโอคอล อย่างเป็นทางการ

พิธีเปิดการเดินรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ครั้งนี้ ได้จัดพร้อมกับ 2 จุดคือ สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว และสถานีคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งเมื่อได้เวลา ผู้สองประเทศ ได้ออกคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยรถไฟออกจากสถานีทั้งสองพร้อม

 

รถไฟ EMU ขบวนล้านช้าง จะวิ่งจากนครหลวงเวียงจันทน์ ถึงสถานีบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำ และรถไฟฟูซิ่ง วิ่งจากนครคุนหมิง ถึงสถานีบ่อหาน ชายแดนจีน-ลาว โดยระยะแรกนี้ ยังไม่สามารถเดินทางข้ามประเทศ เนื่องสถานการณ์โควิด

 

เช่นเดียวกัน สปป.ลาว ยังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพราะยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในประเทศยังสูงอยู่ เฉลี่ยวันละพันคน คนไทยอยากไปนั่งรถไฟหัวกระสุนเมืองลาว คงต้องรอปีหน้าฟ้าใหม่

 

‘ปลดล็อกแลนด์ลิงก์’

พรรคประชาชนปฏิวัติลาว อยากได้ “รถไฟลาว” เพื่อเปลี่ยนประเทศจากดินแดนแลนด์ล็อกหรือชาติไม่มีทางออกสู่ทะเล ให้เป็นแลนด์ลิงก์ มาตั้งแต่สถาปนา สปป.ลาว ใหม่ๆ

ปี 2519 ท่านไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีลาวขณะนั้น ยกคณะไปเยือนสหภาพโซเวียตจึงได้ปรึกษาสหายโซเวียตเรื่องการสร้างเส้นทางรถไฟ สหายโซเวียตแนะนำว่า ลาวควรฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม แผนสร้างทางรถไฟ จึงพับไว้ก่อน

 

ปี 2536 ท่านคำไต สีพันดอน นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ไปเยือนจีน จึงปรึกษาสหายจีน เรื่องการสร้างทางรถไฟ สหายจีนรับเรื่องไว้ แต่ยังไม่ให้คำตอบ

 

จนมาถึงยุคท่านจูมมะลี ไซยะสอน เป็นประธานประเทศ เวลานั้น สปป.ลาว มีความใกล้ชิดกับจีน ประกอบกับท่านสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ดำเนินยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง จึงให้ฝันของผู้นำลาวเป็นจริง

 

ปี 2553 พรรคประชาชนปฏิวัติลาว ตั้งท่านสมสะหวาด เล้งสะหวัด อดีตรองนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น เป็นหัวหน้าคณะเจรจาเรื่องการสร้างทางรถไฟ โครงการสร้างทางรถไฟลาว-จีน จึงได้ดำเนินการก่อสร้างในปี 2558

รถไฟขบวนล้านช้าง

โครงการรถไฟสายจีน-ลาว มีมูลค่า 5,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.99 แสนล้านบาท) จีนรับผิดชอบภาระทางการเงิน 70% ของมูลค่าโครงการ ส่วนที่เหลือลาวรับผิดชอบ

 

‘คู่มือนั่งรถไฟลาว’

คนไทยจำนวนไม่น้อย มีความสนใจอยากข้ามโขงไปนั่ง “รถไฟลาว” เพื่อไปท่องเที่ยวภาคเหนือของลาว และข้ามไปเที่ยวเมืองจีน แต่สถานการณ์โควิด ทำให้หลายคนฝันสลาย

 

นับแต่วันที่ 4 ธ.ค.2564 บริษัท รถไฟลาว-จีน จะเปิดการเดินรถไฟ EMU ขบวนล้านช้าง ระยะแรก 2 เที่ยวคือ นครหลวงเวียงจันทน์-บ่อเต็น 1 เที่ยว (ไป-กลับ) และนครหลวงเวียงจันทน์-หลวงพระบาง 1 เที่ยว (ไป-กลับ)

 

ค่าโดยสารรถไฟ จากนครหลวงฯ-บ่อเต็น มี 2 ราคาคือ ชั้น 1 ราคา 1,510 บาท ชั้น 2 ราคา 950 บาท ค่าโดยสารรถไฟ ใช้เวลา 4 ชั่วโมงเศษ จากนครหลวงฯ-หลวงพระบาง ชั้น 1 ราคา 895 บาท ชั้น 2 ราคา 565 บาท ใช้เวลา 1.30 ชั่วโมง

รถไฟฟูซิ่ง วิ่งจากคุนหมิง-บ่อหาน

ในส่วนของจีน รถไฟฟูซิ่ง (Fuxing) ก็จะเปิดบริการเดินรถในวันที่ 4 ธ.ค.เช่นเดียวกัน โดยวิ่งจากนครคุนหมิง ถึงบ่อหาน ชายแดนจีน-ลาว แต่ยังบริการให้คนในประเทศก่อน เพราะด่านพรมแดนจีน-ลาว ยังปิดอยู่

 

ค่าโดยสารรถไฟฟูซิ่ง จากคุนหมิง-บ่อหาน ชั้น 1 ราคา 1,355 บาท ชั้น 2 1,220 บาท ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง ระยะทางกว่า 596 ก.ม.

 

คาดหมายว่า กลางปี 2565 ทั้งลาวและจีน คงจะเปิดให้ประชาชนสองประเทศไปมาหาสู่กันด้วยรถไฟหัวกระสุนขบวนล้านช้าง และขบวนฟูซิ่ง