คอลัมนิสต์

มารู้จัก "แอมเนสตี้" องค์การนิรโทษกรรมสากล ของแสลงรัฐไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กระแสต้าน "แอมเนสตี้" ในไทยแรงขึ้นตามลำดับ ถึงขั้นไล่พ้นประเทศโดยหาว่าแทรกแซงประเทศไทย ขณะที่นายกฯ บอกว่ากำลังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบองค์กรนี้..มาถึงตอนนี้หลายคนคงอยากรู้จัก แอสเนสตี้ แล้วว่าเป็นใคร มีบทบาทอย่างไร และมีใครบ้างเป็นผู้ขับเคลื่อน

เป็นเรื่องแล้วเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เด้งรับลูกสั่งตรวจสอบ "แอมเนสตี้" ว่ามีความผิดอะไรหรือไม่และอยู่ในไทยอย่างถูกต้องหรือเปล่า และถ้าผิดกฏหมายต้องยกเลิก เพราะไม่ต้องการให้ใครมาทำร้ายประเทศไทย  

 

นายกรัฐมนตรี ยังบอกว่า ในเรื่องของเอ็นจีโอกำลังดำเนินการทางกฎหมายในการที่จะทำให้เหมือนกับต่างประเทศโดยจะต้องมีการขึ้นทะเบียนควบคุม แจ้งที่มาของแหล่งเงินต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้กฎหมายอยู่ระหว่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร 


อธิบายง่าย ๆ ก็คือ ล้วงตับให้ชัดเจนกันไปเลยว่าได้รับท่อนำเลี้ยงจากไหน 

 

กระแสต่อต้านไม่เอา"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล"หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล โดยเฉพาะ "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย" (Amnesty International Thailand) ของคนไทยบางส่วนแรงขึ้นถึงขนาดไล่ให้ออกจากประเทศไทย 

 

อาทิ กลุ่มอดีตประธานหมู่บ้านคนเสื้อแดง ได้ล่ารายชื่อประชาชนจำนวน 1 ล้านรายชื่อเพื่อขับไล่ "แอมเนสตี้"

 

นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ตั้งแคมเปญในเว็บไซต์ change.org เพื่อล่ารายชื่อไม่เอา "แอมเนสตี้"  โดยไม่พอใจปมแสดงความเห็นเชิงก้าวก่ายศาลไทย โดยผู้รณรงค์ตั้งเป้าให้ได้จำนวน 15,000 รายชื่อ

 

สืบเนื่องจาก "แอมเนสตี้" ประกาศแคมเปญ  write for right เขียนจดหมายล้านฉบับถึงทั่วโลก จี้ทางการไทยให้หยุดดำเนินคดีกับ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลหรือรุ้ง แกนนำม็อบสามนิ้ว ซึ่งถูกมองว่าการกระทำเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า "แอมเนสตี้" จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศไทย รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าการกระทำของ น.ส. ปนัสยา กับพวก เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  

 

 

การกระทำของ "แอมเนสตี้" ดังกล่าวยังถูกมองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการ
สนับสนุนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกระทำการจาบจ้วงสถาบัน

 

กลุ่มบุคคลต่าง ๆ ที่ออกมาต่อต้าน "แอมเนสตี้" ยังต้องการให้รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องดังกล่าวโดยเร่งด่วน หากพบข้อมูลหลักฐานเชื่อได้ว่า "แอมเนสตี้" มีจุดมุ่งหมายแทรกแซงกิจการความมั่นคงของประเทศ ให้ขับไล่องค์กรนี้พ้นออกไปจากประเทศไทย

 

มาถึงตอนนี้หลายคนคงอยากรู้จักแล้วว่า "แอมเนสตี้" เป็นใคร 


"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย" (Amnesty International Thailand)ได้เคยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กอธิบายองค์การของตนเองว่า"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" คือขบวนการของคนธรรมดามากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกที่ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมที่เท่าเทียมและยุติธรรมสำหรับทุกคน เป็นอีกหนึ่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือเอ็นจีโอ ที่เข้ามาบทบาทในประเทศไทย จากการทำกิจกรรมรณรงค์ต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ 


และได้สรุป 6 ข้อ เพื่อให้คนรู้จัก"แอมเนสตี้" มากขึ้น

-จุดกำเนิด 

มาจาก ปีเตอร์ เบเนนสัน ทนายความชาวอังกฤษผู้เขียนบทความเรียกร้องปล่อยตัวนักศึกษาชาวโปรตุเกสสองคนที่โดนรัฐบาลเผด็จการจับติดคุกเพียงเพราะดื่มเหล้าและชนแก้วสดุดีเสรีภาพ ดังนั้นจึงทำให้สำนักงานใหญ่ของ "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล"ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

 

- "แอมเนสตี้" เข้ามามีบทบาทในไทยจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

 จดหมายนับแสนฉบับที่ถูกส่งมายังรัฐบาลไทยเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมจากการประท้วง ซึ่งจดหมายเหล่านั้นมาจากผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลก

 

- เงินสนับสนุนของ "แอมเนสตี้"

เงินทุนสำหรับการจัดกิจกรรมมาจากการรับบริจาคของบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจด้านสิทธิมนุษยชน และค่าสมัครสมาชิกในแต่ละปีเพราะ"แอมเนสตี้" เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร และปฏิเสธที่จะรับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือแหล่งทุนอื่นๆ

 

-เป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง

"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" เป็นองค์กรที่รณรงค์ในประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนโดยไม่ฝักใฝ่อุดมการณ์ทางการเมืองหรือลัทธิใด ๆ เน้นทำงานเกี่ยวกับการรณรงค์เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและการให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น เนื่องจาก "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" มีพันธกิจเพียงเพื่อให้สังคมเกิดการตระหนักถึงสิทธิมนุษยชน

 

-มีสำนักงานกระจายตัวอยู่ทั่วโลก

- "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" มีสมาชิกและผู้สนับสนุนกว่า 10 ล้านคนในกว่า150 ประเทศทั่วโลกและมีสำนักงานกระจายตัวอยู่กว่า 70 ประเทศ ที่มีสำนักงานกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศเพื่อสามารถทำให้ทราบได้ว่าสถานการณ์ของโลก ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร

 

-ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วกว่า 60 ปี

ตลอดระยะเวลาทำงานเพื่อสังคมที่ผ่านมา "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนมาแล้วกว่า 6 ทศวรรษ นอกจากนี้"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" ยังคงทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้กับบุคคลที่ถูกละเมิด เพราะเรามีความเชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาล้วนมีความเท่าเทียม ไม่ควรมีใครถูกกดให้ต่ำลง

 

หากฟังจากคำอธิบายของ "แอมเนสตี้" เองก็ดูดี 


แต่ควรมาดูข้อมูลให้รอบด้านมากขึ้นโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย" ที่เคลื่อนไหวอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้

 

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวบอกว่า "แอมเนสตี้" มีสองส่วน "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน

 

ส่วน"แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย"จดทะเบียนเป็นสมาคมกับกระทรวงมหาดไทย โดยรับเงินสนับสนุนมาจากต่างประเทศ มีพนักงานคนไทยกว่า 20 คน

 

ขณะที่อาจารย์เทพมนตรี   ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์และนักเทววิทยา  ได้โพสต์เฟซบุ๊กให้เห็นถึงความเชื่องโยงของ "แอมเนสตี้ " กับกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มม็อบสามนิ้ว และ ส.ส. ก้าวไกล บางคน 

 

โดยระบุว่า กรรมการ "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย"  ที่แท้ก็ เพื่อนจ่านิว 

 

วศิน พงษ์เก่า 1 ใน คณะกรรมการแอมเนสตี้ คือ เพื่อนซี้ ไผ่ ดาวดิน และเป็นกลุ่มดาวดินที่เชื่อมโยงอีสานเรคคอร์ด วนเวียนอยู่ในผู้คนเหล่านี้

 

นายณพัทธ์ นรังศิยา 1 ในคณะกรรมการแอมเนสตี้ ไทยแลนด์ เพื่อนซื้ รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล

 

ณพัทธ์ นรังศิยา หนึ่งในขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ซึ่งมี นายรังสิมันต์ โรม, น.ส.ชนกนันท์ รวมทรัพย์, นายกรกช แสงเย็นพันธ์, น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว, นายณพัทธ์ นรังศิยา, นายธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร, นายกรกนก คำตา, นายรัฐพล ศุภโสภณ, นายปณต ศรีโยธา, นายกันต์ แสงทอง, นัชชชา กองอุดม, นายอภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ และ นายปกรณ์ อารีกุล

 

สำหรับ คณะกรรมการของ "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย" ประกอบไปด้วย ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ  วศิน พงษ์เก่า กรรมการ ณพัทธ์ นรังศิยา กรรมการ  นาซานีน ยากะจิ กรรมการเยาวชน  ศศวัชร์ คมนียวนิช เหรัญญิก

 

ส่วนผู้อำนวยการ "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย" คือนางปิยนุช โคตรสาร 

 

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย ส.ว. ได้ชี้ให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวของ"แอมเนสตี้" ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า "แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล" หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล ถือเป็นองค์กรแม่ มีหลักในการดูแลกรณีการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน 

 

แต่ "แอมเนสตี้ในประเทศไทย" เป็นองค์กรลูกที่ไม่ตรงไปตรงมา เพราะยืนอยู่ฝั่งต่อต้านรัฐบาลและไปพิทักษ์สิ่งที่ผิด ย่ำยีสิ่งที่ถูกต้อง ทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ผิดหลักการ ใช้เป็นเครื่องมือย่ำยีทำลายประเทศตนเอง เชื่อว่าในอนาคตองค์กรก็จะล่มสลายไปเอง ซึ่งหลักการขององค์กรแม่นั้นถือว่ามีความตั้งใจดี แต่คนนำไปยืนผิดจุด เป็นเรื่องที่น่าเสียดาย องค์กรมีหลักการดี แต่ผิดที่คน

 

อะไรที่วางตัวไม่เป็นกลางถือว่าผิด และไม่ควรมีบทบาทแบบนี้องค์กรแม่ต้องตระหนัก เมื่อองค์กรลูกทำไม่ถูกต้องก็ต้องรีบแก้ไขปัญหาโดยด่วน ตอนนี้คนไทยก็ขับไล่องค์กรลูกที่ทำผิดหลักการสำคัญดังนั้นต้องรีบจัดการ เช่น เปลี่ยนคนในองค์กรลูก ถ้าไม่เปลี่ยนคน ก็ต้องไม่มีองค์กรลูกในประเทศไทย 

 

หากมีการทำผิดเกิดขึ้นทางกระทรวงมหาดไทยต้องประสานกระทรวงการต่างประเทศ ทำเรื่องไปถึงองค์กรหลักเพื่อให้แก้ไขปัญหา แต่หากองค์กรหลักไม่ดำเนินการ  ต้องจัดการโดยกฎหมายไทย เพราะเรื่องนี้องค์กรไม่มีปัญหา แต่คนมีปัญหา

 

เมื่อดูข้อมูลจากทั้งหมดแล้วน่าจะสรุปได้ว่า ตัวขององค์กรคือ "แอมเนสตี้"  ซึ่งเดิมเคยมีความน่าเชื่อถือ มีผลงานที่ได้รับการยอมรับ  แต่กลับมีปัญหาในระยะหลังเพราะตัวคนที่ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นกรรมการบางคนมีสายสัมพันธ์ โยงใยกับทางการเมืองทั้งที่ "แอมเนสตี้"ประกาศว่าเป็นองค์กรที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง จึงขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ