
ทำความรู้จัก "ระบบเลือกตั้ง ส.ส.ปี 54"..จ่อต้นแบบเลือกตั้งครั้งหน้า
หลัง รธน.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ พรรคการเมืองต่าง ๆ เคลื่อนไหวคึกคักเกี่ยวกับร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ซึ่งพรรคการเมืองส่วนใหญ่เป็นไปแนวเดียวกัน คือต้องการใช้ "ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2554".. มาทำความรู้จักกันว่า ระบบเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2554 เป็นอย่างไร
ในการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปครั้งหน้า หากร่างกฎหมายลูกที่จะคลอดออกมาเดินตาม"ระบบเลือกตั้งปี 2554" ก็ต้องศึกษาถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2554 ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
ระบบบัญชีรายชื่อ
ในระบบบัญชีรายชื่อ จะมีการคัดเลือกด้วยขั้นตอนดังนี้
-ให้แต่ละพรรคส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.จำนวนไม่เกิน 125 คน( รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2554 กำหนดให้มี ส.ส. บัญชีรายชื่อ 125 คน แต่รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมปี 2564 กำหนดให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน )
-บัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องประกอบด้วยรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่าง ๆ อย่างเป็นธรรมและต้องคำนึงถึงโอกาส สัดส่วนที่เหมาะสมและความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย
-รายชื่อในบัญชีต้องไม่ซ้ำกับบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองอื่นจัดทำขึ้น และไม่ซ้ำกับรายชื่อของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
-จัดทำรายชื่อเรียงตามลำดับหมายเลข (จาก 1 ลงไป)
-หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ให้นับคะแนนในระบบบัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองรวมกันทั้งประเทศ แล้วหารด้วย 125 (สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าหารด้วย 100 ) จะได้คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน
ะแนนของแต่ละพรรคการเมือง หารด้วยคะแนนเฉลี่ยที่คำนวณไว้ จะได้จำนวนผู้แทนระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น
-เศษทศนิยม ให้ปัดทิ้งทั้งหมด แต่ให้เก็บข้อมูลเศษทศนิยมของแต่ละพรรคไว้ (เช่น พรรค ก ได้ 52.7 คน ปัดทิ้งเหลือ 52)
-รวมจำนวนผู้แทนของทุกพรรค หากยังได้ไม่ครบ 125 คน (เลือกตั้งครั้งหน้าไม่ครบ 100 คน) ให้กลับไปดูที่เศษทศนิยมของแต่ละพรรค พรรคใดที่มีเศษเหลือมากที่สุด ให้เพิ่มจำนวนผู้แทนจากพรรคนั้น 1 คน หากยังไม่ครบ ให้เพิ่มผู้แทนจากพรรคที่มีเศษเหลือมากเป็นอันดับสองขึ้นอีก 1 คน ทำเช่นนี้ตามลำดับจนกว่าจะได้ครบ 100 คน (เช่น พรรค ก ได้ 52.7 คน ตอนแรกได้ 52 เศษ 0.7 แต่ถ้าจำนวน ส.ส.ยังไม่ครบ และไม่มีพรรคใดมีเศษมากกว่า 0.7 พรรค ก จะได้เพิ่มเป็น 53 คน)
-หมายเลขผู้สมัครที่จับได้ในระบบบัญชีรายชื่อจะใช้กับระบบแบ่งเขตเลือกตั้งด้วย โดยแต่ละพรรคการเมืองจะใช้หมายเลขเดียวกันทั้งสองระบบทั่วประเทศ
-ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งหน้าแบบแบ่งเขต มีรูปแบบการลงคะแนนเป็นแบบ "เขตเดียวเบอร์เดียว" คือ การแบ่งเขตเลือกตั้งจะแบ่งเป็น 400 เขต โดยยึดหลักให้แต่ละเขตนั้นมีจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกันให้มากที่สุด ดังนั้นในแต่ละเขตจะมี ส.ส.ได้เขตละ 1 คนและผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง สามารถกาบัตรเลือกผู้สมัคร ส.ส. เขตได้เพียงคนเดียว
เกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้งหากเดินรอยตามรัฐธรรมนูญฯแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2554 ซึ่งมีส.ส.เขต 375 คน แต่เลือกตั้งครั้งหน้าจะมี ส.ส.เขต 400 คน หลักเกณฑ์ในการแบ่งจะเป็นดังต่อไปนี้
นำจำนวนราษฎรทั้งประเทศ จากทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีก่อนการเลือกตั้ง หารด้วยจำนวนผู้แทนในระบบเขต (คือ 400 ) จะได้อัตราส่วนของราษฎรต่อผู้แทน 1 คน
นำจำนวนราษฎรในแต่ละจังหวัด หารด้วยอัตราส่วนที่คำนวณไว้ จะได้จำนวนเขตเลือกตั้งที่มีในจังหวัด
จังหวัดที่ผลหารต่ำกว่า 1 เขต ให้ปัดขึ้นเป็น 1 เขต
จังหวัดที่ผลหารมากกว่า 1 และมีเศษทศนิยม ให้ปัดเศษทิ้งทั้งหมด แต่ให้เก็บข้อมูลของเศษทศนิยมไว้ (เช่น 4.93 ปัดทิ้งเหลือ 4)
รวมจำนวน ส.ส.ของทั้ง 77 จังหวัด หากยังไม่ครบ 400 เขต ให้เพิ่มจำนวนเขตในจังหวัดที่มีเศษทศนิยมเหลือมากที่สุดขึ้นไป 1 เขต หากยังไม่ครบอีก ให้เพิ่มจำนวนเขตในจังหวัดที่มีเศษทศนิยมเหลือเป็นอันดับสองขึ้นไปอีก 1 เขต ทำเช่นนี้ไปตามลำดับ จนกว่าจะได้จำนวนครบ 400 คน
สำหรับผลการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากใช้ "ระบบเลือกตั้งแบบปี 54" พรรคเพื่อไทยได้จำนวน ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 ได้ ส.ส. เขต 204 คน และได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 61 คน รวมจำนวน ส.ส. 265 คน ได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมี น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลอยู่ก่อนเลือกตั้ง ต้องสูญเสียอำนาจไป
โดยรายละเอียดผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 เป็นดังนี้