คอลัมนิสต์

ฟางเส้นสุดท้าย "พระเล็ก" หาที่ลงไม่ได้ ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด "โมฆะ" หรือไม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับตาฟางเส้นสุดท้าย "พระเล็ก" เข้าปฏิบัติหน้าที่ เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ไม่ได้ คำสั่งมหาเถรสมาคมเป็น "โมฆะ" หรือไม่

หากนับจากวันได้รับ "ตราตั้ง" เป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ ของ "พระเล็ก" หรือ พระครูสุทธิญาณโสภณ (เล็ก สุทธิญาโณ) จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 30 วัน ครบกำหนดที่ "พระเล็ก" จะต้องเข้าปฏิบัติหน้าที่ "เจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์" ตามกฏของมหาเถรสมาคม แต่หากถึงกำหนดแล้ว "พระเล็ก" ยังไม่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ ตำแหน่งนั้นจะถือเป็น "โมฆะ" หรือไม่

 

ผลจากคำสั่งที่เป็นโมฆะ คือ สูญเปล่า คำสั่งทางปกครองที่เป็นโมฆะ ย่อมไม่เกิดผลใด ๆ ในทางกฎหมาย ดังที่ผู้ออกคำสั่ง (พระบัญชา)ดังกล่าวต้องการ ไม่ว่าเวลาจะล่วงเลยไปนานเพียงใดก็ตาม ผู้มีส่วนได้เสีย อาจหยิบยกความเป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างได้เสมอ ( ป.พ.พ.มาตรา 133 อันความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมนั้น ท่านว่าบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้) คำสั่งแต่งตั้ง "พระเล็ก" เป็นเจ้าคณะจังหวัด แม้จะมีพระบัญชา แต่เสมือนว่า ไม่เคยมี

 

เหตุใดจึงกล่าวว่าเป็นโมฆะ เพราะ

 

  1. เป็นคำสั่งทางปกครองที่ออกมาโดยฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการ หรือขั้นตอนบางประการ (ชาญชัย แสวงศักดิ์. 2556 หน้า 208-209)
  2. คำสั่งหรือการกระทำอื่นใดโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น..และเป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ(ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9)

 

การออกคำสั่งแต่งตั้ง "พระเล็ก" เป็นเจ้าคณะจังหวัด ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการ อันเป็นสาระสำคัญสำหรับการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัด เป็นเช่นไร

 

กฎ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

 

กฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ.2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ และที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 1 (พ.ศ.2563)

 

ข้อ 5/1 การขอรับพระราชดำริในการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการตามความในมาตรา 20/2 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (พ.ศ.2505) และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ปฏิบัติดังนี้

 

(1) การแต่งตั้งเจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าอาวาสพระอารามหลวง เมื่อได้ดำเนินการตามกฎมหาเถรสมาคมนี้แล้ว ให้เสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาทุกกรณี จากนั้น ให้สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะประธานกรรมการมหาเถรสมาคมเสนอไปยังราชเลขานุการในพระองค์ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท เมื่อมีพระราชดำริ
เป็นประการใด ให้มหาเถรสมาคมมีมติให้มีพระบัญชาหรือตราตั้ง แล้วแต่กรณีตามพระราชดำรินั้น แล้วให้เลขาธิการมหาเถรสมาคมรายงานนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป
(2)......

ข้อ 6 พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งตามข้อ 4 ต้องมีคุณสมบัติทั่วไป ดังนี้

 

  1. มีพรรษาสมควรแก่ตำแหน่ง
  2. มีความรู้สมควรแก่ตำแหน่ง
  3. มีความประพฤติเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย
  4. เป็นผู้ฉลาดสามารถในการปกครองคณะสงฆ์
  5. ไม่เป็นผู้มีร่างกายทุพพลภาพไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือเป็นโรคเรื้อน หรือเป็นวัณโรคในระยะอันตรายจนเป็นที่น่ารังเกียจ
  6. ไม่เคยต้องคำวินิจฉัยลงโทษในอธิกรณ์ที่พึงรังเกียจมาก่อน
  7. ไม่เคยถูกถอกถอนหรือถูกปลดจากตำแหน่งใด เพราะความผิดมาก่อน

 

ข้อ 14 พระภิกษุผู้จะดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ต้องมีคุณสมบัติโดยเฉพาะอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้

 

  1. มีพรรษาพ้น 10 กับมีสำนักอยู่ในเขตจังหวัดนั้น และ
  2. กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรือ
  3. กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนั้นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 4 ปี หรือ
  4. มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ หรือเป็นพระคณาจารย์โทขึ้นไป หรือเป็นเปรียญธรรมไม่ต่ำกว่า 6 ประโยค

ถ้าจะคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตาม (2) (3) หรือ (4) ไม่ได้ หรือได้แต่ไม่เหมาะสม มหาเถรสมาคมอาจผ่อนผันได้เฉพาะกรณี

 

ฟางเส้นสุดท้าย "พระเล็ก" หาที่ลงไม่ได้ ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด "โมฆะ" หรือไม่

 

ข้อ 15 ในการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัดภาคใด ให้เจ้าคณะภาคนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 6 และข้อ 14 เสนอเจ้าคณะใหญ่พิจารณา เพื่อมีพระบัญชาแต่งตั้งตามมติมหาเถรสมาคม การแต่งตั้ง "พระเล็ก" ครั้งนี้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับกระบวนการอันเป็นสาระสำคัญ สำหรับการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัด กล่าวคือ

 

  1. "พระเล็ก" ไม่ได้มีสำนักอยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่ได้กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ หรือไม่ได้กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอใด ในจังหวัดกาฬสินธุ์ แม้ต่อมาจะสามารถหาสำนักได้ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็เป็นคุณสมบัติที่เกิดขึ้นภายหลังจากการแต่งตั้งอันเป็นโมฆะผ่านไปแล้ว
  2. ไม่มีหลักฐานใดแสดงว่าเจ้าคณะภาค 9 พิจารณาคัดเลือก "พระเล็ก" ถึงแม้จะพิจารณาคัดเลือกก็ไม่มีอำนาจบัญญัติให้กระทำได้ เพราะ "พระเล็ก" สังกัดอยู่ในภาค 8 นอกเขตปกครองของเจ้าคณะภาค 9 จึงไม่ต้องพิจารณาต่อไปว่า จะมีการเสนอเจ้าคณะใหญ่พิจารณาต่อไปหรือไม่
  3. ไม่ปรากฏหลักฐานว่า มีการเสนอเพื่อให้มหาเถรสมาคมพิจารณาให้ความเห็นชอบในเบื้องต้น ทั้งที่ กฎมหาเถรสมาคมบัญญัติไว้ว่า "ให้เสนอมหาเถรสมาคมพิจารณาทุกกรณี" เพื่อมีมติประการหนึ่งประการใด เพื่อเสนอไปยังราชเลขานุการในพระองค์ ตาม ข้อ 5/1(1)

 

ดังนั้น การดำเนินการจึงไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์อันสำคัญในการแต่งตั้งเจ้าคณะจังหวัด ตามกฎมหาเถรสมาคม คำสั่งแต่งตั้ง "พระเล็ก" จึง "โมฆะ" ด้วยเหตุผลที่กล่าว
การออกคำสั่งที่ฝ่าฝืน/ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกระบวนการอันเป็นสาระสำคัญสำหรับการกระทำนั้น แสดงให้ปรากฏตาม

 

ข้อคิด

 

  1. อันความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมนั้น ท่านว่าบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะกล่าวอ้างขึ้นก็ได้ และได้โดยตลอดจนกว่าจะแก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งอันเป็นโมฆะนั้น
  2. ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 มีอายุความ 15 ปี

 

 

 

ที่มา : ราชกิจจานุเบกษา ,มหาเถรสมาคม,สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ