กติกาเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมืองขยับ อัพเกรดย้ายสังกัด "ใครได้-ใครเสีย"
รธน.แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่1) ปี64 ประกาศใช้แล้ว ขั้นต่อไป คือ ยกร่างกม.ลูกสองฉบับ จับตาการกำหนดสูตรคำนวณบัตรเลือกตั้งสองใบ ส.ส.เขต 400 คน โดยเฉพาะปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน โอกาส ใครได้-ใครเสีย พรรคเล็ก-กลาง-ใหญ่จัดทัพถ่ายโอนชิงชัยคึกคัก กับเจาะประเด็นร้อน โดยเมฆาในวายุ
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 เหตุผลในการประกาศระบุว่า โดยที่ มาตรา 83 และมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 500 คน มีสมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 350 คน สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง จำนวน 150 คน เป็นจำนวนที่ไม่สอดคล้องต่อจำนวนประชากรในแต่ละเขตเลือกตั้ง
หากมีการกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมี จำนวน 400 คน ก็จะทำให้การดูแลปัญหาของประชาชนมีความใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และการคำนวณคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนแบบบัญชีรายชื่อก็มีความจำเป็นที่จะต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นธรรมต่อพรรคการเมืองและต้องเคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน
การให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิในการเลือกพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตย่อมทำให้ประชาชนได้ใช้เจตจำนงในการเลือกตั้งที่สอดคล้องกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564
กล่าวโดยสรุปสำหรับการเลือกตั้งส.ส.คราวหน้า ใช้บัตร 2 ใบเพื่อลงคะแนนให้ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือ ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน
งานนี้ใครได้ใครเสียระหว่าง 85 พรรคการเมืองที่ยังเคลื่อนไหวและรายงานกิจกรรมพรรคต่อกกต.กับการสู้ศึกงวดหน้า
ภาพบนกระดานการเมือง พบว่า พรรคการเมืองหลายพรรคขยับกิจกรรมทางการเมืองหลังยุติไปนาน เพราะสถานการณ์โควิด-19 และเมื่อมีจังหวะก็ตีฟุ้งกับราคาของพรรคตัวเอง
พรรคชาติไทยพัฒนา มีผู้แทนฯสิบสองคน แต่หวังเพิ่มส.ส.ให้แตะสามสิบคน พรรครวมพลังประชาชาติไทย เพิ่งประชุมใหญ่สามัญประจำปี เมื่อวันที่ 21 พ.ย. พร้อมประกาศจะเพิ่มส.ส.ให้มากกว่าห้าคน
พรรคเพื่อชาติหวังได้โอกาสเพิ่ม พรรคเพื่อไทยปูพรมให้ส.ส.และว่าที่ผู้สมัครส.ส.รวมทั้งว่าที่ผู้สมัครส.ก.อัดแคมเปญการเมืองเพียบ
พรรคประชาธิปัตย์ที่นำโดยหัวหน้าพรรคไปพบมวลชนในพื้นที่คาดหวัง พรรคพลังประชารัฐโดยผู้กองคนดังขยับตัวถี่ยิบในหลายจังหวัด พรรคก้าวไกลก็ออกเดินสาย พรรคกล้า รวมทั้งพรรคไทยสร้างไทย จะปรากฏกิจกรรมพรรคหลายพื้นที่แบบรัวๆ
ส่วนบางพรรคที่รอแจ้งเกิดหลังแยกตัวมาจากพรรคใหญ่ รวมทั้งพรรคเล็กและพรรคจิ๋วที่มีบทบาทการเมืองยามนี้ จับยามสามตาแล้วน่าจะเหนื่อยหนัก
แม้บางพรรคบอกว่าจะสู้ต่อ โดยปรับกลยุทธ์ตามภาวะวิสัยในตอนนี้ แต่ค่อนข้างแน่นอนว่าไม่นานวันจะพบการยุบพรรคตามรอย”ไพบูลย์ นิติตะวัน” แห่งพรรคประชาชนปฏิรูปที่เดินเข้าพลังประชารัฐได้ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญบังเกิดเป็นระลอก โดยต้องสังเกตที่มาที่ไปของแกนนำพรรคนั้นๆว่าวันวานที่ผ่านมาแนบแน่นกับคีย์แมนพรรคใด หรือแม้แต่บางพรรคน่าจะ "แพแตก"เพราะคีย์แมนแตะมือขั้วหนึ่ง แต่สมาชิกพรรคแตะมืออีกขั้วหนึ่ง
และวันข้างหน้านี้ เชื่อเลยว่าบางพรรคจะเปิดตัวให้ "นกแล"ลงแข่งขัน หลายพรรคน่าจะคัดคนแบบหัวกะทิ เพราะงานการเมืองนั้นกระแสมาพร้อมกระสุน แต่บางพรรคน่าจะควบรวมกิจการพรรคที่สนใจมาเป็นหนึ่งเดียวกันไปก่อน นัยว่าวันนี้สร้างเครดิตและเสริมแกร่งหาแต้มไปก่อน วันหลังค่อยมาแก้ปัญหาหลังบ้านที่น่าจะเกิดขึ้น
แต่ที่แน่ๆ ลำดับท็อปเท็นและหรือ 15 อันดับแรกของบัญชีรายชื่อแต่ละพรรค ต้องเป็น "เกรดเอ" เพราะดูแล้วส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์งวดนี้แต้มจะกระจายไปหลายพรรคหลัก
ส่วนพรรคขนาดกลางและเล็กนั้น อันดับ1-5 หากได้ไปเยือนรัฐสภาเกียกกายนับว่าสำเร็จแล้ว เร็ววันนี้อาจจะพบกระแสข่าวแกนนำบางพรรคย้ายมุ้ง เพราะใครก็ไม่อยากได้ชื่อว่าส.ส.สอบตก เว้นแต่พรรค"บิ๊กเนม"ที่น่าจะมั่นใจว่าตัวเลขส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น่าจะไหลไปแตะตัวเลขสามสิบอันดับ (เมื่อกติกาหลักมีผลบังคับใช้แล้วนั้น เท่ากับว่าผู้แทนฯระบบเขตจะเพิ่มขึ้นห้าสิบคน ผู้แทนฯปาร์ตี้ลิสต์หดไปห้าสิบคน)
อีกประการที่มิควรละเลย คือบางเขตนั้นมีฐานคะแนนในขั้วเดียวกันแต่พรรคเหล่านี้แข่งกันเอง แบบนี้น่าจะฟัดกันหนักเพราะแน่นอนว่าหลากพรรคหลักต้องเลือกผู้สมัครประเภท"ดี-เด่น-ดัง"ลงในระบบเขต และหวังให้ชาวบ้านในเขตนั้นเทใจเลือกพรรคด้วย เพราะหย่อนบัตรงวดที่แล้วใช้บัตรใบเดียว(เลือกคนและพรรครวมทั้งแคนดิเดตนายกฯไปพร้อมกัน) แต่เอาเข้าจริงแล้ว หลากพรรคยังใช้วิธีเดิมๆคือดึงตระกูลการเมือง/นักธุรกิจในพื้นที่ หรืออดีตนักการเมือง(อดีตส.ว./อดีตส.ส./อดีตสมาชิกอบจ./เทศบาล)มาเปิดตัวในพื้นที่ที่พรรคตัวเองไร้กำลังพล บางพรรคดึงคู่แข่งมาเสริมดื้อๆ( พรรคกล้า ดึงพันโทสุชาติ จันทรโชติกุล อดีตแกนนำพปชร.ภาคใต้ไปร่วมงาน) ของแบบนี้เป็นเรื่องปกติทางการเมือง เกิดขึ้นทุกครั้ง
แต่สิ่งที่ต้องมองลึกๆคือ สมการการเมืองจะเปลี่ยนเพียงใดสำหรับพรรคที่ได้กำลังพลไปเสริมทัพ พรรคที่เสียสมาชิกพรรคคนสำคัญให้คู่แข่ง เพราะสมการนี้มันเปลี่ยนทุกครั้ง
หากให้สรุปความยามนี้ พบว่า ค่อนข้างแน่นอนว่า “คนแดนไกล”ยิ้มกริ่มกับกติกานี้ เพราะมันเคยได้ผลกับปรากฏการณ์ไทยรักไทยฟีเวอร์ พลังประชาชนและเพื่อไทยเวอร์ชั่นนารีขี่ม้าขาวและตอนนี้อดีตคนในสังกัดทยอยตบเท้ากลับบ้านเก่ากันแล้ว