คอลัมนิสต์

ทิศทางพัฒนา สายตาหมอพลเดช “รูปธรรมปฏิรูปการเมือง”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อีกข้อเสนอที่ทำให้เกิดรูปธรรมปฏิรูปการเมือง นั่นคือ การเพิ่มเติมตัวชี้วัดที่ประชาชนอยากเห็น เช่น สถิติข้อมูลจำนวนเหตุการณ์และคดีที่เกี่ยวกับการปลุกระดมล้มเจ้า-เปลี่ยนระบอบ ติดตามได้จากเจาะประเด็นร้อน โดย พลเดช ปิ่นประทีป

ท่ามกลางสถานการณ์ความแตกแยกและความรุนแรงทางการเมืองในปี 2563/2564 คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้ทำการติดตาม เสนอแนะและเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมืองอย่างใกล้ชิด แต่กลับพบว่าในรายงานทุกรอบ 3 เดือน ยังไม่มีข้อมูลที่สะท้อนการแก้ปัญหาเท่าที่ควร

 

ในแผนปฏิรูปการเมือง กำหนดเป้าหมายใหญ่ไว้ 4 ประการ คือ

1)ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจในการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ

2)ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง

3)การเมืองมีเสถียรภาพร่วมทางการเมือง

 4)พรรคการเมืองและนักการเมืองยึดมั่นประโยชน์ประเทศชาติ ประชาชน  

 


สำหรับตัวชี้วัดเป้าหมายที่จะใช้ติดตาม มี 2 อย่าง คือ

1) ผลการประเมินสถานการณ์ประชาธิปไตยของประเทศโดยสถาบันพระปกเกล้า ล่าสุดในปี 2562 มีคะแนนประเมิน 58.41(คะแนนเต็ม 100)  และ 2) Democracy Index ที่ได้มาจากการประเมินของสถาบันวิชาการต่างประเทศ  ซึ่งปี 2563  the Economist Intelligence Unit ประเมินประเทศไทยด้วยคะแนน  6.04 (คะแนนเต็ม 10.0)  
สำหรับประชาชนทั่วไป ใครที่รับทราบข้อมูลแบบนี้แล้ว คงนึกไม่ออกว่าปัญหาความแตกแยกทางการเมือง การซื้อสิทธิ์ขายเสียงและทุจริตคอร์รัปชั่นที่เห็นกันอยู่คาตาในวันนี้ มันจะดีขึ้นได้อย่างไร   

ในคราวหนึ่ง เลขาธิการ กกต.ได้เข้ามาเสนอรายงานต่อที่ประชุมกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา ว่า “หัวใจของแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง มี 2 อย่าง คือ มุ่งเปลี่ยนประชาชนให้เป็นพลเมือง และ มุ่งเปลี่ยนพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยภายในพรรค”


ปัจจุบัน รัฐบาลได้ปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง โดยกำหนดให้มีงานที่จะสร้างผลกระทบสำคัญ 5 อย่าง (Big Rocks) และ มีกฎหมายที่จะผลักดัน 2 ฉบับ ดังนี้


1.การส่งเสริมความรู้ทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีตัวชี้วัดเป้าหมาย 4 อย่าง คือ

1) คะแนนด้านการเคารพสิทธิ เสรีภาพและหน้าที่เพิ่มขึ้น 2)คะแนนด้านการยึดมั่นในหลักนิติธรรมเพิ่มขึ้น

3)คะแนนด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนเพิ่มขึ้น

4)คะแนนด้านการสนับสนุนประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น

 

2.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะทุกระดับ มีตัวชี้วัดเป้าหมาย 2 อย่าง คือ 1)ร้อยละของเรื่องร้องทุกข์-ความคิดเห็นต่อโครงการรัฐได้รับการดำเนินการจนได้ข้อยุติ 2) คะแนนการมีส่วนร่วมของประชาชนจากการประเมินความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้น

 

3.การสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ  ตัวชี้วัดเป้าหมาย คือ 1)มีข้อเสนอแนวทาง กลไกและมาตรการปรองดอง สมานฉันท์ ขจัดความขัดแย้ง จากงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า

 

4. การส่งเสริมการพัฒนาพรรคการเมือง ตัวชี้วัดเป้าหมาย ได้แก่

1) จำนวนสมาชิกพรรคการเมืองทั้งหมดเพิ่มขึ้น

2)จำนวนสาขาพรรคการเมืองทั้งหมดเพิ่มขึ้น

3)จำนวนตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดทั้งหมดเพิ่มขึ้น

 

5. การปรับปรุงโครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป ตัวชี้วัดเป้าหมายคือ

1)มีข้อเสนอที่ระบุโครงสร้างและเนื้อหาที่ตั้งอยู่บนหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์และเชิงวิชาการ

 

ในภาพรวม ผมมีข้อเสนอแนะส่วนตัวว่าควรเพิ่มเติมตัวชี้วัดที่ประชาชนอยากเห็น เช่น 1) สถิติข้อมูลจำนวนเหตุการณ์และคดีที่เกี่ยวกับการปลุกระดมล้มเจ้า-เปลี่ยนระบอบ 2)สถิติการเลือกตั้งท้องถิ่น จำนวนผู้สมัคร ผู้ได้รับการเลือกตั้ง ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ความผิดคดีเลือกตั้งท้องถิ่น  
ส่วนการปฏิรูปการเมืองในระยะ 24 ปีที่ผ่านมา มีความเห็นว่าที่ยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะเอาแต่เพ่งเล็งที่การแก้กฎกติกาการเลือกตั้งและตัวรัฐธรรมนูญ โดยไม่กล้าที่จะกล่าวถึงปัญหาจากพฤติกรรมของนักการเมืองและประชาชนผู้เลือกพวกเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญเร่งด่วนยิ่งกว่า จึงเห็นว่าเป็นการเดินที่ผิดทิศทาง

 

ส่วนในเรื่องการผลักดันกฎหมาย มี 2 ฉบับนั้นเห็นตรงกัน ได้แก่  1)ร่าง พรบ.ว่าด้วยการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 2)ร่าง พรบ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ .

 

 

........................
Key Message

.......................


-จำนวนเหตุการณ์ปลุกระดมล้มเจ้า-เปลี่ยนระบอบมีแนวโน้มลดลง


-จำนวนเหตุการณ์ คดีผู้ชุมนุม และความเสียหายทางตรงจากการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง


-จำนวนครั้งการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น จำนวนผู้สมัคร-ผู้ได้รับการเลือกตั้ง-ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง-คดีเลือกตั้งท้องถิ่น


-การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สวนทางแผนปฏิรูปประเทศด้านการเมือง


-(ร่าง) พรบ.ว่าด้วยการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 


-(ร่าง) พรบ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ 
………………………………………

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ