คอลัมนิสต์

ปมร้อนซ่อนเงื่อน ขั้นตอนการแต่งตั้ง "เจ้าคณะจังหวัด" ที่มาต้าน "พระเล็ก"

24 พ.ย. 2564

เปิดขั้นตอนการแต่งตั้ง "เจ้าคณะจังหวัด" ปมร้อนซ่อนเงื่อน เบ็ดเสร็จที่มหาเถรสมาคม เป็นที่มาการเมืองร้อนใน "ศาสนจักร" คนกาฬสินธุ์ไม่เอา "พระเล็ก"

ยังคงเป็นที่จับตามองของชาวพุทธ กับปัญหาร้อนในวงการสงฆ์ กรณีมติมหาเถรสมาคม ปลดพระเทพสารเมธี หรือ เจ้าคุณบัวศรี จากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมแต่งตั้งพระครูสุทธิญาณโสภณ (เล็ก สุทธิญาโณ) เจ้าคณะอำเภอสังคม จ.หนองคาย หรือ "พระเล็ก" ที่มีคดีอธิกรณ์ 
ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ (ธ) แทน และได้รับตราตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2564 นั่นจึงเป็นที่มาให้คนในพื้นที่กาฬสินธุ์ รวมทั้งพระสงฆ์ เคลื่อนไหวต่อต้าน ด้วยเหตุผลที่ "พระเล็ก" เป็นพระสงฆ์นอกพื้นที่ และ พรรษาไม่ถึง "คมชัดลึกออนไลน์" เรียบเรียงขั้นตอน การแต่งตั้งและคุณสมบัติของตำแหน่ง "เจ้าคณะจังหวัด" ไล่เรียงลำดับลงมา

 


คณะสงฆ์ไทย หมายถึง บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535

 

พระภิกษุ มีศีล 227 ข้อ เป็นเครื่องกำกับวัตรปฏิบัติ พระภิกษุทุกรูปอยู่ภายใต้การปกครองของมหาเถรสมาคม ซึ่งได้วางกฎมหาเถรสมาคม ว่าด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ไว้เป็นลำดับขั้นการปกครอง และการปกครองคณะสงฆ์ทุกส่วนทุกชั้น มีเจ้าคณะมหานิกาย และเจ้าคณะธรรมยุตปกครองบังคับบัญชาวัด และพระภิกษุสามเณรในนิกายนั้น เช่น คณะธรรมยุตมีเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุตปกครอง ส่วนคณะมหานิกาย แบ่งการปกครองออกเป็น 4 หน คือ เจ้าคณะใหญ่หนหลวง เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก  เจ้าคณะใหญ่หนใต้

 

           ปมร้อนซ่อนเงื่อน ขั้นตอนการแต่งตั้ง \"เจ้าคณะจังหวัด\" ที่มาต้าน \"พระเล็ก\"

 

ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ซึ่งได้กระจายอำนาจการปกครองออกเป็นส่วน ๆ  ดังนี้

 

  • ส่วนที่ 1 ภาค มีเจ้าคณะภาคดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ในเขตภาคของตนให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม  ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช
  • ส่วนที่ 2 จังหวัด มีเจ้าคณะจังหวัดปกครอง (เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร และเจ้าคณะจังหวัดทั่วประเทศ)
  • ส่วนที่ 3 อำเภอ มีเจ้าคณะอำเภอปกครอง (เจ้าคณะเขตในกรุงเทพมหานคร และเจ้าคณะอำเภอทั่วประเทศ)
  • ส่วนที่ 4 ตำบล มีเจ้าคณะตำบลปกครอง (เจ้าคณะแขวงในกรุงเทพมหานครและเจ้าคณะตำบลทั่วประเทศ)

 

อำนาจหน้าที่สำคัญของเจ้าคณะตำบล นอกจากการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยดีงามแล้ว ยังมีหน้าที่ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งหรือ คำวินิจฉัยชั้นเจ้าอาวาส แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าอาวาสให้เป็นไปโดยชอบ ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าอาวาส และพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ในบังคับบัญชา หรือผู้อยู่ในปกครองของตน ตรวจการ และประชุมพระสังฆาธิการ ในเขตการปกครองของตน

 

หากเรียงลำดับการปกครองคณะสงฆ์ จากล่างขึ้นบน เป็นดังนี้

 

  • ตำบล ปกครองดูแลวัด (เจ้าคณะตำบลดูแลหลาย ๆ วัด)
  • อำเภอ ปกครองดูแล ตำบล (เจ้าคณะอำเภอดูแลหลาย ๆ ตำบล)
  • จังหวัด ปกครองดูแล อำเภอ  (เจ้าคณะจังหวัดดูแลหลาย ๆ อำเภอ)
  • ภาค ปกครองดูแลจังหวัด (เจ้าคณะภาค ดูแลหลาย ๆ จังหวัด)
  • หน ปกครองดูแลภาค (เจ้าคณะใหญ่  ดูแล ภาคหลาย ๆ ภาค)
  • มหาเถรสมาคม ปกครองดูแลคณะสงฆ์ในภาพรวม


หากพูดถึง เจ้าคณะจังหวัด เป็นพระสังฆาธิการที่ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งจากสมเด็จพระสังฆราชไทย โดยผ่านมติการเห็นชอบของมหาเถรสมาคม มีอำนาจหน้าที่การปกครองตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ และกฎมหาเถรสมาคม ในเขตจังหวัดของตน

 

คุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง "เจ้าคณะจังหวัด"

 

  • มีพรรษา 10 พรรษาขึ้นไป กับมีสำนักอยู่ในเขตจังหวัดนั้น และ
  • กำลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดในจังหวัดนั้นมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรือ
  • กำลังดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอในจังหวัดนั้นมาไม่ต่ำกว่า 4 ปี หรือ
  • มีสมณศักดิ์ไม่ต่ำกว่าพระราชาคณะชั้นสามัญ หรือเป็นพระคณาจารย์ขึ้นไป หรือเป็นเปรียญธรรม 6 ประโยคขึ้นไป

 

อำนาจหน้าที่ "เจ้าคณะจังหวัด"

 

  • ดำเนินการปกครองคณะสงฆ์ให้เป็นไปตามพระธรรมวินัย กฎหมาย กฎมหาเถรสมาคม ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเหนือตน
  • ควบคุมและส่งเสริมการรักษาความเรียบร้อยดีงาม การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และการสาธารณสงเคราะห์ ให้ดำเนินไปด้วยดี
  • ระงับอธิกรณ์ วินิจฉัยการลงนิคหกรรม วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยชั้นเจ้าคณะอำเภอ
  • แก้ไขข้อขัดข้องของเจ้าคณะอำเภอให้เป็นไปโดยชอบ
  • ควบคุมบังคับบัญชาเจ้าคณะและเจ้าอาวาส ตลอดถึงพระภิกษุสามเณรผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรืออยู่ในเขตปกครองของตน และชี้แจงแนะนำการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อยู่ในบังคับบัญชา ให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย ตรวจการ และประชุมพระสังฆาธิการในเขตปกครองของตน


สำหรับ "อัตรานิตยภัต" ตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด อยู่ที่ 10,300 บาท

 

ปมร้อนซ่อนเงื่อน ขั้นตอนการแต่งตั้ง \"เจ้าคณะจังหวัด\" ที่มาต้าน \"พระเล็ก\"
 

 

 

 

ที่มา : วิกิพีเดีย ,สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ