คอลัมนิสต์

เปิดเส้นทางที่มาเงิน 350 ล้านบาท สภาองค์กรของผู้บริโภค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดเส้นทางที่มาของเงิน 350 ล้านบาท หลังสภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับจัดสรรจากรัฐบาลเพื่อเป็นทุนประเดิมตั้งต้นในการดำเนินงานแก่ 152 องค์กรผู้บริโภค พบเป็นการจ่ายขาดทั้งก้อน 350 ล้านบาท

จากที่ “คมชัดลึก” ได้เกาะติดการดำเนินงานของสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเด็น ความโปร่งใสในการใช้เงินจำนวน 350 ล้านบาท ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนแก่สภาองค์กรของผู้บริโภค โดยเป็นทุนประเดิมในการดำเนินงาน ตามที่ พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ได้กำหนดไว้ แต่แล้วก็ปรากฏข่าวว่ามีการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภคที่ไม่ได้จดแจ้งเป็นองค์กรผู้บริโภคอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นเพียงองค์กรทิพย์ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาประโยชน์จากเงินจำนวน 350 ล้านบาท 

 

กรณีนี้พบว่าเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นคำร้องต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เพื่อขอให้ตรวจสอบองค์กรผู้บริโภค 152 องค์กร ร่วมกันจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อขอรับเงินสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาล 350 ล้านบาท ว่ามีคุณลักษณะเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ โดยนายศรีสุวรรณ ระบุว่า “พบว่า 16 องค์กรไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด และไม่ได้ทำกิจกรรมเชิงประจักษ์ ดังนั้น จึงเชื่อว่าอีก 136 องค์กรที่เหลือ อาจมีลักษณะเดียวกันกับที่สุ่มตรวจก็ได้ ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงยุติธรรมมีศักยภาพในการตรวจสอบทุกองค์กรได้” 
 

เปิดเส้นทางที่มาเงิน 350 ล้านบาท สภาองค์กรของผู้บริโภค

รวมทั้งนายศรีสุวรรณ ยังได้เข้ายื่นคำร้องถึงนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายทะเบียนกลาง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562  โดยเข้ายื่นคำร้องเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล ถึงการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคนั้นมีความถูกต้องหรือไม่ ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภคก็ได้จัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยยืนยันถึงการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีองค์กรทิพย์ตามที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด 

  

เปิดเส้นทางที่มาเงิน 350 ล้านบาท สภาองค์กรของผู้บริโภค

 

อย่างไรก็ตาม ต่อประเด็นปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น "คมชัดลึก" ได้สืบค้นถึงเส้นทางการเงินจำนวน 350 ล้านบาท ที่รัฐบาลจะต้องจ่ายให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภคนั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร โดยเบื้องต้นพบว่านับตั้งแต่ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ได้ถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ 

จากนั้นเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศได้ทยอยกันไปยื่นจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภคต่อนายทะเบียนกลางและนายทะเบียนจังหวัด ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ผ่านกระบวนการจดแจ้งสถานะฯ ซึ่งใช้เวลากว่า 1 ปี เนื่องจากความยุ่งยากของเอกสาร การจัดการ การตรวจสอบ และความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างหน่วยงาน กระทั่งวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ก็มีองค์กรผู้บริโภคที่ผ่านการจดแจ้งครบ 152 องค์กร และได้รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ในฐานะนายทะเบียนกลาง เพื่อจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ขึ้น หลังจากได้ผลักดันเรื่องนี้มากว่า 20 ปี

 

ส่วนที่มาของเงินทุนของสภาองค์กรของผู้บริโภคนั้น พบว่าสภาองค์กรของผู้บริโภค ไม่รับการสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินจากบริษัทเอกชน และพรรคการเมืองใด โดยที่มาของเงินทุนตั้งต้นของสภาฯ มาจากทุนประเดิมที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นการอุดหนุนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท (ตามมาตรา 19 ของ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคพ.ศ. ๒๕๖๒)  เพื่อใช้สำหรับการดำเนินการให้เกิดการรวมตัวกันขององค์กรของผู้บริโภคอย่างทั่วถึงและเกิดพลังอย่างแท้จริง ส่วนในปีถัด ๆ ไปจะมาจากเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้โดยตรงเป็นรายปีเป็นการจ่ายขาดให้แก่สภา แต่ถึงแม้สภาฯ จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐ แต่ก็สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐได้อย่างเป็นอิสระด้วยเช่นเดียวกัน

 

นอกจากเงินทุนจากรัฐบาลแล้ว สภาองค์กรของผู้บริโภคสามารถได้เงินทุนค่าใช้จ่ายและค่าป่วยการที่ศาลสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจชำระแก่สภา เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้ ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสภา และรายได้อื่น โดยต้องไม่เป็นการกระทำที่อาจทำให้สภาขาดความเป็นอิสระในการดำเนินงาน หรืออาจก่อให้เกิดการขัดหรือแย้งต่อวัตถุประสงค์ของสภา

 

กระทั่งเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2562 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน จำนวน 350 ล้านบาท ให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น ตามที่ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 กำหนดไว้

 

เปิดเส้นทางที่มาเงิน 350 ล้านบาท สภาองค์กรของผู้บริโภค

 

แผนปฏิบัติการสภาองค์กรของผู้บริโภค ภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2564-2565 ประกอบด้วย 6 แผนสำคัญ ดังนี้ คือ
1.แผนงานสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค 
2.แผนงานพัฒนานโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค 
3.แผนงานสนับสนุนหน่วยประจำจังหวัดและองค์กรของผู้บริโภค 
4.แผนงานสื่อสารเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 
5.แผนงานจัดตั้งสำนักงานและพัฒนากำลังคนของสภาองค์กรของผู้บริโภค 
6.แผนเงินสำรองกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 350 ล้านบาท 

 

ส่วนงบประมาณอีก 378 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 นั้น ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคใช้จ่ายจากเงินทุนประเดิมที่มีเหลือและเงินรายได้ที่มาจากค่าลงทะเบียน ค่าบำรุง และค่าบริการที่เก็บจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก หากไม่เพียงพอให้เสนอขอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณตามความจำเป็นต่อไป

 

ทั้งนี้ มาตรา ๑๖ ของ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค กำหนดไว้ว่าให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนเป็นรายปี เป็นการจ่ายขาดให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภคตามที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอในการจัดสรรเงินอุดหนุนตามวรรคหนึ่ง ให้คณะรัฐมนตรีจัดสรรให้เพียงพอต่อการดำเนินงานโดยอิสระของสภาองค์กรของผู้บริโภค ในกรณีที่สภาองค์กรของผู้บริโภคเห็นว่าจำนวนเงินที่คณะรัฐมนตรีจัดสรรให้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานตามวรรคสอง สภาองค์กรของผู้บริโภคจะมีหนังสือขอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนเพื่อจัดให้เพียงพอก็ได้

 

สำหรับบทบาทหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้ 


1.คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค  เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 


2.ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวัง สถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการและเตือนภัยผู้บริโภค 


3.รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้า หรือใช้บริการเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก


4.รายงานการกระทำที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ 


5.ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค หรือให้ความช่วยเหลือในกรณีที่ผู้บริโภคหรือองค์กรของผู้บริโภคถูกฟ้องคดีจากการใช้สิทธิในฐานะผู้บริโภคหรือใช้สิทธิแทนผู้บริโภค 


6.สนับสนุนการศึกษาและการวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค 


7.สนับสนุนและส่งเสริมการรวมตัวของอค์กรของผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่ เพื่อให้กระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ 


8.สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ย หรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ