คอลัมนิสต์

ทิศทางพัฒนา สายตาหมอพลเดช “รับมือวิกฤตสังคมยุคโควิด”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตครั้งรุนแรง อีกหนึ่งความพยายามภาคประชาสังคม ผ่านมุมมองแนวคิดของ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป คือการ ผลักดัน โครงการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจฐานรากจากวิกฤต COVID-19" เป็นอย่างไร ติดตามได้จาก เจาะประเด็นร้อน โดย พลเดช ปิ่นประทีป

 

ตามที่ได้เสนอแนะว่ารัฐบาลควรออกนโยบายจัดตั้ง "โครงการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจฐานรากจากวิกฤต COVID-19"  โดยมุ่งขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมจากพลังทางสังคมและชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ จัดระบบดูแลผู้รับผลกระทบทางสังคมจากวิกฤตโควิดในครั้งนี้

 

ในการบริหารจัดการโครงการ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะดำเนินการไปตามระบบราชการปกติ เพราะระเบียบ ข้อบังคับและวัฒนธรรมองค์กรราชการจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานสนับสนุนองค์กรชุมชนในภาวะวิกฤติ จึงควรต้องออกแบบการบริหารจัดการโดยศึกษาจากรูปแบบการทำงานของโครงการ SIF ในยุควิกฤติต้มยำกุ้ง

 

โครงสร้างการบริหารงาน

 

กำหนดให้กลไกตัดสินใจสูงสุด คือ คณะรัฐมนตรี  ส่วนกลไกที่กำกับดูแลโดยตรง อาจจัดให้มีคณะกรรมการนโยบายสังคมแห่งชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน  มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสัดส่วนที่มากกว่ากรรมการจากภาครัฐ (อาทิ สัดส่วน ๘๐/๒๐)  โดยมีสภาพัฒน์เป็นฝ่ายเลขานุการ

 

กลไกดำเนินการในระดับส่วนกลาง คือ สำนักงานโครงการฯ  โดยให้เป็นกลไกปฏิบัติการแบบเฉพาะกิจของสำนักงานบูรณาการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจน อันเป็นหน่วยงานของสภาพัฒน์ที่จัดตั้งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี(๒๕๖๓)  

 

ส่วนกลไกดำเนินการในระดับจังหวัด จัดให้มีศูนย์ประสานงานโครงการSIFจังหวัด  โดยอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัดและ ก.บ.จ. มีคณะกรรมการโครงการ SIFจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ  ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่นและภาคเอกชน รวมทั้งฐานะประธานกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ( พชอ.)หรือนายอำเภอร่วมเป็นกรรมการ และให้ พชอ.เป็นกลไกระดับอนุกรรมการหรือคณะทำงานพื้นที่ในระดับอำเภอ-ตำบลของศูนย์ประสานงาน SIF จังหวัด

 

สำนักงานโครงการฯ ต้องจัดให้มีอัตรากำลังคนในการปฏิบัติงานอย่างเพียงพอในทุกระดับ  โดยมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่โครงการที่ทำงานแบบกึ่งอาสาสมัคร  โดยคัดสรรผู้ปฏิบัติงานที่มีประสบการร์การทำงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคมในพื้นที่เข้ามาเป็นผู้ปฏิบัติงาน

 

 

กรอบแผนงานสำหรับกองทุนในเบื้องต้น อาจประกอบด้วย ๗ แผนงาน ( Menu) ดังนี้

 

๑) สร้างความมั่นคงด้านข้าวปลาอาหารในระดับชุมชนท้องถิ่น 

 

ความมั่นคงด้านอาหารเป็นความสำคัญสูงสุดในภาวะสงครามยืดเยื้อ โชคดีที่ประเทศไทยอยู่ในเขตทรอปิคอล มีความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารและจุลินทรีย์ที่อยู่ในธรรมชาติ สามารถรองรับการกลับมาของแรงงานในเมืองได้ไม่ยาก ถ้ามีระบบการจัดการที่ดี 
แผนงานนี้มุ่งสนับสนุนกระบวนการของชุมชนท้องถิ่นทุกหมู่บ้าน-ตำบล ให้มีแผนความมั่นคงด้านข้าวปลาอาหาร ต้องรู้ว่าใน ๑-๒ ปีข้างหน้า ชุมชนของตนต้องบริโภคข้าวสาร ไข่ไก่ น้ำมันพืช โปรตีนสัตว์ ฯลฯ จำนวนเท่าไร สามารถผลิตเองได้เท่าไร ต้องนำเข้าจากภายนอกเท่าไร จากที่ไหน อย่างไร นำไปสู่การดำเนินงานและบริหารจัดการร่วมกันของคนทั้งชุมชน  

 

๒) สร้างความมั่นคงด้านน้ำการเกษตรขนาดเล็ก 

 

น้ำ คือ ชีวิตและความอุดมสมบูรณ์ การแก้ภัยแล้งอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องมุ่งไปที่การจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ประชาชนเป็นผู้ดำเนินการเองได้ มีรูปแบบที่หลากหลายไปตามสภาพภูมิประเทศและภูมิปัญญาพื้นถิ่น

แผนงานมุ่งสนับสนุนโครงการจัดการน้ำของชุมชน อาทิ  โคกหนองนา ฝายมีชีวิต  ธนาคารน้ำใต้ดิน  รวมทั้งรูปแบบโอเอซิสชุมชนที่กำลังนิยมกันมากในภาคอีสาน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูบน้ำตลอดทั้งวันจากบาดาลบ่อตื้น สร้างเป็นระบบน้ำผิวดินแบบโอเอซิส 

 

๓) สร้างความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน  

 

มุ่งสร้างความสามารถในการพึ่งตนเองด้านพลังงานทางเลือก อาทิ แก็สชุมชนจากถ่านชีวภาพและชีวมวล น้ำมันเชื้อเพลิงชุมชนจากขยะพลาสติค ไฟฟ้าชุมชนจากแหล่งพลังงานผสมผสาน

 

๔) สนับสนุนพลังหนุ่มสาวคืนถิ่น 

 

แรงงานคนหนุ่มสาวที่คืนถิ่น รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาและบัณฑิตที่ตกงาน ในคราวนี้จะแตกต่างจากยุควิกฤติปี ๒๕๔๐  เพราะพวกเขาจะมาพร้อมกับทักษะชีวิตและวิธีคิดของยุคดิจิทัล แผนงานนี้มุ่งสนับสนุนกิจการและผู้ประกอบการด้าน Smart Farming, Smart SME-SE, ดิจิทัลชุมชน, ท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ เพื่อวางรากฐานระบบเศรษฐกิจฐานรากในยุคใหม่ ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

๕) ส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมชุมชน

 

ในสงครามโรคระบาดคราวนี้ทำให้เราได้บทเรียนรู้สำคัญ การผลิตหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมทั้งเวชภัณฑ์ป้องกันโรคที่ใช้ในชุมชนและในโรงพยาบาล มีหลายสิ่งอย่างที่เราสามารถผลิตเองได้ ทั้งเพื่อการใช้เองและสร้างเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น

 

๖) สนับสนุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเป็นศูนย์เรียนรู้

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ๙ แห่ง ที่กระจายอยู่ตามภูมิภาค มีฐานทุนทางบุคลากร ทรัพยากรและพื้นที่ประกอบภารกิจที่สมบูรณ์ ควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้เป็นศูนย์เรียนรู้และฝึกอบรมด้านเกษตรแบบพอเพียง Smart Farming  ท่องเที่ยวเกษตร-สุขภาพ และพลังงานชุมชน เป็นฐานทางวิชาการ เชื่อมโยงกับเครือข่ายวิทยาลัยอาชีวะ และวิทยาลัยชุมชน สนับสนุนการฟื้นฟูสังคมและเศรษฐกิจฐานรากในเชิงพื้นที่

 

๗) รณรงค์ไทยเที่ยวไทย 

 

การท่องเที่ยวที่มุ่งรองรับชาวต่างชาติเคยทำให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่ฟู่ฟ่า บัดนี้การฟื้นตัวคงต้องใช้เวลามากกว่า ๒-๓ ปี  การรณรงค์ไทยเที่ยวไทยจึงมีความสำคัญต่อการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและกระจายรายได้ไปสู่ประชาชนทุกภูมิภาคและชุมชนท้องถิ่น ไทยกิน ไทยใช้ ไทยผลิต ทำให้ไทยแข็งแรง เกียรติภูมิของประเทศไทยในสมรภูมิโรคโควิดคราวนี้ จะนำพานักท่องเที่ยวต่างชาติให้หวนกลับมาอีกอย่างแน่นอน เราจะต้อนรับพวกเขาเหล่านั้น ด้วยวิถีความเป็นไทย ที่สมาร์ทกว่าเดิม.
.

.............................................................................................

Key message

 “เสนอ 7 แผนงาน ฟื้นฟูสังคมยุคโควิด”

  • 1.    สร้างความมั่นคงด้านข้าวปลาอาหารในระดับชุมชนท้องถิ่น 
  • 2.    สร้างความมั่นคงด้านน้ำการเกษตรขนาดเล็ก 
  • 3.    สร้างความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน      
  • 4.    สนับสนุนพลังหนุ่มสาวคืนถิ่น 
  • 5.    ส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมชุมชน
  • 6.    สนับสนุนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเป็นศูนย์เรียนรู้
  • 7.    รณรงค์ไทยเที่ยวไทย 
logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ