คอลัมนิสต์

"สภาองค์กรของผู้บริโภค" เปิดเวทีทวงถามยุติธรรม หลังโดน DSI บุกตรวจสอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ติดตามความไม่ชอบมาพากล หลัง "สภาองค์กรของผู้บริโภค" ทวงถามกระทรวงยุติธรรม จากเหตุบุคคลอาจแอบอ้างเป็น DSI บุกตรวจสอบองค์กรสมาชิก

“สภาองค์กรของผู้บริโภค ทวงถาม ยธ. เหตุบุคคลอาจแอบอ้าง DSI บุกตรวจสอบองค์กรสมาชิก” นี่เป็นหัวข้อที่จะมีการแถลงข่าวขึ้นในเช้าวันนี้ เวลา 10.00-11.00 น. ที่อาคารจี ทาวเวอร์ แกรนด์พระราม 9 ชั้น 31 

 

สิ่งที่น่าสนใจคือทำไมสภาองค์กรของผู้บริโภค ต้องทวงถามกระทรวงยุติธรรม เหตุใดจึงมีบุคคลแอบอ้างเป็นดีเอสไอ (DSI) กรมสอบสวนคดีพิเศษ บุกตรวจสอบองค์กรสมาชิก วันนี้ “เจาะประเด็นร้อน” สืบค้นที่มาและเรื่องราวเบื้องต้นมาให้ได้ทราบกัน

 

พบว่าก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นคำร้องต่อ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เพื่อขอให้ตรวจสอบองค์กรผู้บริโภค 152 องค์กร ร่วมกันจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อขอรับเงินสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาล 350 ล้านบาท ว่ามีคุณลักษณะเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ โดยนายศรีสุวรรณ ระบุว่า “พบว่า 16 องค์กรไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด และไม่ได้ทำกิจกรรมเชิงประจักษ์ ดังนั้น จึงเชื่อว่าอีก 136 องค์กรที่เหลือ อาจมีลักษณะเดียวกันกับที่สุ่มตรวจก็ได้ ซึ่งเชื่อว่ากระทรวงยุติธรรมมีศักยภาพในการตรวจสอบทุกองค์กรได้” 

นอกจากนี้ นายศรีสุวรรณ ตั้งข้อสังเกตว่าองค์กรเหล่านี้ บางองค์กรอาจถูกจัดตั้งขึ้นมาลอย ๆ เพื่อให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด และจากการสุ่มตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคตามบัญชีรายชื่อ พบว่าองค์กรผู้บริโภคที่แจ้งไว้กับทางราชการนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรู้จัก และเมื่อตรวจสอบเชิงลึกโดยการพูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น และชาวบ้าน พบว่าหลายองค์กรไม่มีที่ตั้งตามที่แจ้งไว้ หรือไม่มีการทำกิจกรรมตามที่จดแจ้ง ซ้ำร้ายกว่านั้นที่อยู่ที่จดแจ้งในทะเบียนราษฎร์ไม่มีเลขที่นี้ในสารบบเลย พร้อมกับนำบันทึกภาพอัดคลิปเสียงของผู้ให้ข้อมูล และหลักฐานทั้งหมดมอบให้กระทรวงยุติธรรม เพื่อขยายผลสอบ 152 องค์กรผู้บริโภค

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564  ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ทำเนียบรัฐบาล นายศรีสุวรรณ ได้เข้ายื่นคำร้องถึงนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะนายทะเบียนกลาง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 หลังจากที่สมาคมฯ ได้เคยยื่นคำร้องให้ตรวจสอบ 16 องค์กรด้านผู้บริโภคเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา
 

ในความเคลื่อนไหวทั้งหมดของนายศรีสุวรรณนั้น ล่าสุด น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ให้สัมภาษณ์ “คมชัดลึก” ชี้เรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ทราบว่า การเข้ายื่นเรื่องต่อกระทรวงยุติธรรมและปลัดสำนักนายกฯ ของนายศรีสุวรรณ เพื่อให้ตรวจสอบ 152 องค์กรผู้บริโภค โดยเฉพาะพุ่งเป้าการตรวจสอบไปที่ 16 องค์กรผู้บริโภคนั้น 

 

น.ส.สารี ระบุว่าในความเป็นจริงคือ 16 องค์กรผู้บริโภค ที่นายศรีสุวรรณ อ้างว่าอาจตั้งขึ้นมาโดยไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดนั้น จากที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ พบว่า 16 องค์กรของผู้บริโภคเป็นองค์กรที่มีคุณภาพและทำงานกันอย่างต่อเนื่อง มีองค์กรของรัฐในระดับจังหวัดเข้าร่วมทำงานด้วย รวมถึงการออกจดหมายรับรองให้ด้วย 

 

ฉะนั้น 16 องค์กรผู้บริโภคนี้ไม่มีปัญหาเลย แต่จู่ ๆ ดีเอสไอ ก็เข้าไปสอบสวน โดยไม่มีเอกสารแจ้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และไม่ได้แจ้งล่วงหน้าด้วย ซึ่งอาจไม่ใช่เจ้าหน้าที่      ดีเอสไอจริง ทำให้วันนี้ต้องมีการแถลงข่าวต่อเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อทวงถามกระทรวงยุติธรรม ถึงเหตุบุคคลอาจแอบอ้างเป็น DSI บุกตรวจสอบองค์กรสมาชิก จากนั้นได้มีสมาชิกร้องเรียนเข้ามาที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ล่าสุดมีสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภคบางส่วนเข้าแจ้งความไว้แล้ว

 

“เนื่องจากสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภค ถูกเจ้าหน้าที่แสดงตัวว่าเป็นดีเอสไอ เข้าตรวจค้น โดยไม่มีหมายเชิญเพื่อขอตรวจสอบล่วงหน้า ทั้งที่สมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภคทั้ง 16 แห่งนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ " น.ส.สารี กล่าวและว่า สมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภคทั้ง 152 แห่งนี้มีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันไป เช่น การดูแลสิทธิผู้บริโภคด้านสุขภาพ ด้านสิทธิผู้ป่วย การรักษาพยาบาล หรือสิทธิผู้บริโภคกลุ่มคนพิการ โดยสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภคทุกกลุ่มต้องทำเรื่องสิทธิผู้บริโภค ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งให้ครบทั้ง 8 ด้าน

 

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้ประกาศใช้ เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๖ บัญญัติให้สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และองค์กรของผู้บริโภคดังกล่าวมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ สมควรมีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

 

นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนเป็นการจ่ายขาดเพื่อเป็นทุนประเดิมให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท ภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันประกาศจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้เกิดการรวมตัวกันขององค์กรของผู้บริโภคอย่างทั่วถึงและเกิดพลังอย่างแท้จริง 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ