คอลัมนิสต์

เปิดประวัติ "วัดประจำรัชกาล" 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี ศูนย์รวมจิตใจของคนไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดประวัติ "วัดประจำรัชกาล" แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งแต่ละวัด นอกจากจะมีสถาปัตยกรรมที่งดงามแล้ว ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน

"คมชัดลึกออนไลน์" ได้พาไปไล่เรียง ทำความรู้จัก "วัดไทย" รวมทั้ง ความแตกต่างของ "พระอารามหลวง" หรือ วัดหลวง กับ "วัดราษฎร์" มาแล้ว ครานี้ จะพาไปทำความรู้จักกับวัดประจำรัชกาล แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่ปฐมกษัตริย์แล้ว โดยส่วนมากมักเป็นวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้น หรือบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ แต่คนไทยส่วนใหญ่ มักไม่ค่อยทราบว่า มีวัดใดบ้าง และวัดดังกล่าวมีความสำคัญต่อพระมหากษัตริย์ในแต่ละรัชกาลอย่างไร 

 


จากข้อมูลของ "วัดไทย" ทุกวัดประจำรัชกาล จะเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก มีทั้งชนิดราชวรมหาวิหาร และราชวรวิหาร

 

เปิดประวัติ "วัดประจำรัชกาล" 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี ศูนย์รวมจิตใจของคนไทย

1. วัดประจำรัชกาลที่ 1 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

 

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ตั้งอยู่ติดกับพระบรมมหาราชวัง ระหว่างถนนมหาราช และถนนสนามไชย ถือเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง นอกจากนี้ ทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551 อีกด้วย

      

ซึ่งเหตุที่วัดโพธิ์กลายเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 ก็เพราะวัดโพธิ์มีชื่อเดิมว่า "วัดโพธาราม" เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ 
ให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัด และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาวาศ" พอมาถึงในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเปลี่ยนคำสร้อยท้ายนามวัดเป็น "วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม" 

 

 

เปิดประวัติ "วัดประจำรัชกาล" 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี ศูนย์รวมจิตใจของคนไทย

 

2. วัดประจำรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 

 

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดแจ้ง เป็นวัดโบราณ จากหลักฐานเชื่อว่า สร้างในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดมะกอกนอก ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ 2 มาบรรจุที่พุทธอาสน์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในอุโบสถ

 

วัดอรุณฯ ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ ทั้งพระอาราม โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ จึงโปรดให้สร้างพระอุโบสถ และพระวิหารต่อจนแล้วเสร็จ พร้อมทั้งทรงปั้นหุ่นพระพุทธรูป ด้วยฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง และโปรดให้หล่อขึ้นประดิษฐาน เป็นพระประธานในพระอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดอรุณราชธาราม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้มีการก่อสร้างพระปรางค์องค์ใหญ่ ซึ่งมีความสูง 82 เมตร กว้าง 234 เมตร แต่มาเสร็จสมบูรณ์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดอรุณราชวราราม"

 

เปิดประวัติ "วัดประจำรัชกาล" 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี ศูนย์รวมจิตใจของคนไทย

 

3. วัดประจำรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร หรือ วัดราชโอรส  ตั้งขึ้นอยู่ริมคลองสนามไชยฝั่งธนบุรีที่ติดคลองบางหว้า เป็นวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เดิมมีชื่อว่า "วัดจอมทอง" แต่ต่อมาได้รับพระราชทานนามวัดใหม่ จากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ว่า "วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร" ที่หมายถึง "วัดที่พระราชโอรสทรงสถาปนา" เพื่อเป็นเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นพระราชโอรส และทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดขึ้นใหม่ ทั้งพระอารามและถวายเป็นพระอารามหลวง แด่พระราชบิดา

 

เปิดประวัติ "วัดประจำรัชกาล" 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี ศูนย์รวมจิตใจของคนไทย

 

4. วัดประจำรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ข้างสวนสราญรมย์ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.2407 เพื่อเป็นวัดธรรมยุตินิกาย เพื่อให้เจ้านายและข้าราชการทั้งฝ่ายนอกและฝ่ายใน ได้บำเพ็ญกุศลกันได้สะดวกขึ้น เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังและทรงพระราชทานนามว่าวัดราชประดิษฐ์สถิตธรรมยุติการาม ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม

 

             เปิดประวัติ "วัดประจำรัชกาล" 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี ศูนย์รวมจิตใจของคนไทย

 

5. วัดประจำรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 7

 

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร คำว่า ราชบพิธ หมายถึง พระราชาทรงสร้าง ซึ่งก็คือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกสำหรับพระอัครมเหสีพระราชเทวี และเจ้าจอมพระสนมเอกของพระองค์ ส่วน สถิตมหาสีมาราม ก็คือเป็นวัดที่ประดิษฐานเสมาขนาดใหญ่เพราะตามปกติแล้ว เสมาของวัดโดยทั่วไปจะอยู่ตามมุมหรือติดอยู่กับตัวพระอุโบสถ แต่เสมาของวัดนี้ตั้งอยู่บนกำแพงรอบวัดถึง 8 ด้าน จึงเป็นการขยายเขตทำสังฆกรรมของสงฆ์ให้กว้างขึ้น

     

วัดนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 เท่านั้น แต่ยังเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 7 ด้วย เพราะในรัชสมัยของ รัชกาลที่ 7 มิได้มีการสร้างวัด แต่ท่านก็ได้รับพระราชภาระในการทำนุบำรุงและบูรณปฏิสังขรณ์วัดราชบพิธนี้ด้วย ดังนั้นจึงถือเป็นวัดประจำพระองค์ด้วยเช่นกัน

 

เปิดประวัติ "วัดประจำรัชกาล" 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี ศูนย์รวมจิตใจของคนไทย

 

6. วัดประจำรัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 9

 

วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เป็นวัดที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีสถาปัตยกรรมแบบไทยผสมจีน พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึง 4 พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

 

วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร เดิมชื่อ วัดใหม่ เป็นวัดโบราณ เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงผนวชได้เสด็จมาประทับ และทรงตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุตติกนิกายขึ้นที่วัดนี้เป็นครั้งแรก ถือเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่ง เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ณ วัดนี้อีกด้วย

       

อีกทั้ง หลังจากเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) จะอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารประดิษฐานที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ซึ่งจะถือเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 9

 

เปิดประวัติ "วัดประจำรัชกาล" 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี ศูนย์รวมจิตใจของคนไทย

 

7. วัดประจำรัชกาลที่ 8

 

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร  เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นใน พ.ศ.2350 แต่มาเสร็จบริบูรณ์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใน พ.ศ.2390 และพระราชทานนามว่า วัดสุทัศนเทพวราราม

 

ภายในวัดสุทัศนเทพวราราม เป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) พระอัฐมรามาธิบดินทร และได้อัญเชิญ พระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ มาบรรจุที่ผ้าทิพย์ด้านหน้าพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนีเมื่อ พ.ศ. 2493 และมีพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรในวันที่ 9 มิถุนายนของทุกปี

 

 

เปิดประวัติ "วัดประจำรัชกาล" 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี ศูนย์รวมจิตใจของคนไทย

 

8. วัดประจำรัชกาลที่ 10

 

วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร หรือ วัดทุ่งสาธิต สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.2399 โดยคหบดีชาวลาวชื่อ นายวันดี ที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ ภายหลังจากเจ้าอาวาสรูปสุดท้ายมรณภาพ ทำให้ไม่มีใครสืบสานต่อจนกลายเป็นวัดร้าง ต่อมาปี พ.ศ.2506 วัดได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ให้สวยงามดังเดิม

     

และเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2508 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (รัชกาลที่ 10) ทรงรับวัดทุ่งสาธิตไว้ในพระอุปถัมภ์ พร้อมได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า "วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร" ด้วย พระอาจารย์สาธิต ฐานวโร ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตถวายวัดทุ่งสาธิต แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ (พระยศรัชกาลที่ 10 ในขณะนั้น)

 

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลในวิกิพีเดีย จะเห็นว่าวัดประจำรัชกาลที่ 9 ไม่ใช่วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก และ วัดประจำรัชกาลที่ 10 ก็ไม่ใช่วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร แต่เป็นการเลือกเอาวัด ที่พระมหากษัตริย์พระองค์นั้น ทรงมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยยึดเอาที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารเป็นสำคัญ

 

 

 

 

ที่มา : วิกิพีเดีย,สำนักงานพระพุทธศาสนา, ขอบคุณภาพจาก google

logoline