คอลัมนิสต์

"ศาลรธน." นัดอ่านคำวินิจฉัย รุ้ง-ไมค์-อานนท์ ปมปราศรัยล้มล้างการปกครองฯ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศาลรธน." นัดฟังแถลงคำวินิจฉัย 3 แกนนำม็อบราษฎร "รุ้ง-ไมค์-อานนท์" ชุมนุมปราศรัยเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

 

10 พ.ย. "ศาลรธน." ศาลรัฐธรรมนูญนัดแถลงด้วยวาจา หลังจากได้ปรึกษาหารือ ลงมติและอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟัง ในวันพุธที่ 10 พ.ย. นี้ เวลา 15.00 น. กรณีที่นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก(ไมค์) น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล(รุ้ง) นายพริษฐ์ ชิวารักษ์(เพนกวิน) น.ส.จุฑาทิพย์ หรือ เพนกวิน ศิริขันธ์ น.ส.สิริพัชระ จึงธีรพานิช นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และน.ส.อาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

 

"ศาลรธน." นัดอ่านคำวินิจฉัย รุ้ง-ไมค์-อานนท์  ปมปราศรัยล้มล้างการปกครองฯ?

 

ทั้งนี้ ศาลรธน.รับคำร้องเฉพาะการกระทำในการชุมนุมปราศรัยของนายอานนท์ นายภาณุพงศ์ และน.ส.ปนัสยา เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 63 ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไว้พิจารณาวินิจฉัยและให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งอัยการสูงสุด สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง

 

โดยเมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้ว เห็นว่าคดีมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวน และกำหนดนัดแถลงด้วยวาจาตามวันเวลาดังกล่าวข้างต้น

 

“คมชัดลึก” เกาะติดผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีดังกล่าวว่าจะเป็นไปในรูปแบบนี้ ใน “เจาะประเด็นร้อน” โดย รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย วิเคราะห์ถึงแนวทางของผลคำวินิจฉัยให้ได้ทราบว่ามีความเป็นไปได้ใน 2 รูปแบบด้วยกัน

 

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณวณิก ประธานคณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย

 

แบบแรกคือตีตก ยกคำร้อง และแบบที่สองคือการรับพิจารณาและวินิจฉัย

 

หากเป็นแบบแรกคือตีตกยกคำร้อง จะประกอบด้วย 3 ลักษณะด้วยกันคือ 1.การกระทำไม่เข้าข่าย 2.การกระทำเข้าข่าย แต่ยุติไปแล้ว และ 3.การดำเนินการที่เข้าข่าย แต่การกระทำจบแล้ว ต้องรอให้มีการกระทำอีกครั้งถึงจะทำอะไรได้ ดังนั้นต้องไปดูว่าศาลสั่งให้ทำอะไรได้ ซึ่งมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่บัญญัติไว้ว่า..

 

“บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้ ผู้ใดทราบว่ามีการกระทําตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทําดังกล่าวได้ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคําสั่งไม่รับดําเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดําเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคําร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคําร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ การดําเนินการตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อการดําเนินคดีอาญาต่อผู้กระทําการตามวรรคหนึ่ง”

 

รศ.ดร.เจษฎ์ วิเคราะห์ต่อไปว่า แบบที่สอง หากศาลรับพิจารณาคำร้องว่าเข้าข่ายมีความผิด ศาลรัฐธรรมนูญสั่งห้ามไม่ให้ปราศรัยในลักษณะดังกล่าวนั้นอีกเพราะเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็จะมีผลคำวินิจฉัยใน 3 ลักษณะเช่นกัน คือ

 

1.สั่งให้คนที่ทำไม่ให้ทำอีก นั่นคือผูกพันผู้ถูกร้อง นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (ผู้ถูกร้องที่ 1-3)


2.ไม่ให้ใครทำแบบนี้อีกเลย ในบรรดาของคนที่เคยทำมาก่อน คือผูกพันกับกลุ่มคนที่เคยกระทำการในลักษณะเดียวกัน ไม่ให้ทำอีกต่อไป และ 


3.ห้ามไม่ให้ใครทำแบบนี้อีกเลย โดยให้ยึดเป็นบรรทัดฐาน สำหรับบุคคลทั่วไป ห้ามไม่ให้กระทำในลักษณะดังกล่าวอีก (กรณี 2 และ 3 เป็นการตีความอย่างกว้าง) 

 

รศ.ดร.เจษฎ์  ชี้ประเด็นเพิ่มเติมว่า ที่ต้องสั่งแบบนี้เนื่องจากมาตรา 49 ของ รธน.60 วินิจฉัยความผิดเพียงให้เลิกกระทำ ดังนั้นในแบบที่ 1.ก็จะพบการกระทำความผิดในแบบที่วันนี้ทำอยู่ พรุ่งนี้ก็ทำ วันมะรืนก็ทำอีก และถ้ามีคนไปร้องและศาล รธน.บอกให้เลิกทำ แบบนี้ชัดเจน

 

ส่วนแบบที่ 2 คือ มีการเตรียมการว่าพรุ่งนี้เราไปทำกันนะ แล้วมีคนไปร้อง ศาลก็จะวินิจฉัยว่าถ้าทำถึงขั้นระดับนี้จึงจะมีความผิด ถ้าขึ้นเวทีปุ๊บก็สั่งเลิกได้เลยถือว่ามีความผิดแล้ว

 

ส่วนแบบที่ 3 คือทำไปแล้ว จบไปแล้ว ก็ต้องกำหนดเป็นบรรทัดฐานว่าคนเหล่านี้ที่ถูกร้องไม่ให้ทำอีกเลย 

 

อย่างไรก็ตาม การจะมีคำวินิจฉัยความผิดโดยอาศัย มาตรา 49 ของ รธน.60 นั้น ทำได้ยากเพราะมาตรา 49 มีจุดอ่อน คือถ้าจะยื่นเรื่องต่อศาลรธน.ให้วินิจฉัยความผิดให้เลิกกระทำ ก็ต้องยื่นเรื่องร้องไปที่อัยการสูงสุดก่อน จากนั้นอัยการสูงสุดจะยื่นร้องต่อศาลรธน.ภายใน 15 วัน แต่หากใน 15 วันนี้อัยการสูงสุดยังไม่ยื่นเรื่องร้องต่อศาลรธน. ผู้ร้องก็สามารถยื่นเรื่องร้องตรงต่อศาลรธน.ได้ 

 

แต่จุดที่น่าสังเกตคือ ถ้ามีการกระทำความผิดวันนี้ แล้วไปยื่นเรื่องในพรุ่งนี้กับอัยการสูงสุด ในช่วงเวลานี้ กว่าจะถึง 15 วัน อาจจะทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะได้มีการยุติการกระทำก่อนแล้ว นี่จึงเป็น “จุดอ่อน” ของมาตรา 49 เว้นแต่จะมีการกระทำความผิดมากกว่า 15 วัน หากอัยการสูงสุดไม่ยื่นเรื่องต่อศาล รธน. บุคคลผู้กล่าวหาก็สามารถยื่นเรื่องต่อศาลรธน.ได้เองเลย ซึ่งในความเป็นจริง ผู้กระทำความผิดคงไม่ทำผิดไปจนถึง 15 วัน 

 

นอกจากนี้ มาตรา 49 ยังไม่เกี่ยวข้องกับประมวลความผิดกฎหมายอาญาด้วย (ม.112, ม.113, ม.116)  เพราะผู้เขียนตัวบทกฎหมายไม่ต้องการให้มีบทลงโทษที่รุนแรง ต้องการเพียงให้ศาลรธน.สั่งให้เลิกกระทำเท่านั้น แต่ในอนาคตศาล รธน.อาจจะมีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่เป็นบรรทัดฐานความผิดในรูปแบบใหม่ออกมาก็ได้ ต้องติดตามดูคำวินิจฉัยในวันที่ 10 พ.ย.นี้ว่าจะออกมาเป็นไปในรูปแบบใด 

 

สำหรับผลที่ตามมาหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของนายอานนท์ กับพวก เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยศาลรธน.นำประมวลกฎหมายอาญามาประกอบการพิจารณาความผิด ก็จะประกอบด้วย

 

-ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116  ความผิดฐาน ยุยง ปลุกปั่น 
มาตรา 116 บัญญัติว่า ผู้ใดกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอัน มิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต


1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กําลังข่มขืนใจ หรือใช้กําลังประทุษร้าย


2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อ ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ


3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน 
ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินเจ็ดปี 

 

-ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113  ความผิดฐานกบฏ (ซึ่งต้องมีการใช้กำลังประทุษร้าย )


มาตรา 113  บัญญัติว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ


1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร


ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

 

 -ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 (หากมีการพาดพิงถึงสถาบัน )ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีถึง 15 ปี

 

-ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 (หากการปราศรัยนั้นพาดพิงบุคคลอื่น)มาตรา 328  บัญญัติว่า ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
"ศาลรธน." นัดอ่านคำวินิจฉัย รุ้ง-ไมค์-อานนท์  ปมปราศรัยล้มล้างการปกครองฯ?

logoline