ข่าว

"มหานิกาย-ธรรมยุติกนิกาย" ความเหมือนที่แตกต่าง การเมืองใน "ศาสนจักร"

เปิดโครงสร้างสงฆ์ "มหานิกาย-ธรรมยุติกนิกาย" ความเหมือนที่แตกต่าง การเมืองใน "ศาสนจักร" ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

หากจะกล่าวถึง "พระพุทธศาสนา" ในประเทศไทย เป็นนิกายเถรวาท คณะสงฆ์ได้แบ่งลักษณะการบริหารออกเป็น 2 ฝ่าย คือ "มหานิกาย" คณะสงฆ์องค์คณะใหญ่ของเถรวาทดั้งเดิม และ "ธรรมยุติกนิกาย" มีความแตกต่างกันอย่างไร 

   \"มหานิกาย-ธรรมยุติกนิกาย\" ความเหมือนที่แตกต่าง การเมืองใน \"ศาสนจักร\"
 

มหานิกาย เป็นคำเรียกนิกาย หรือคณะของพระสงฆ์ไทยสายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทย เป็นฝ่ายคันถธุระ

 

 

เดิมนั้น คำเรียกแบ่งแยกพระสงฆ์สายเถรวาทในประเทศไทย ออกเป็น "มหานิกาย" และ "ธรรมยุติกนิกาย" ยังไม่มี เนื่องจากคณะพระสงฆ์ไทยในสมัยโบราณ ก่อนหน้าที่จะมีการจัดตั้งคณะธรรมยุตขึ้น ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่มีการแบ่งแยกออกเป็นนิกายต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่พระสงฆ์ไทยนั้น ล้วนแต่เป็นเถรวาทสายลังกาวงศ์ทั้งสิ้น จนเมื่อพระวชิรญาณเถระ หรือเจ้าฟ้ามงกุฏ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4) ได้ก่อตั้งนิกายธรรมยุตขึ้นในปี พ.ศ. 2376 แยกออกจากคณะพระสงฆ์ไทยที่มีมาแต่เดิม ซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในสมัยนั้น จึงทำให้พระองค์คิดคำเรียกพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในประเทศไทย ที่เป็นสายเถรวาทลังกาวงศ์เดิมว่า พระส่วนมาก หรือ "มหานิกาย"

 

 

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระยศเป็นเจ้าฟ้ามงกุฏ) ขณะที่ผนวชอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ได้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญ ชื่อ ซาย ฉายา พุทฺธวํโส จึงได้ทรงอุปสมบทใหม่ ในวงศ์พระสงฆ์มอญ (รามัญนิกาย) เมื่อ พ.ศ. 2372 และได้ทรงตั้ง คณะธรรมยุต ขึ้น ในปี พ.ศ. 2376 แล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุตสืบต่อมา

 

 

และใน พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พระราชบัญญัติฉบับนี้มีชื่อว่า "พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ รศ.121" มีสาระสำคัญคือ ได้ยกสถานะคณะธรรมยุต ให้เป็นนิกายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทำให้มีการแบ่งแยกเรียกนิกายของคณะสงฆ์ใหม่ ตามศัพท์บัญญัติของพระวชิรญาณเถระ ว่า "ธรรมยุติกนิกาย" และเรียกกลุ่มพระสงฆ์เถรวาทลังกาวงศ์พื้นเมือง ที่มีมาอยู่แต่เดิมว่า "มหานิกาย" สืบมาจนปัจจุบันนี้

 

 

ธรรมยุติกนิกาย ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อปฏิรูปและฟื้นฟูด้านวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ให้มีความถูกต้อง และเข้มงวดตามพุทธบัญญัติ ให้พระภิกษุสงฆ์มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดถูกต้องตามพระวินัยปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเข้าใจแจ่มแจ้ง เป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในส่วนที่บกพร่องของพระสงฆ์ไทย ที่มีมาแต่โบราณ ให้สมบูรณ์ ทั้งพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นความพยายามของพระวชิรญาณเถระ เพื่อช่วยปฏิรูปการคณะสงฆ์ และเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นในประเทศไทย

 

 

การก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เป็นสาเหตุทำให้พระสงฆ์เถรวาทอื่น ซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คณะธรรมยุต ได้มีการประชุม และมีมติให้เรียกพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คณะธรรมยุต ว่า "มหานิกาย"

 

 

  • ความแตกต่าง ของ "พระมหานิกาย" กับ "พระธรรมยุติกนิกาย" 

 

  • สมณวงศ์ เป็นวงศ์เถรวาทเดียวกันจากลังกา และเป็นนิกายมหาวิหารของลังกาเหมือนกัน ข้อนี้ไม่มีความแตกต่างกัน
  • จำนวนพระสงฆ์ โดยคณะสงฆ์สายเถรวาทในประเทศไทยนั้น แบ่งย่อยเป็น 2 นิกายด้วยกัน คือ มหานิกาย ซึ่งมีพระสงฆ์อยู่จำนวนกว่า 80% ของพระสงฆ์ทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีกกว่า 10% คือพระสงฆ์ใน ธรรมยุติกนิกาย
  • พัทธสีมา ในกรณีของพระสงฆ์ธรรมยุติ จะมีการผูกพัทธสีมาโดยพระสงฆ์ธรรมยุติเอง ไม่สามารถไปใช้พัทธสีมาลงอุโบสถ ทำสังฆกรรม อุปสมบทพระในพระอุโบสถที่เป็นพัทธสีมาของพระมหานิกายได้
  • การทำสังฆกรรม ลงอุโบสถ สวดปาฏิโมข์ร่วมกันไม่ได้ ต้องแยกกันทำคนละวัด ต่างก็ต้องมีพัทธสีมาของตนของตน
  • การออกเสียงในภาษาบาลีในการทำสังฆกรรม คณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เกรงว่า กรรมวาจาจะวิบัติ ก็เลยต้องสวดออกเสียงบาลีให้ถูกต้องตามสำเนียงภาษามคธ แต่พระสงฆ์มหานิกายออกเสียงบาลีตามสำนียงภาษาไทย
  • ปฏิทินจันทรคติในการทำสังฆกรรม โดยวันพระของวัด ธรรมยุติกนิกาย จะแตกต่างจากวันพระทั่ว ๆ ไป ซึ่งเป็นวันพระมหานิกาย และวันลงอุโบสถทำสังฆกรรมก็อาจจะต่างวันกัน อันเนื่องมาจากการคำนวณปฏิทินแตกต่างกัน เรียกว่าปฏิทินปักขคณนา 
  • วิธีการบวช แตกต่างกันเรื่องปลีกย่อยเล็กน้อย โดยการบวชแบบธรรมยุติกนิกายเรียกว่า การบวชแบบเอสาหัง ส่วนการบวชแบบมหานิกายเรียก การบวชแบบอุกาสะ
  • การรับปัจจัยเงินทอง ปกติพระทั้งหลาย ย่อมไม่รับปัจจัยอยู่แล้วโดยพระวินัย แต่พระธรรมยุติก็จะเปลี่ยนวิธีการรับโดยใช้ใบ ปวารณาแทน ไม่ได้รับโดยตรง แต่บางรูปก็ไม่รับเลยก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ
  • สีผ้า ส่วนมากมหานิกาย ครองผ้าสีเหลืองส้มสด พระนิกายธรรมยุติจะครองสีหม่นกว่า แต่ก็ไม่แน่นอนเสมอไป แล้วแต่ว่าจะเป็นวัดป่า หรือวัดบ้านก็จะครองสีกรัก หรือสีแก่นขนุน ซึ่งก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ
  • การครองจีวร ปัจจุบันนี้แยกค่อนข้างยาก ในเรื่องการห่มดองห่มคลุม ห่มมังกร ก็มีทั้งมหานิกายและธรรมยุติ แต่เวลาทำสังฆกรรม พระสงฆ์มหานิกาย ก็จะมีผ้ารัดอก ซึ่งเป็นแบบแผนของมหานิกายที่เห็นได้ชัดเจน
  • การฉัน ส่วนจริยาวัตรอื่น ๆ เช่น การฉันในบาตร ฉันมื้อเดียว ฯลฯ ก็เป็นวัตรปฏิบัติของทั้งธรรมยุติ และมหานิกาย แต่ธรรมยุติ จะไม่ฉันนมในเวลาหลังเพล หรือ น้ำผลไม้ที่มีกากปนลงไป ถือว่าเป็นอาหารไม่ใช่น้ำปานะ หรือน้ำอัฐบาล

 

\"มหานิกาย-ธรรมยุติกนิกาย\" ความเหมือนที่แตกต่าง การเมืองใน \"ศาสนจักร\"

 

\"มหานิกาย-ธรรมยุติกนิกาย\" ความเหมือนที่แตกต่าง การเมืองใน \"ศาสนจักร\"

 

  • ธรรมยุต-มหานิกาย เป็นเพียงสมมติ
     

พระธรรมวิสุทธิมงคล หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี เคยแสดงพระธรรมเทศนาไว้เมื่อปี 2545  "ธรรมแท้เป็นเนื้อเดียวกัน"
  
 

"ไม่ต้องญัตติ คำว่าธรรมยุต-มหานิกาย เป็นชื่ออันหนึ่งต่างหาก ส่วนสุปฏิปนฺโน อุชุ ญาย สามีจิปฏิปนฺโน นี้ เป็นพื้นฐานของศาสดาองค์เอก ที่ประทานไว้ให้พระสงฆ์ปฏิบัติตัวอย่างนี้ เหล่านี้แลเป็นเนื้อเป็นหนังอันแท้จริง ไม่ได้เป็นอยู่กับธรรมยุต-มหานิกาย"

 

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภัทโท) วัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี

 

"ผมว่าทำอย่างนั้นมันก็ดีอยู่ แต่มันยังไม่เป็นธรรมเป็นวินัย มันยังเป็นทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ มีความถือเนื้อถือตัวมาก มันไม่สบาย เอาอย่างพระพุทธเจ้าจะได้ไหม คือเราไม่ถือธรรมยุติไม่ถือมหานิกาย แต่เราถือพระธรรมพระวินัย ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะเป็นธรรมยุติ หรือมหานิกาย ก็ให้ลงได้ ถ้าไม่ดี ไม่มีความละอายต่อบาป ถึงเป็นธรรมยุติก็ไม่ให้ร่วม เป็นมหานิกายก็ไม่ให้ร่วม ถ้าเราเอาอย่างนี้ ก็จะถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ"

 

 

 

ที่มา : วิกิพีเดีย

       : อาศรมศรีจักรนาถ

       : ภาพจาก google

ข่าวยอดนิยม