คอลัมนิสต์

"ร้องขัดทรัพย์" กม.เรื่องหนี้ เมื่อทวงสิทธิความเป็นเจ้าของ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ร้องขัดทรัพย์" กฎหมายแพ่งควรรู้ ในการปกป้องสิทธิความเป็นเจ้าของ ก่อนทรัพย์ถูกขายทอดตลาด จากกรณี ขายทอดตลาดที่ดินวัดวังใหญ่

จากกรณีศาลมีคำสั่งบังคับขายทอดตลาด วัดวังใหญ่ อ.นาทวี จ.สงขลา โดยศาลแพ่งกรุงเทพใต้ มีหมายบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ทำการยึดทรัพย์ของนางอำไพ อัมพุกานนท์ รวมทั้งที่ดิน ที่เป็นที่ตั้งของวัดวังใหญ่ 

ต่อมา นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีศาลแขวง ได้เปิดเผยถึงทางออกของปัญหาดังกล่าว ว่ายังมีโอกาสที่จะร้องขัดทรัพย์ ซึ่งเป็นไปตามกระบวนกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 เพื่อที่จะรักษาที่ดินนั้นไว้ได้ 

วันนี้คมชัดลึกออนไลน์ จะพาไปรู้จักกับอีกหนึ่งข้อกฎหมายน่ารู้ ในคดีแพ่ง คือ "การร้องขัดทรัพย์"

การร้องขัดทรัพย์ หรือ การปล่อยทรัพย์ เป็นกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 ภายใต้บังคับบัญญัติ มาตรา 55 คือ ถ้าหากบุคคลใดกล่าวอ้างว่าจำเลย หรือที่เรียกกันว่า ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้  บุคคลผู้นั้นสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาล ให้ปล่อยทรัพย์ส่วนนั้นออก จึงเป็นเหตุให้เกิดการร้องขัดทรัพย์

และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับคำขอต่อการร้องขัดทรัพย์แล้ว จะทำการงดการขายทอดตลาด หรือการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไว้ในระหว่างการรอพิจารณาชี้ขาดของศาล

หรือหากเข้าใจได้ง่ายคือ การที่ผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง ทำการทักท้วงสิทธิการเป็นเจ้าของที่แท้จริง ต่อทรัพย์นั้น เพื่อปกป้องสิทธิในการเป็นเจ้าของทรัพย์ โดยที่ทรัพย์นั้นไม่ใช่ของลูกหนี้ หรือจำเลยที่ถูกยึด ซึ่งในกรณีที่ดินวัดวังใหญ่นั้น จำเลยหรือนางอำไพ ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ยกที่ดินแห่งนี้ให้กับวัดแล้ว จึงถือว่าวัดแห่งนี้เป็นเจ้าของที่แท้จริง จึงมีสิทธิในการร้องขัดทรัพย์ต่อศาล



สำหรับผู้ที่มีสิทธิการร้องขัดทรัพย์
การร้องขัดทรัพย์ มีเงื่อนไขที่สำคัญ คือ จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษา ไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริง ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ โดยที่ผู้ที่จะร้องขัดทรัพย์ ได้ต้องเป็นผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิเท่านั้น ผู้ที่ถูกโต้แย้งสิทธิอาจจะเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ยึดไว้ หรืออาจเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในทรัพย์ที่ยึดก็ได้ 

โดยการร้องขัดทรัพย์ จะต้องร้องภายในกำหนดเวลาตามที่ได้บัญญัติไว้  ไม่สามารถร้องเมื่อไหร่ก็ได้ โดยตามมาตรา 288 คือจะต้องร้องเสียก่อนที่จะเอาทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น ที่กฎหมายบัญญัติ  เพราะถ้าศาลขายทอดตลาดทรัพย์นั้นไปแล้ว ผู้ซื้อย่อมได้ทรัพย์สินนั้นไป  ตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์มาตรา 1330  โดยไม่ต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ ฉะนั้นการที่จะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์จึงต้องร้องเสียก่อน


สำหรับกรณีที่ดินของวัดวังใหญ่ ในกรณีดังกล่าว เมื่อยกให้วัดแล้วที่แห่งนั้น จึงกลายเป็นกัลปนาสงฆ์ ในทันที ซึ่งเป็นที่ดินที่ผู้มีจิตศรัทธาอุทิศผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินให้แก่วัด แต่ไม่ได้มอบกรรมสิทธิ์ถือครองให้แก่วัด ซึ่งกรณีดังกล่าว ยังมีกฎหมายที่ครอบคลุมดูแลโดยเฉพาะอีกต่างหาก โดยที่ดินของวัด ห้ามยึดมาขายทอดตลาด เพื่อเอาเงินมาชำระหนี้แก่โจทย์ ตาม พรบ.คณะสงฆ์ มาตรา 35

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ