คอลัมนิสต์

"เหยียดคนอีสาน"ความไร้แก่นสาร เมื่อมองผ่านความสำเร็จของพลังลูกอีสาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลายเป็นกระแสดรามาไปโดยพลัน จากกรณีการตั้งคลับเฮาส์ แสดงความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปของคนอีสาน ถึงขั้นเลยเถิดเกิดกระแสเหยียดคนอีสาน แต่ทว่าเหล่านั้นอาจไม่ใช่สาระไปเลยก็ได้ ถ้าเราเข้าใจถึงความมานะพยายามของลูกอีสาน ติดตามได้คอลัมน์ เจาะประเด็นร้อน โดยอสนีบาต

กลายเป็นกระแสดรามาไปจนได้  เมื่อมีการจับกลุ่มเปิดคลับเฮาส์ แสดงความเห็นพูดจาเหยียดคนอีสาน อาทิ ว่าคนอีสานผิวคล้ำ ดำแดดเพราะแบกปูน ทำมาหากินไม่ได้ เลยต้องไปหาเกาะคนอื่นกิน หรือแม้กระทั่งคนอีสานมีลูกตั้งแต่อายุ 12 ปี ใจแตกมักมีลูกก่อนวัยอันควร จนกลายเป็นดราม่าระอุ ในโลกโซเชียลกับ #คลับเฮ้าส์toxic

 

...อสนีบาต... ได้มีโอกาสสนทนากับนักวิชาการที่ทำงานวิจัยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ ถิ่นอีสาน ก็ยอมรับว่า กระแสการเหยียดคนอีสาน มีมาเป็นระยะๆ แต่ตั้งคำถามว่า นั่นคือแก่นสารหรือไม่

 

รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิรวงศ์  อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม  และนักวิชาการในกลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและ  ธรรมาภิบาล ซึ่งมี ดร.บัณฑิต นิจถาวร เป็นประธาน  เปิดเผยว่า หลังจากมีประเด็นในคลับเฮาส์ที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ ก็มีคนส่งคลิปบางส่วนมาให้

 

"ปัญหาเรื่องการดูถูกคนอีสาน มีอยู่เรื่อยๆโดยเฉพาะจากคนภาคอื่นหรือคนส่วนกลางที่มองว่า"อีสาน"เป็นพื้นที่ยากจน หรือคิดเหมือนฝรั่งเรียกเสตอริโอไทป์ หรือทัศนคติแบบเหมารวม คือ  ถ้าเป็นคนอีสานก็จะถูกมองว่าพวกยูเป็นพวกไม่ค่อยมีการศึกษา เป็นผู้ใช้แรงงานจะมีคนจำนวนหนึ่งติดกับภาพพวกนี้อยู่" 

  รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิรวงศ์  อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม  และนักวิชาการในกลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและ  ธรรมาภิบาล

 

"ทางออกคือ เราต้องเปิดใจกว้างและดูข้อมูลให้ลึกลงไปหน่อย คลิปที่พูดกันผมฟังแป๊บเดียวที่บอกคนอีสานมีลูกตั้งแต่อายุ 12-13 ปี  ออกไปในลักษณะว่า มีลูกหลานกันเยอะ ไม่ค่อยมีการศึกษา ผมว่าเป็นข้อมูลที่ผิดเพี้ยนกันมาก ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลที่เป็นสาระประโยชน์เท่าไหร่"   นักวิชาการผู้ศึกษาพื้นเพชาวอีสาน กล่าว   

 

 

 

 

 

 

 

ก่อนหน้านี้  รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิรวงศ์  กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและ   ธรรมาภิบาล  เคยนำเสนอบทความผ่านคอลัมน์ "เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ" ลงในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์  วิเคราะห์นักกีฬาไทยในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคก็เป็นลูกอีสาน ทำไมคนสายเลือดอีสานถึงประสบความสำเร็จ  ...อสนีบาต... จึงขอนำบทความดังกล่าวมาถ่ายทอดอีกครั้ง เพื่อให้เห็นอีกมุมที่เป็นข้อเท็จจริงมากกว่าการตะลุมบอนข้อมูลอยู่ในโลกโซเชียล  

 

 รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิรวงศ์  นำเสนอไว้ว่า   กีฬาโอลิมปิค Tokyo 2020 ที่เพิ่งจบลงไป ในรูปแบบการแข่งขันที่ไม่มีผู้ชม นอกจากกีฬาบางประเภท  ที่อาจมีกองเชียร์ไปใหกำลังใจนักกีฬาตามเส้นทางแข่งขัน มีนักกีฬา 11,326 คนจาก 205 ประเทศ เข้าแข่งขันใน 33 ชนิดกีฬา มี 93 ประเทศ ที่ได้เหรียญรางวัล โดยประเทศไทยของเราอยู่ลำดับที่ 59 ได้ 1 เหรียญทอง และ 1 เหรียญทองแดง เมื่อดูโอลิมปิคจบแล้ว ช่วงว่างๆ กับการพยายามกักตัวเองอยู่บ้านในสถานการณ์โควิด

 

เลยลองค้นข้อมูลมาวิเคราะห์แบบง่ายๆ ในมุมมองของลูกอีสานเอามาแลกเปลี่ยน ผ่านคอลัมน์นี้ หลายท่านอาจไม่ทราบว่า ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน นักกีฬาไทย ได้เหรียญโอลิมปิคมาแล้ว ตั้งแต่ปี 1976 รวม 33 เหรียญ เป็นเหรียญทอง 11 เหรียญ ซึ่งเหรียญทอง มาจากลูกอีสาน 4 เหรียญ และที่น่าภาคภูมิใจคือเหรียญทองแรก ของทั้งนักกีฬาชาย และหญิงก็มาจากลูกอีสานเช่นกัน

 

สมรักษ์ คำสิงห์  นักกีฬามวยสากลคว้าเหรียญทองโอลิมปิคปี 1996 เป็นชาว ขอนแก่น

 

ขอนำข้อมูลเก่ามาสรุปเล่าใหม่เผื่อท่านลืม 4 เหรียญทองลูกอีสาน มีดังนี้ครับ

 

  • 1.    คุณ สมรักษ์ คำสิงห์ ชาว ขอนแก่น ปี 1996 กีฬามวยสากล
  • 2.    คุณ อุดมพร พลศักดิ์ ชาวนครราชสีมา ปี 2004 กีฬายกน้ำหนัก
  • 3.    คุณ ปวีณา ทองสุก ชาวสุรินทร์ ปี 2004 กีฬายกน้ำหนัก
  • 4.    คุณ สมจิตร จงจอหอ ชาวนครราชสีมา ปี 2008 กีฬามวยสากล

 

ปวีณา ทองสุก นักยกน้ำหนักหญิงทีมชาติไทย เจ้าของเหรียญทองจากโอลิมปิก 2004 ที่กรีซ และเอเชียนเกมส์ 2006 เป็นชาวสุรินทร์

 

ลูกอีสานที่ได้เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง


1.    วิชัย ราชานนท์ ชาวขอนแก่น เหรียญทองแดง ปี 1996 กีฬามวยสากล

2.    พรชัย ทองบุราณ ชาวอุบลราชธานี เหรียญทองแดง ปี 2000 กีฬามวยสากล

3.    สุริยา ปราสาทหินพิมาย ชาวนครราชสีมา เหรียญทองแดง ปี 2004 กีฬามวยสากล

4.    วันดี คำเอี่ยม ชาวศรีสะเกษ เหรียญทองแดง ปี 2004 กีฬายกน้ำหนัก

5.    พิมศิริ ศิริแก้ว ชาวขอนแก่น เหรียญเงิน ปี 2012 กีฬายกน้ำหนัก

6.    พิมศิริ ศิริแก้ว ชาวขอนแก่น เหรียญเงิน ปี 2016 กีฬายกน้ำหนัก
7.    ศิริกุล กุลน้อย ชาวสุรินทร์ เหรียญทองแดง ปี 2012 กีฬายกน้ำหนัก

8.    สินธุ์เพชร กรวยทอง ชาวสุรินทร์ เหรียญทองแดง ปี 2016 กีฬายกน้ำหนัก

9.    สุดาพร สีสอนดี ชาวอุดรธานี เหรยญทองแดง ปี 2020 กีฬามวยสากล

 

จากคุณสมบัติสำคัญของลูกอีสาน ที่บางท่านอาจคิดว่าผมลำเอียง คือความเชื่อที่ว่า ลูกอีสาน มีความอดทน ความมุมานะ ที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆอยู่ในตัว เพราะเกิด และเติบโตในพื้นที่ที่แห้งแล้ง ยากจน กว่าภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ  ด้วยคุณสมบัติเบื้องต้นนี้ น่าจะมีส่วนทำให้ฮีโร่โอลิมปิคเหล่านี้ ก้าวไปถึงความฝันขั้นสูงสุดได้ 

 

ถ้ามองภาพรวมความสำเร็จของชาติต่างๆใน Tokyo 2020 ผู้เขียนขอยกนิ้วให้ นิวซีแลนด์ ซึ่งมีประชากรเพียงสามล้านคน สามารถคว้า 8 เหรียญทองกลับบ้าน จากรักบี้ 7 คนหญิง และอีก 7 เหรียญทองจากกีฬาทางน้ำ จากที่เคยมีโอกาสไปศึกษาต่อที่นิวซีแลนด์

 

ผมเห็นถึงความชอบเล่น ชอบดูกีฬาของคนนิวซีแลนด์ เช่น วันเสาร์-อาทิตย์ จะเห็นผู้ปกครองพาลูกๆ ไปเล่นกีฬา หลากหลายชนิด ในสนามกีฬาสาธารณะ นักกีฬาจะได้รับการยกย่อง เป็นเกียรติประวัติ เทียบเคียงกับบ้านเรา เวลาเสียชีวิต ในบัตรเชิญ ก็จะใส่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ ของนิวซีแลนด์ ก็เช่นเดียวกัน แต่จะมีต่อท้าย เช่น All Blacks 1960 (ซึ่งแฟนรักบี้ จะทราบถึงความโด่งดังของรักบี้นิวซีแลนด์ ที่ใช้ชื่อทีมว่า ออลแบล๊ค ที่ลงแข่งด้วยชุดสีดำ)


ผมเชื่อว่า บ้านเรายังมีช้างเผือกด้านกีฬา อีกมากในภาคอีสานและภาคอื่นๆ ของประเทศ ที่อาจไม่มีโอกาสถูกค้นพบ หรือไปไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะเจอปัญหาอุปสรรคหลายอย่างระหว่างทาง เช่น กีฬาบางชนิดมีค่าใช้จ่ายสูง ขาดโอกาสในการแข่งขัน นักกีฬาบางคนถูกผู้ปกครองให้เลือกระหว่างเรียนหนังสือ กับการเอาดีด้านกีฬาเพราะคงมองว่าอยากให้ลูกหลานมีอาชีพที่มั่นคง

 

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันกีฬาหลายชนิดมีเส้นทางสู่นักกีฬาอาชีพ การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญา ก็เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่พ่อแม่ อยากให้ลูกมี ในระดับมหาวิทยาลัย หลายสถาบันมีโครงการช้างเผือกด้านกีฬา ให้โควต้าพิเศษเข้าศึกษา

 

จากการสังเกต ติดตามของผู้เขียนเอง มองว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เช่นนักกีฬาบางคน เมื่อได้โควต้าเข้ามหาวิทยาลัยดัง ก็มุ่งเรียนอย่างเดียว เลิกเล่นกีฬา ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ ที่นั่งในมหาวิทยาลัย มีว่างมากกว่าคนที่สมัครเข้าเรียน โครงการประเภทนี้ก็หายไปเกือบหมด 


ปัจจุบัน เรามีโรงเรียนกีฬาในสังกัดมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ (13 แห่ง) โรงเรียนกีฬาสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงเรียนกีฬาในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (8 แห่ง) โรงเรียนกีฬาสังกัดเทศบาล (9 แห่ง) และโรงเรียนกีฬาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (9 แห่ง) และมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ ที่มี 17 วิทยาเขต ทั่วทุกภาคของประเทศ  แต่ผลงานของสถาบันเหล่านี้ยังไม่ค่อยเห็นชัดเจนเท่าที่ควร 


สำหรับสมาคมกีฬาต่างๆ ผมยังไม่เห็นการส่งเสริม คัดเลือกช้างเผือกด้านการกีฬา ที่เป็นระบบ ที่เปิดโอกาสให้ช้างเผือก ที่อยู่ในป่า ได้รับการพัฒนา ดูแล ส่งเสริม อย่างต่อเนื่อง แต่มักได้ยินเรื่องนักกีฬาเด็กเส้น การเล่นพรรคเล่นพวกในหลายชนิดกีฬา  

 

หากเรามีระบบพัฒนา สร้างนักกีฬาที่ดี มีความต่อเนื่อง ส่งต่อนักกีฬาเหล่านั้น ให้ได้รับทั้งประสบการณ์ในการแข่งขันระดับต่างๆ และได้รับการศึกษาไปด้วย เมื่อหมดแรงเล่นกีฬา จะได้มีอาชืพติดตัว ถ้าทุกภาคส่วนขับเคลื่อนร่วมกัน ผมเชื่อว่า โอลิมปิค 2024 ที่ปารีส เราน่าจะกลับมาเป็นหนึ่งในอาเซียนได้อีก และนำเหรียญทอง มาให้พี่น้องไทย ได้ชื่นชม มากขึ้นแน่นอน 
  

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ