คอลัมนิสต์

ไขที่มาปมยึด "วัดวังใหญ่" เป็นที่ "กัลปนาสงฆ์" บริจาค แต่ไม่ได้มอบกรรมสิทธิ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดปมยึด "วัดวังใหญ๋" ขายทอดตลาด พบเป็นที่ "กัลปนาสงฆ์" ผู้มีจิตศรัทธาบริจาค แต่ไม่ได้มอบกรรมสิทธิ์ถือครองให้แก่วัด

เปิดปมกรณีพิพาท "วัดวังใหญ่" อ.นาทวี จ.สงขลา ถูกศาลสั่งยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด เนื่องจาก อดีตเจ้าอาวาส ได้ใช้ชื่อของนางอำไพ อัมพุกานนท์ มีศักดิ์เป็นหลาน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้บริจาคที่ดินให้ "วัดวังใหญ่" ไปซื้อรถยนต์ยี่ห้อเมอร์เซเดสเบนซ์ เมื่อปี 2541 ต่อมาไม่ได้ทำการผ่อนส่ง บริษัทจึงมาทำการยึดรถ แต่ไม่พบรถยนต์คันดังกล่าว จึงได้ฟ้องร้องนางอำไพ ศาลได้ทำการสืบทรัพย์ พบว่า นางอำไพมีที่ดินอยู่ที่ตำบลนาทวี อ.นาทวี จำนวนเนื้อที่ 27 ไร่ ซึ่งคือที่ตั้ง "วัดวังใหญ่" ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ จึงได้ทำการบังคับคดีให้ขายทอดตลาด เป็นที่มาของการขายทอดตลาดวัดวังใหญ่ อ.นาทวี จ.สงขลา "คมชัดลึกออนไลน์" รวบรวมแนวความรู้ เกี่ยวกับที่ดินวัด ดังนี้

 

ธรณีสงฆ์ หมายถึง ที่ดินที่เป็นของวัด มักใช้ซ้อนว่า ที่ธรณีสงฆ์ ที่ธรณีสงฆ์ไม่ใช่ที่ซึ่งเป็นวัด หรือบริเวณวัด แต่เป็นที่ดิน ซึ่งพุทธศาสนิกชนผู้มีใจศรัทธายกให้เป็นของวัด ถือเป็นสมบัติเป็นกรรมสิทธิ์ของวัด ซึ่งวัดจะได้รับผลประโยชน์จากที่ดินนั้น ที่ธรณีสงฆ์นั้น ผู้ใดจะเข้ายึดครอง หรือจะโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้ใดไม่ได้ นอกจากจะมีการออกพระราชบัญญัติเวนคืนเท่านั้น

 

ไขที่มาปมยึด "วัดวังใหญ่" เป็นที่ "กัลปนาสงฆ์" บริจาค แต่ไม่ได้มอบกรรมสิทธิ

ที่ธรณีสงฆ์ หรือ ที่ดินของวัด ถือเป็นสาธารณสมบัติ เป็นกรรมสิทธิ์ของวัด ซึ่งตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 เดิม ห้ามโอนกรรมสิทธิ์โดยเด็ดขาด ในปัจจุบันสามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ โดยตรากฎหมายเป็นพระราชบัญญัติเวนคืน และเป็นไปเพื่อการสาธารณประโยชน์ เช่น ด้านการคมนาคม การชลประทาน การทำนิติกรรมใด ๆ อันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับที่ธรณีสงฆ์ จะตกเป็นโมฆะทั้งหมด การครอบครองปรปักษ์ก็ไม่ทำให้ได้มา ซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ธรณีสงฆ์  
 

 

การอุทิศ หรือยกที่ดินให้แก่วัดนั้น เชื่อกันว่า มีอานิสงค์มาก พุทธศาสนิกชนหรือ ผู้มีจิตศรัทธา จึงมักจะถวายที่ดินให้แก่วัด เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่าง ๆ เช่นเดียวกับ คดีปกครอง ก็เป็นเรื่องของราษฎร ที่ยกที่ดินของตนให้แก่วัดแห่งหนึ่ง กรณีที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของวัดแล้วนั้น หากจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งมาตรา ๓๔ กาหนดให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง ให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ เว้นแต่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เมื่อมหาเถรสมาคมไม่ขัดข้อง และได้รับค่าผาติกรรมจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นแล้ว ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และห้ามมิให้บุคคลใด ยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัด หรือสานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แล้วแต่กรณี ในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติกลาง นอกจากนี้ มาตรา ๓๕ ยังกำหนดว่า ที่ดินของวัดดังกล่าว เป็นทรัพย์สิน ซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีอีกด้วย ฉะนั้น การจะโอนกรรมสิทธิ์
ในที่ดินของวัด จึงต้องมีการตราเป็นพระราชบัญญัติหรือ พระราชกฤษฎีกาเท่านั้น

 

ตามกฎหมาย ที่ดินศาสนสมบัติของวัดมีด้วยกัน 3 ประเภท คือ ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และที่กัลปนา ซึ่งที่ดินวัด จะจัดให้ทำประโยชน์ได้ก็เฉพาะที่ธรณีสงฆ์ และที่กัลปนา โดยวัดเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเช่าที่ แต่ตามกฎหมาย ที่ธรณีสงฆ์เป็นที่ดินที่ไม่สามารถซื้อขายได้ นอกจากออกเป็นพระราชบัญญัติ
แม้ว่าตามกฎหมายจะเปิดช่องให้กันที่ดินวัด เป็นที่จัดประโยชน์ได้ แต่นั่นหมายถึงการทำสัญญาเช่าเท่านั้น ไม่สามารถขายโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่นครอบครองได้ ซึ่งสัญญาการเช่าที่ดิน หากมีกำหนดเกิน 3 ปี จะต้องแนบแบบการก่อสร้าง ผลประโยชน์ที่วัดจะได้รับ และขอความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคมก่อนทำสัญญาเช่า แม้จะมีช่องว่างให้เปลี่ยนมือผู้เช่า การขายสิทธิ์ แต่ทุกขั้นตอน ต้องแจ้งเปลี่ยนสัญญากับวัด เพราะกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และทรัพย์สินทั้งหมดยังถือเป็นของวัด หากไม่เป็นเช่นนั้นนับว่าผิดสัญญา วัดสามารถให้ออกจากพื้นที่ได้ทันที

 

ของ 5 อย่างที่สงฆ์ หรือคณะ หรือบุคคลจะสละให้ใคร ๆ ไม่ได้ แม้สละแล้วก็ไม่เป็นอันสละ ผู้สละ (หรือยกให้) ต้องอาบัติถุลลัจจัยคือ

 

  1. วัดและที่ตั้งวัด
  2. วิหารและที่ตั้งวิหาร (หมายถึงกุฎีที่อยู่ทั่วไป)
  3. เตียง ตั่ง ฟูก หมอน
  4. เครื่องใช้โลหะคือหม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ กระทะโลหะ มีดใหญ่หรือพร้าโต ขวาน ผึ่งสำหรับถากไม้ จอบหรือเสียม สว่านสำหรับเจาะไม้ (สิ่วก็อยู่ในข้อนี้)
  5. เถาวัลย์ เช่น หวายไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียว ของทำด้วยไม้ ของทำด้วยดินเผา (ที่ห้ามนี้คือห้ามมิให้เอาของสงฆ์ไปเป็นของบุคคล)

 

ต่อมาที่ดินของวัดได้เพิ่มขึ้นอีก 2 ประเภทคือ

 

  1. ที่ธรณีสงฆ์ อันได้แก่ที่ดิน ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้แก่วัดเพื่อนำไปจัดหาผลประโยชน์มาบำรุงวัดเช่น ให้เช่า เป็นต้น
  2. ที่กัลปนาสงฆ์ อันได้แก่ที่ดิน ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาอุทิศผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินให้แก่วัด แต่ไม่ได้มอบกรรมสิทธิ์ถือครองให้แก่วัด

 

เมื่อรวมกับที่ตั้งวัดแล้ว วัดมีที่ดิน 3 ประเภท และทั้ง 3 ประเภทนี้ ทางวัดโดยภิกษุรูปเดียว หรือรวมกันเป็นสงฆ์ จะสละให้ใคร ๆ ไม่ได้เช่นเดียวกัน นอกจากมีพระวินัยห้ามแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้มีบทบัญญัติเดียวกับที่ดินวัดถึง 3 มาตราคือ

 

มาตรา 33 ที่วัด และที่ขึ้นต่อวัดมีดังนี้

 

1. ที่วัด คือ ที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น

2. ที่ธรณีสงฆ์ คือ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด

3. ที่กัลปนา คือ ที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสดา

 

มาตรา 34 การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติส่วนกลางให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ เว้นแต่การกระทำตามวรรคสอง

 

การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินวัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติส่วนกลางให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เมื่อมหาเถรสมาคมไม่ขัดข้อง และได้รับค่าผาติกรรมจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานนั้นแล้ว ให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัด หรือกับกรมการศาสนาแล้วแต่กรณีในเรื่องทรัพย์สิน อันเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติส่วนกลาง

 

มาตรา 35 ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และศาสนสมบัติส่วนกลาง เป็นทรัพย์ซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี

 

 

 

ที่มา : วิกิพีเดีย

        : admincourt

 

logoline