คอลัมนิสต์

บทเรียน "ยิ่งลักษณ์" คนดูไบเปิดเกมแก้ ม.112 สู้ค่ายส้ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

บาดแผลสู้ไม่สุดสมัย "ยิ่งลักษณ์" คือบทเรียนคนดูไบ ในวันที่ส่งอุ๊งอิ๊งสู่สังเวียนการเมืองยุคเปลี่ยนผ่าน จึงปรับกลยุทธ์หนุนแก้ ม.112-116 หวังแย่งแต้มจากค่ายก้าวไกล คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

9 ปีที่แล้ว พรรคเพื่อไทยโดยการนำของ “ยิ่งลักษณ์” นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น ส่งสัญญาณไปยังประธานสภาฯ ตีตกร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ฉบับภาคประชาชน

 

นักวิชาการหัวก้าวหน้าและกลุ่มแดงอิสระรู้สึกผิดหวัง “ยิ่งลักษณ์” ที่เมินเฉยต่อเรื่องดังกล่าว และปักใจเชื่อว่า นี่เป็นแผนเกี้ยเซี้ยกับชนชั้นนำของทักษิณ ชินวัตร

 

รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” มีเสียงสนับสนุนในสภาฯกว่า 300 เสียง แต่ไม่กล้าตัดสินใจแก้ ม.112 และวันนี้มันกลายเป็นบาดแผล ที่ถูกคนรุ่นเจนวาย เจนแซดหยามหยันด้วยถ้อยวลีสู้ไปกราบไป

 

นับแต่ปลายปี 2563 เยาวชนคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้การปฏิรูปสถาบันฯ เสียงเรียกร้องดังขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด กลุ่มราษฎรประสงค์ยกเลิก 112 เปิดรณรงค์รวบรวมรายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ต่อสภา

ชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ได้ออกจดหมายเปิดผนึกยืนยันเจตนารมณ์ว่า พรรคเพื่อไทยพร้อมนำข้อเสนอแก้กฎหมาย ม.112 และ ม.116 เข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภา

 

ท่วงทำนองของพรรคเพื่อไทยในเรื่องละเอียดอ่อน สะท้อนท่าทีของทักษิณ ชินวัตร และยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เปิดเกมสู้เกมเสี่ยง หลังส่งแพทองธาร ชินวัตร สู่สนามการเมือง

 

“ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” คงต้องการลบรอยแผลที่ถูกนักวิชาการปีกซ้ายโจมตีว่า ถนัดเกี้ยเซี้ยหรือสู้ไม่สุด จึงส่งสัญญาณให้พลพรรคเพื่อไทย ขานรับข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรประสงค์ยกเลิก 112

 

‘ครก.112’

สมัยที่ “ยิ่งลักษณ์” เป็นผู้นำรัฐบาล ขบวนการมวลชนคนเสื้อแดงเติบโต และมีหลากหลายกลุ่ม นักวิชาการหัวก้าวหน้าสมัยนั้น ได้อาศัยสถานการณ์แดงทั้งแผ่นดิน ขยับยกระดับการต่อสู้

เริ่มจากคณะนิติราษฎร์ กลุ่มนักวิชาการที่รวมตัวกันต่อต้านการรัฐประหาร โดยเสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร 2549 และเสนอแนวทางแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112

 

ปี 2555 คณะนิติราษฎร์ได้ส่งไม้ต่อให้คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก. 112) รวบรวมรายชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 112 ฉบับที่คณะนิติราษฎร์จัดทำขึ้น เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อาสาเป็นหัวหอก ครก.112 โดยมีกลุ่มแดงเวทีเล็ก ที่มี ไม้หนึ่ง ก.กุนทีและจรัล ดิษฐาอภิชัย ประสานงานกับแดงอิสระทั่วประเทศ

 

วันที่ 29 พ.ค.2555 คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) นำโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคลื่อนขบวนสู่สภา โดยใช้คนหาบกล่องรายชื่อประชาชน 3 หมื่นกว่าคน ที่ร่วมเสนอร่างแก้ไข ม.112 เมื่อถึงรัฐสภา วิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนฯ คนที่ 2 สมัยนั้น เป็นตัวแทนรับมีรายชื่อ

 

ต่อมา ประธานรัฐสภา “สั่งจำหน่ายเรื่อง” โดยให้เหตุผลว่า “หลักการไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550” สร้างความผิดหวังอย่างแรงให้แก่นักวิชาการปีกซ้ายทั้งหลาย

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และกลุ่มแดงก้าวหน้ารู้สึกผิดหวังรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ส่งสัญญาณให้พรรคเพื่อไทย ชิงตีตกร่างกฎหมายดังกล่าว โดยไม่เรียกเจ้าของร่างไปชี้แจงแสดงเหตุผลแม้แต่ครั้งเดียว

 

‘กลยุทธ์สู้ค่ายส้ม’

สาเหตุที่จุดยืนพรรคเพื่อไทยยุคแพทองธาร ต่างจากยุค “ยิ่งลักษณ์” เพราะสถานการณ์วันนี้ คู่แข่งเพื่อไทยคือ พรรคก้าวไกล ซึ่งมีจุดยืนเคียงข้างม็อบราษฎร และสนับสนุนข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ

 

ดังนั้น ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย จึงต้องออกมาแถลงท่าทีของพรรคที่จะผลักดันการแก้ไข ม.112 และ ม. 116 ซึ่งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยไม่ได้นิ่งเฉย ได้รวบรวมข้อเรียกร้องจากการชุมนุมเพื่อนำมาสู่ที่ประชุม และผลักดันข้อเรียกร้องเหล่านั้นเข้าที่ประชุมสภาต่อไป

 

จะว่าเป็นท่าทีเลี้ยวกลับ 360 องศาก็ว่าได้ เพราะปีที่แล้ว ตอนที่เสนอแก้รัฐธรรมนูญ พรรคเพื่อไทยยังแสดงจุดยืนไม่แตะหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เลย

 

“ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” คงประเมินแล้ว หากไม่ขยับเรื่องแก้ ม.112 ก็จะเสียฐานมวลชนกลุ่มเจนวาย เจนแซดไปให้พรรคก้าวไกลเสียทั้งหมด ซึ่งอุตส่าห์ลงทุนส่งอุ๊งอิ๊งลงสนาม หวังชิงตลาดคนรุ่นใหม่ให้มาอยู่ข้างเพื่อไทย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ