คอลัมนิสต์

วัดใจ "แพทองธาร" สู้แค่ไหน พิธาทะลุเพดาน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ศึกฝ่ายประชาธิปไตย "แพทองธาร" อาวุธใหม่ชิงตลาดเยาวรุ่น เจอคำถามสู้แค่ไหน ก็ไปต่อยาก เพราะพิธา-ก้าวไกล ไปไกลเกินเพดานแล้ว คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

หลังการเปิดตัวของ “แพทองธาร” บนเวทีเพื่อไทย ตามมาด้วยปฏิกิริยาจากทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายตรงข้ามและฝ่ายเดียวกัน เมื่อกองเชียร์สีส้มแอบเหน็บแนมเธอเรื่องพาพ่อกลับบ้าน และนำมาเปรียบมวยกับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

 

ก้าวแรก “แพทองธาร” คือที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย แต่คนส่วนใหญ่ก็มองไปไกลกว่านั้น และคาดหมายว่าอุ๊งอิ๊ง คงจะเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

 

นักวิเคราะห์การเมืองมองตรงกัน “แพทองธาร” เป็นอาวุธใหม่ในเกมชิงตลาดเยาวรุ่น ในวันที่พิธาและก้าวไกล กำลังเข้าไปอยู่ในใจคน Gen X, Gen Y และ Gen Z

 

วันที่ 31 ต.ค.2564 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง ระหว่างวันที่ 25-28 ต.ค.2564 พบว่า ถ้ามีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย จะได้คะแนนเสียงมากที่สุด ร้อยละ 32.94 รองลงมาคือ ก้าวไกล ร้อยละ 25.21

ส่วนนายกรัฐมนตรีที่อยากได้คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 28.67 รองลงมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 21.27

 

มีข้อน่าสังเกต ห้วงเวลาการสำรวจของสวนดุสิตโพลนั้น ได้ทำก่อนที่จะมีการเปิดตัวแพทองธาร ชินวัตร ในการประชุมใหญ่ของเพื่อไทย ที่ขอนแก่น หากมีการสำรวจครั้งใหม่ เชื่อว่าต้องมีชื่อ “แพทองธาร” ในแบบสอบถาม

 

‘ไม่มีประชานิยม’

นักวิชาการบางคนมองว่า การส่ง “แพทองธาร” ขึ้นเวทีการเมือง มีลักษณะเปิดหน้าสู้ เหมือนปี 2554 ที่ส่งยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลงสนาม และเกิดปรากฏการณ์ชนะแลนด์สไลด์

 

เพื่อไทยได้ฉีกขนบการประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองทั่วไป รูปแบบการจัดงาน จึงสะท้อนว่า นี่คือเพื่อไทย ที่พร้อมจะเดินไปกับเยาวรุ่น หรือคนรุ่นใหม่

ก่อนหน้านั้น พรรคก้าวไกลได้ใช้ จ.ขอนแก่น จัดประชุมใหญ่ด้วยรูปแบบเดียวกับเพื่อไทย ซึ่งสองพรรคนี้ได้จัดอีเวนท์เปิดตัวสินค้าการเมือง ที่มีลูกค้ากลุ่มเดียวกัน

 

ในเชิงคอนเทนต์ พรรคเพื่อไทยไม่มีการพูดถึงนโยบายประชานิยม อย่างจำนำข้าว,ราคาสินค้าเกษตร หรือการเข้าหาแหล่งทุน แต่พูดถึง Soft Power และการพัฒนาเทคโนโลยี

 

กองเชียร์สีส้มบางกลุ่มได้วิจารณ์เพื่อไทยว่า ก้อปปี้สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอต่อสาธารณชนมาก่อนหน้านั้น โดยเฉพาะการพูดถึงเรื่องอนาคต

 

คนดูไบคงประเมินว่า คนรากหญ้าสูงวัยยังคงภักดีต่อแบรนด์เดิม แต่ลูกหลานคนรากหญ้าในวันนี้ได้เปิดหูเปิดตาผ่านสื่อใหม่ จึงนิยมชมชอบพิธา และพรรคก้าวไกล ทำให้เพื่อไทยกลายเป็นพรรคของผู้สูงวัย

 

ดังนั้นการเลือก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค และแต่งตั้ง ส.ส.หนุ่มสาวเป็นกรรมการบริหารพรรค รวมถึงดึง “แพทองธาร” มาเป็นประธานที่ปรึกษาพรรคฯ นี่คือการเปลี่ยนเพื่อชิงตลาดเยาวรุ่นโดยแท้

 

‘จุดแข็งพิธา’

กองเชียร์เพื่อไทยสายสุดขั้ว ไม่แฮปปี้กับคำพูดของ “แพทองธาร” ที่ลีดประเด็น “จะพาพ่อกลับบ้าน” เพราะกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีเรื่องเก่า และกองเชียร์สีส้มสุดโต่งตอกย้ำเรื่องสู้ไปกราบไป

 

ที่สำคัญ เยาวรุ่นบนท้องถนนหรือในโลกโซเชียล ไม่ได้สนใจเรื่องทักษิณจะกลับบ้าน แถมอาจจะไปปลุกกระแสความไม่พอใจของกลุ่มอนุรักษนิยม

 

ในสายตาของกองเชียร์สีส้มมองว่า ทักษิณสู้ไม่สุด ทั้งด้วยข้อจำกัดของเขา และ ส.ส.ของพรรค รวมถึงการตัดสินใจบางประการจนนำไปสู่การยุบพรรคไทยรักษาชาติ

 

หาก “แพทองธาร” เปลี่ยนไปพูดว่า “จะทวงความยุติธรรมให้พ่อและมวลชนเสื้อแดง” น่าจะทรงพลังอย่างยิ่ง นี่เป็นความเห็นของเอฟซีเพื่อไทยสายสุดขั้ว

 

ตรงข้าม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มีความชัดเจนเรื่องการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ยิ่งก้าวไกลชูคำขวัญยกเลิก ม.112 มาหาเสียง ยิ่งทำให้เยาวรุ่นกดดันเพื่อไทยมากขึ้น

 

นับจากนี้ต้องจับตา “แพทองธาร” อาจจะต้องยกระดับเพดานการต่อสู้ หากหยุดอยู่ที่ “พาพ่อกลับบ้าน” ก็เจอฝ่ายอนุรักษนิยมถล่มจมดิน แถมเยาวรุ่นก็จะหนีไปหาพิธาและก้าวไกล

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ