คอลัมนิสต์

ลาวพูด "บั้งไฟพญานาค" มีจริง ยิงปืนขึ้นฟ้าบ่แม่นความจริง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พิสูจน์ข้อเท็จจริง "บั้งไฟพญานาค" เจ้าเมืองปากงึ่ม ยืนยันบ่มีการยิงปืน คืนออกพรรษา ปีนี้โควิดระบาด งดจัดงานไหลเรือไฟ ห้ามจุดพลุดอกไม้ไฟ แต่ชาวลาวเห็นบั้งไฟพญานาคขึ้นเยอะกว่าทุกปี คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

คนสองฝั่งโขงมีความเชื่อเรื่อง “บั้งไฟพญานาค” เหมือนกัน และต่างกันที่ฝั่งไทยจัดอีเวนท์ส่งเสริมการท่องเที่ยว แต่ฝั่งลาวม่วนซื่นงานบุญออกพรรษา ไหลเรือไฟ ร้องรำทำเพลงคนบางกลุ่มนั่งเบิ่งบั้งไฟพญานาคตามความศรัทธา

 

กรณีคนไทยบางคนตั้งธงกล่าวหาคนลาวยิงปืนขึ้นฟ้า หลอกว่าเป็น “บั้งไฟพญานาค” ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก ซึ่งคนฝั่งซ้ายไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก

 

ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวตามหมู่บ้านริมโขง เมืองปากงึ่ม ต่างเคยเห็น “บั้งไฟพญานาค” มาตั้งแต่เด็กๆ ในคืนออกพรรษา จุดธูปเทียนบูชาตามความเชื่อแบบเงียบๆ

 

วันที่ 28 ต.ค.2564 ช่วงรายการข่าวภาคค่ำของสถานีโทรทัศน์นครหลวงเวียงจันทน์ ได้นำเสนอรายงานพิเศษเรื่อง เมืองปากงึ่ม ยืนยันข้อกล่าวหา การยิงปืนในค่ำคืนออกพรรษา บ่มีมูลความจริง

สืบเนื่องจากแอดมินเพจพิสูจน์บั้งไฟพญานาค ได้เปิดประเด็นคนฝั่งลาวยิงปืนขึ้นฟ้า หลอกคนไทยว่าเป็นบั้งไฟพญานาค ในคืนออกพรรษา ทีมข่าวของสถานีโทรทัศน์นครหลวงเวียงจันทน์ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อสืบหาข้อเท็จจริง

ท่านคำหมูน เตียงทะลาด เจ้าเมืองปากงึ่ม

ท่านคำหมูน เตียงทะลาด เจ้าเมืองปากงึ่ม กล่าวว่า ได้รับบัญชามาจากเจ้าผู้ครองนครหลวงเวียงจันทน์ ให้ตรวจสอบเรื่องที่แอดมินเพจบั้งไฟพญานาคได้โพสต์เรื่องคนลาวยิงปืน ทางเมืองปากงึ่ม จึงลงสำรวจหาข้อเท็จจริงที่บ้านนากุง ,บ้านโดนเหนือ, บ้านหนองเขียด และบ้านปากงึ่ม ซึ่งได้รับการยืนยันจากผู้ใหญ่บ้านทั้ง 4 หมู่บ้านนั้นว่า บ่มีการยิงปืนในคืนนั้นแต่อย่างใด

 

“เรื่องการยิงปืน ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า บ่มีมูลความจริง ในคืนออกพรรษา เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารชายแดน และตำรวจบ้าน ได้ลาดตระเวนตามแนวลำน้ำโขงอย่างเข้มงวด” ท่านคำหมูนกล่าว

 

เมืองปากงึ่ม นครหลวงเวียงจันทน์ ตั้งอยู่ตรงข้าม อ.โพนพิสัย และ อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย โดยคืนออกพรรษาของทุกปี จะมีชาวลาวจำนวนหนึ่งเดินทางมาชมบั้งไฟพญานาค ที่หมู่บ้านริมโขงดังกล่าวข้างต้น

 

‘ความเชื่อของคนลาว’

ดังที่ทราบกัน เรื่อง “บั้งไฟพญานาค” เป็นความเชื่อของผู้คนลุ่มน้ำโขงมายาวนานหลายร้อยปี ชาวลาวตามหมู่บ้านริมโขง เมืองปากงึ่ม ได้จัดงานบุญออกพรรษา ไหลเรือไฟ และบูชาบั้งไฟพญานาคในทุกปี ยกเว้นปีนี้ ที่ทางการลาวสั่งห้ามจัดงานบุญออกพรรษา เนื่องจากสถานการณ์โควิดระบาดหนัก

พ.ท.คำสิง ลอวันไซ รักษาการหัวหน้า ปกส.เมืองปากงึ่ม (หัวหน้าตำรวจเมืองปากงึ่ม) ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าวสถานีโทรทัศน์นครหลวงฯ ว่า ทางตำรวจได้สั่งห้ามจุดพลุ ดอกไม้ไฟ จุดปะทัด โดยมีตำรวจเมือง ตำรวจบ้าน(กองหลอน) และทหารชายแดน ได้ลาดตระเวนตลอดทั้งคืน ไม่พบมีการยิงปืนขึ้นฟ้าจากหมู่บ้านใด

 

ด้าน แม่ตู้บุนมี วงพงคำ ชาวบ้านนากุง เมืองปากงึ่ม เล่าว่า ปีนี้เงียบสงบ จึงเห็นบั้งไฟพญานาค เยอะกว่าทุกปี ชาวบ้านแถวนี้ ได้เห็นบั้งไฟพญานาคทุกปี ทั้งในน้ำโขง น้ำงึ่ม และตามห้วยหนอง

 

แม่ตู้บุนมี บอกว่าตั้งแต่ 8 ขวบ ถึงตอนนี้อายุ 68 ปี เห็นบั้งไฟพญานาค ในคืนวันออกพรรษามาตลอด ชาวบ้านจะนำธูปเทียนมาจุดบูชาตามริมฝั่งแม่น้ำโขง

 

อย่างไรก็ตาม คนลาวมองกรณีแอดมินเพจพิสูจน์บั้งไฟพญานาค เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสัมพันธ์ไทย-ลาว บ้านใกล้เรือนเคียง ดั่งซิงเกิลเพลง “บั้งไฟพญานาค” ร้องโดย หลั่ง แสงอำพอน นักร้องลูกทุ่งลาว ที่ทำเพลงเฉพาะกิจตอบโต้แอดมินคนดังกล่าว

 

‘บทเรียนในอดีต’

ข้อกล่าวหาคนลาวยิงปืนขึ้นฟ้า หลอกว่าเป็น “บั้งไฟพญานาค” ทำให้ทางการลาวต้องลุกขึ้นมาสืบหาข้อเท็จจริงมาแล้วเมื่อปี 2545 หลังสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งของไทย นำเสนอสกู๊ปเรื่องบั้งไฟพญานาค โดยส่งทีมงานข้ามโขงมาสัมภาษณ์ชาวบ้าน แถวบ้านโดนเหนือ เมืองปากงึ่ม

 

ครั้งนั้น กรมการข่าว กระทรวงการต่างประเทศลาว ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจลงไปติดตามหาข้อเท็จจริงที่เมืองปากงึ่ม

 

ท้าวสีฟอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านโดนเหนือสมัยนั้น ได้อธิบายว่านักข่าวไทยข้ามโขงมาได้อย่างไร และมาทำกิจกรรมอะไรบ้าง โดยท้าวสีฟองยืนยันว่า ชาวบ้านกว่าร้อยละ 80 มีความเชื่อเรื่องบั้งไฟพญานาค และรอชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคทุกปี แต่ก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเกิดจากเหตุใด

 

นอกจากนั้น ท้าวสีฟองได้เล่าว่า งานบุญออกพรรษา ชาวบ้านก็ดื่มเหล้าร้องรำทำเพลง มีบางคนคึกคะนองยิงปืนขึ้นฟ้า ต่อมา ทางการลาวได้สั่งห้ามยิงปืน ตำรวจก็คุมเข้ม พฤติกรรมเหล่านี้ก็หายไป แต่คำบอกเล่าบางส่วนถูกตัดออก ไม่ได้นำไปออกอากาศ

 

ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวบ้านโนนซายได้ให้ข้อมูลกับทีมคณะเฉพาะกิจว่า เคยเห็นบั้งไฟพญานาคจริง ไม่ใช่เรื่องที่คนทำ หรือใช้ปืนยิง ดังที่สถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำไปกล่าวอ้าง

 

ปัจจุบัน เอกสารสรุปข้อเท็จจริงเรื่องบั้งไฟพญานาคจากเมืองปากงึ่ม เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ยังอยู่ที่กระทรวงต่างประเทศลาว

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ