คอลัมนิสต์

ทำไม พรรคการเมือง ถึงเมิน "ไพรมารีโหวต"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

1 พ.ย. 64 เปิดประชุมสภาสมัยสามัญ ต้องจับตามองไปที่ กฎหมายลูก ที่จะมีการแก้ไข พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งขณะนี้หลายพรรคการเมืองยกร่างแก้ไข กฎหมายลูก เสร็จแล้ว ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ พรรคการเมือง เห็นตรงกันไม่ต้องการให้มีคือ "ไพรมารีโหวต" ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น


หลังจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยไปแล้วโดยให้มี ส.ส. เขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน ขั้นตอนไปก็คือ การออกกฎหมายลูกเพื่อให้การเลือกตั้งเดินหน้าไปได้ และในการเลือกตั้งครั้งหน้าต้องมีการทำ"ไพรมารีโหวต" ทั้งการเลือกตั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ  แต่พรรคการเมือง นักการเมือง ไม่ต้องการให้มีและเตรียมผลักดันให้ยกเลิกการทำ "ไพรมารีโหวต" ในการเลือกตั้ง ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ


มาทำความรู้จัก "ไพรมารีโหวต" ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับการเลือกตั้งบ้านเรา


 "ไพรมารีโหวต" (Primary Vote) ก็คือ การเลือกตั้งขั้นต้นที่สมาชิกของพรรคทุกคนมีสิทธิลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกคนที่เสนอตัวเป็นผู้สมัครหรือแคนดิเดต (Candidate)ของพรรค ซึ่งวิธีนี้จะทำให้ทุกคนมีโอกาสลงความเห็นก่อนว่าจะเลือกใครลงสมัครเลือกตั้ง  ผู้มีสิทธิทุกคนจะได้เลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยตนเอง ชอบคนไหนเลือกคนนั้น ใครได้คะแนนมากที่สุดก็เอามาลงสมัครอย่างเป็นทางการในฐานะผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมืองนั้น ๆ


ข้อดี "ไพรมารีโหวต"

ลดอิทธิพลของเจ้าของพรรค นายทุนพรรค 
 

"ไพรมารีโหวต" คือการทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ลดอิทธิพลของนายทุนพรรค ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองมากขึ้น
 
เป็นการปฏิรูปพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย โดยให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้สมัคร พรรคการเมืองต้องจัดตั้งสาขาในต่างจังหวัดให้สมาชิกประจำเขตในแต่ละภูมิภาคเข้ามามีบทบาทในการนำเสนอตัวแทน ซึ่งจะช่วยลดการผูกขาดจากการคัดเลือกผู้สมัครจากกรรมการบริหารพรรค นายทุน และเจ้าของพรรค

 


 

พรรคการเมืองมีความเป็นสถาบัน
 

ระบบ"ไพรมารีโหวต" เป็นการปรับพรรคการเมืองไม่ให้เป็นของคนกลุ่มใดหรือบุคคลหนึ่ง เป็นระบบที่เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีความโปร่งใส เป็นการยกระดับให้พรรคการเมือง เป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริงและสร้างความเป็นประชาธิปไตยในพรรคการเมือง และตัวแทนพรรคจะเป็นตัวแทนที่เลือกโดยประชาชนไม่ใช่จัดสรรโดยพรรคการเมือง

 

ข้อเสีย
 
ไม่เหมาะสมกับการปกครองแบบรัฐสภา
 
จากประสบการณ์ในต่างประเทศของประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองในระบบรัฐสภาจะพบว่าการใช้ "ไพรมารีโหวต" มีข้อจำกัด คือ ความไม่แน่นอนของการมีการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเลือกตั้งซ่อม ซึ่งจะมีเวลาทำ"ไพรมารีโหวต"ภายในระยะเวลาค่อนข้างสั้น

 

ส่งผลให้หลายพรรคอาจทำ"ไพรมารีโหวต"ไม่สำเร็จหรือทำได้ไม่กี่แห่งซึ่งจะทำให้ทั้งพรรคการเมืองและประชาชนเสียโอกาสในการเลือกตั้ง หรือหากมีพรรคใดทำสำเร็จก็อาจจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพของ"ไพรมารีโหวต"ที่ถูกเร่งรัดด้วยเวลา

 

ไม่เหมาะสมกับบริบทการเมืองไทย
 
"ระบบไพรมารีโหวต"  ยังไม่เข้ากับบริบททางการเมืองไทย เพราะเหมาะสมกับประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง พรรคการเมืองเตรียมพร้อมในการส่งผู้สมัคร พรรคมีการทำงานอย่างต่อเนื่อง มีเวลาหาตัวบุคคลที่เหมาะสม รวมถึงประชาชนเข้าใจระบบดีด้วย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยขาดความต่อเนื่อง เพราะพอประชาชนเริ่มเข้าใจระบบ ก็เกิดการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ
 

พรรคเล็กและพรรคใหม่เสียเปรียบ
 
นักการเมืองหลายพรรคเห็นตรงกันว่า การทำ"ไพรมารีโหวต"จะมีปัญหากับพรรคเล็กและพรรคการเมืองตั้งใหม่ เนื่องจากว่าอาจไม่สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้ในทุกพื้นที่ทำให้ไม่มีตัวแทนพรรคในการคัดเลือกผู้สมัคร

 

 

สุดท้ายจะส่งผู้สมัครได้ไม่กี่เขต ส่งผลให้โอกาสในการได้ที่นั่ง ส.ส. ลดน้อยลง ต่างจากพรรคการเมืองใหญ่ที่มีจำนวนสมาชิกและความนิยมอยู่แล้ว ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัด 

 

เกิดการล็อบบี้เลือกผู้สมัคร
 
การทำ"ไพรมารีโหวต"ด้วยการใช้จำนวนสมาชิกขั้นต่ำเพียง 50 คน สำหรับผู้แทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือสมาชิกขั้นต่ำ 100 คน สำหรับสาขาพรรคการเมือง อาจทำเกิดการล็อบบี้จากผู้มีอิทธิพลหรือนายทุนในท้องที่นั้นเพื่อให้ตัวเองได้เป็นตัวแทนพรรคได้ง่ายขึ้น 

 

ลดทอนอำนาจของกรรมการบริหารพรรค
 
การให้สมาชิกพรรคทำ"ไพรมารีโหวต"เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ก็ลดทอนอำนาจของกรรมการบริหารพรรคในการคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

 

ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก
 
การทำ "ไพรมารีโหวต" พรรคการเมืองจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสาขาพรรคหรือการหาสมาชิก ด้วยกติกาแบบนี้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กอาจประสบปัญหามากกว่าพรรคขนาดใหญ่

 


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ