คอลัมนิสต์

ถอดรหัสเลือกตั้ง ผ่าน "อีสานโพล" ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สำนักโพลต่างๆทำงานอย่างหนักหน่วง โพลนิด้า ชี้ ประชาชนอยากให้ ลุงตู่ ยุบสภาโดยเร็วได้มีการ "เลือกตั้ง" ก่อนหน้านี้ "อีสานโพล" เผยผลสำรวจ "เลือกตั้ง" วันนี้..ใครชนะ+เพราะอะไร? หากประมวลเหตุการณ์ นำมาถอดรหัสไม่พ้นประวัติศาสตร์สำคัญ ผ่านเจาะประเด็นร้อน โดย เมฆาในวายุ

วันนี้ (10 ต.ค.64 ) นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจสะท้อนความต้องการผู้คนตามกระแสการเมือง อยากให้"ลุงตู่" ยุบสภาโดยเร็วเพื่อให้มี "การเลือกตั้ง"  ขณะที่ก่อนหน้านี้ "อีสานโพล" ก็เผยแพร่ผลสำรวจออกมาอีก ถ้ามี "เลือกตั้ง" วันนี้อยากได้ใครเป็นนายกฯ 

 

จับอาการของ"สำนักโพล"ต่างๆ ที่มีต่อสถานการณ์ทางการเมือง ก็ดูไม่ต่างกับ การลงพื้นที่ของหลายพรรคการเมืองในช่วงนี้  ส.ส.แทบทุกคนอ้างว่าเพื่อเยี่ยมประชาชนที่ประสบอุทกภัยและมอบสิ่งของที่จำเป็นรวมทั้งฟังปัญหาเพื่อนำมาแก้ไข  

 

แต่โดยนัยที่แท้จริงแล้ว ตอนนี้คือช่วงปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร  เวลานี้คือเวลาที่กฎหมายเปิดทางให้ส.ส.ไปพบประชาชนเพื่อนำปัญหามาอภิปรายในสภาผู้แทนฯให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแก้ไข และหาแต้มสะสมไว้เป็นต้นทุนว่านักการเมืองคนนี้ไม่ทอดทิ้งและขอโอกาสทำงานเพื่อบ้านเกิด...หากต้องเกิดการเลือกตั้งในวันข้างหน้า


บวกกับตอนนี้ใกล้เลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) ราว 5,300 แห่ง ทั่วประเทศใน วันที่ 28 พ.ย. 2564  หลังจากมีการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 และเลือกตั้งเทศบาลที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2564  

 

ดังนั้นการลงพื้นที่ช่วงสูญญากาศการเมืองท้องถิ่นสนามนี้(กกต.เปิดรับสมัครเลือกตั้งอบต.ระหว่างวันที่ 11-15 ต.ค.2564)นั้น จะเป็นการหาเสียงให้ทีมงานของส.ส.และว่าที่ผู้สมัครส.ส.ไปกลายๆเพื่อให้ได้รับเลือกตั้ง เพราะอย่าลืมว่าอบต.นั้นคือเซลล์เล็กสุดที่เป็นฐานคะแนนของนักการเมือง เนื่องจากใกล้ชิดชาวบ้านมากที่สุด หากคนในเครือข่ายได้รับความไว้วางใจ โอกาสทางการเมืองบนสนามผู้แทนราษฎรของใครหลายคนก็จะง่ายขึ้น
 

อย่างไรก็ดี แม้โพลตั้งโจทก์นำมาสู่คำตอบจากประชาชนเร่งเร้าให้ยุบสภา มีการเลือกตั้ง

 

แต่ตอนนี้หลายคนน่าจะคลายข้อสงสัยว่าจะยุบสภาเมื่อใด  เพราะ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรียืนยันแล้วว่ายังไม่มีการยุบสภาในตอนนี้ (เพราะเดือนธ.ค.ปีนี้-ธ.ค.ปีหน้า ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปก ดังนั้นโอกาสยุบสภาน่าจะมีขึ้นหลังการประชุมเสร็จสิ้น)  ยิ่งคำประกาศล่าสุดด้วยแล้ว  "ขอเวลา 5 ปีพลิกฟื้นประเทศ" 

 

"...ทุกอย่างต้องใช้เวลาและต้องแก้ไขทั้งหมด ผมคิดว่าใน 5 ปีข้างหน้าหลายอย่างต้องดีขึ้นจากโครงสร้างที่ทำใหม่ทั้งหมด เหลือเพียงว่าคนจะเข้าถึงได้อย่างไร"

ตอนหนึ่งของคำปราศรัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 64 

 

แต่ตามวิสัยนักการเมืองนั้น ถือคติว่าอะไรที่แน่นอน ย่อมไม่แน่นอน

 

กลับมาพิเคราะห์ ประเด็นนี้ก่อน กรณี ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ อีสานโพล (E-Saan Poll) เปิดผลการสำรวจชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือ  วาระ“ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่ ท่านอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ”

 

พบว่า อันดับหนึ่ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 24.0 อันดับสองนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 23.0  อันดับสาม หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 22.1  อันดับสี่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 14.6

 

อันดับห้า นายอนุทิน ชาญวีรกุล ร้อยละ 7.8 อันดับหก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 2.7  อันดับเจ็ด พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ร้อยละ 2.1 อันดับแปด นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ร้อยละ 0.4   และอื่นๆ ร้อยละ 3.3

 

 

 

 

“ถ้าเลือกตั้ง ส.ส. วันนี้ ท่านมีแนวโน้มจะลงคะแนนให้พรรคใด”

 

พบว่า อันดับหนึ่ง พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 34.7 อันดับสอง พรรคก้าวไกล ร้อยละ 21.7 อันดับสาม พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 14.9  อันดับสี่ พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 12.4  อันดับห้า พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 10.8  อันดับหก พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 2.8  อันดับเจ็ดพรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 2.1 และอื่นๆ ร้อยละ 0.6

 

อาจมีผู้ตั้งคำถาม  ทำไมบทวิเคราะห์นี้จึงยึดอีสานโพลมาเป็นสารตั้งต้นในการสื่อถึงการยุบสภาและว่าที่นายกฯคนใหม่?

 

ย้อนไปดูตัวเลขผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งส.ส.วันที่ 24 มี.ค.2562 (ข้อมูล ณ วันที่ 1 ก.พ.2562) โดยจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้วประเทศ 51,419,975 คน โดยกลุ่มช่วงอายุ 26- 45 ปี เป็นกลุ่มช่วงอายุที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากที่สุด จำนวน 19,583,472 คน รองลงมาคือช่วงอายุ 46-60 ปี มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 14,444,663 คน   ส่วนช่วงอายุ 18-25 ปี ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่ม First Vote มีจำนวนผู้ที่มีสิทธิ 7,339,772 คน แบ่งเป็น เพศชาย 3,737,234 คน เพศหญิง 3,602,538 คน   

 

อย่าลืมว่า"ภาคอีสาน"คือภาคที่มีส.ส.มากที่สุดในประเทศ( จำนวนส.ส.จะผันแปรตามสัดส่วนการกำหนดส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ ) โดยปี2554 ส.ส.เขตมี400คน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน ภาคอีสานมีส.ส.เขต126 คน และปี2562 ส.ส.เขตมี350คน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มี150 คน ทำให้ภาคอีสานเหลือส.ส.เขต116 คน  และการเสนอแก้กติกาหลักและกติการองเกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้น  ทำให้การเลือกตั้งครั้งหน้าส.ส.เขตในภาคอีสานน่าจะมี120-125 คน(ใกล้เคียงปี2554)

 

บันทึกการเมืองไทยระบุว่า นายกฯที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ส่วนหนึ่งลงสมัครเป็นผู้แทนราษฎรในภาคอีสานเพื่อหวังขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าแบบ"ไร้คำครหา"
 

การเลือกตั้งซ่อมส.ส. ร้อยเอ็ดเมื่อปี 2524  "พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์" อดีตนายกรัฐมนตรี(ที่มาจากการยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร) และหัวหน้าพรรคชาติประชาธิปไตยหวังจะแจ้งเกิดทางการเมืองในวิถีประชาธิปไตย เพื่อท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยตอนนั้น "น้าเกรียง"ใช้วิธีแจกเงินซื้อเสียงจนได้เข้าสภาผู้แทนฯจนเกิดคำว่า"โรคร้อยเอ็ด"

 

ถัดมาคือ"พลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ "หัวหน้าพรรคชาติไทย ลงสมัครผู้แทนโคราช จนได้เป็นส.ส.นครราชสีมาหลายสมัย และห้วงปี2531 พรรคชาติไทยชนะเลือกตั้ง คราวนั้น"น้าชาติ มาดนักซิ่ง"ได้เชิญพลเอกเปรม ติณสุลานนท์ ขึ้นเป็นนายกฯอีกครั้ง(สมัยที่4) แต่ป๋าเปรมได้สร้างวาทกรรมคลาสสิกทางการเมืองว่า "ผมพอแล้ว" ทำให้พลเอกชาติชายได้เป็นผู้นำประเทศ ก่อนที่ในเดือนก.พ.2534 รัฐบาลผสมของ"น้าชาติ"จะโดนรสช.ยึดอำนาจ

 

จากนั้นคือ"พลเอกชวลิต  ยงใจยุทธ" หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ตอนแรกนั้น"จิ๋ว หวานเจี๊ยบ"ลงแข่งขันที่เมืองนนท์ และคว้าชัยมาได้สองสมัย จากนั้น"พ่อใหญ่จิ๋ว"มองว่าภาคอีสานมีส.ส.มากที่สุด หากยึดภาคตะวันออกเฉียงเหนือไว้ได้ โอกาสก้าวเป็นสร.1จากการเลือกตั้งจะสะดวกยิ่ง ทำให้"อดีตขงเบ้งแห่งกองทัพ"เดินทางไกลสองแสนไมล์ไปอาสาเป็นส.ส.นครพนม เขต1  สองสมัย จนสมหวังได้เป็นประมุขฝ่ายบริหารเมื่อปี2539

 

และโมเดล"ยึดสนามเลือกตั้งอีสานได้ โอกาสเป็นรัฐบาลแค่เอื้อม"นั้น..นายทักษิณ  ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยถอดแนวคิดนี้มาใช้  แม้ช่วงนั้นนายทักษิณลงสมัครส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ1 และใช้แคมเปญหนึ่งหาเสียงว่า ขอโอกาสคนเหนือมาบริหารประเทศบ้าง จนทำให้ไทยรักไทยคว้าส.ส.ภาคเหนือได้เป็นกอบเป็นกำ  แต่ไม่ลืมการเน้นหาเสียงในภาคอีสาน โดยนายทักษิณมอบให้ "พล.อ. ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา" เป็นแม่ทัพคุมภาคนี้และสรรหาคนหน้าใหม่ลงแข่งขันจนชนะเลือกตั้งและเป็นที่มาของคำว่"ส.ส.นกแล"

 

ขณะเดียวกันส.ส.หลายสมัยที่ยากจะล้มได้ กลยุทธ์"ดึงศัตรูมาเป็นมิตร"ก็ถูกนำมาใช้ เพราะเจ้าของฉายา"แม้ว สันกำแพง"ทาบทาม"นายเสนาะ เทียนทอง"  อดีตเลขาธิการพรรคความหวังใหม่และพรรคชาติไทย มาร่วมชายคา "เจ้าพ่อวังน้ำเย็น"ในตอนนั้นมีส.ส.หลายภูมิภาคและหลายจังหวัด โดยส.ส.อีสานหลายสิบคนนั้นอยู่ในเครือข่ายของผู้ชายคนนี้ เมื่อบวกกับส.ส.นกแลของเสธ.แอ๊ดและมุ้งอื่นๆแล้วนั้น ทรท.จึงชนะเลือกตั้งในปี2544และปี2548 จนภาคอีสานเกิดกระแส"ทักษิณฟีเวอร์"ไปหลายปี

 

แนวคิดนี้ก็นำมาปรับใช้ในยุคนารีขี่ม้าขาว(นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ1 พรรคเพื่อไทย)เช่นกัน

 

ล่าสุด"นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์"หัวหน้าพรรคก้าวไกลนำ"ทรท.โมเดล"มาประยุกต์กับการเมืองไทยยุค4G เพราะทราบว่าพรรคสีส้มเวอร์ชั่นสองพยายามลงไปสัมผัสชาวบ้านรากหญ้าเพื่อหวังเป็นฐานเสียง(แหล่งข่าวระดับสูงทางการเมืองให้ข้อมูลล่าสุดว่า คนอีสานส่วนใหญ่ในตอนนี้ให้ความนิยมพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล จนเป็นคำตอบของอีสานโพลชิ้นนี้)

 

ดังนั้นคำตอบใน"อีสานโพล"ล่าสุด จะพบสามอันดับแรกของแคนดิเดตนายกฯนั้น ล้วนอยู่ในเครือข่าย"แม้ว สันกำแพง" ตั้งแต่คุณหญิงหน่อย,ทิม สีส้ม(นายพิธาเป็นหลานชายนายผดุง ลิ้มเจริญรัตน์ เลขานุการส่วนตัวของนายทักษิณที่เคยมีบทบาททางการเมืองสูงในช่วงปี2544-2549(ก่อนการยึดอำนาจ)) รวมทั้งนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  และสามพรรคแรกที่ลงคะแนนให้นั้น พบว่าคะแนนของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลทิ้งห่างอันดับสามคือพรรคพลังประชารัฐไปหลายขุม

 

โอกาสวันนี้ในภาคอีสานจึงเป็นของขั้วตรงข้ามลุงตู่และพปชร. เมื่อคำตอบออกมาขั้นต้นแบบนี้หลายพรรคน่าจะเร่งทำการบ้านในภาคอีสานกันหลายข้อ หากไม่อยากตกขบวน...

 

โดยเฉพาะพรรคและแคนดิเดตนายกฯที่คะแนนนิยมตามหลังสามคนจากสามพรรคขั้วตรงข้าม"ลุงตู่"แบบไปไกลหลายคุ้งน้ำ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ