คอลัมนิสต์

รอดไหม..หรือว่า "ไทยภักดี" กำลังเดินซ้ำรอย พรรคลุงกำนัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"พรรคไทยภักดี" เปิดตัวเรียบร้อยแล้ว แต่พรรคนี้จะเดินซ้ำรอยพรรคลุงกำนัน ที่เลือกตั้งครั้งที่แล้วได้ ส.ส. แค่ 5ที่นั่งหรือไม่ ยิ่งเลือกตั้งครั้งหน้าหากเป็นเลือกตั้งบัตร 2 ใบ พรรคเกิดใหม่ลำบาก สุดท้ายจบที่พรรคไทยภักดีต้องยุบรวมกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยหรือไม่

 

 

วันนี้( 9 ต.ค.64) ได้ฤกษ์ได้ยาม เวลา 09.09 น. มีการเปิดตัวพรรคการเมืองใหม่ ที่อาคารชื่นฤทัยในธรรม จ.นนทบุรี คือ "พรรคไทยภักดี" โดยมีหัวหน้าพรรค นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม แถลงเปิดตัวพรรค พร้อมประกาศรับสมัครสมาชิก และว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรค ซึ่งมีบุคคลสำคัญทางการเมือง อาทิ นายถาวร เสนเนียม  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ , นายแพทย์เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ, นายไพฑูรย์ แก้ว
ทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  นายสุวินัย ภรณวลัย อดีตแกนนำ กปปส. เข้าร่วมแสดงความยินดี 

 

หมอวรงค์  บอกว่า "พรรคไทยภักดี" พร้อมสู้สนามเลือกตั้งในทุกกติกา ไม่ว่าบัตรเลือกตั้งใบเดียวหรือบัตรสองใบ รวมถึงยืนยันจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งครบทุกเขต ไม่ว่ากฎหมายจะกำหนด 350 เขต หรือ 400 เขต และจะส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย และพรรคคัดเลือกผู้สมัครได้เกือบครบทั่วประเทศแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม หมอวรงค์  แสดงความไม่เห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย นายวิษณุ เครืองาม นำร่างรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ทั้งที่ยังอยู่ในกระบวนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยกฎหมายและอาจมีการยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญหากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติไม่ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด และชี้ว่าระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบจะเป็นปัญหาทางการเมืองอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมาและจะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองของประเทศ 

 

ก็เรื่องระบบเลือกตั้งบัตร 2 ใบ นี่เองที่จะเป็นอุปสรรค และขวากหนามสำคัญสำหรับ "พรรคไทยภักดี" ซึ่งเพิ่งก่อตั้ง รวมทั้งพรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีอยู่ในขณะนี้ 

 

รอดไหม..หรือว่า "ไทยภักดี" กำลังเดินซ้ำรอย พรรคลุงกำนัน

 

รอดไหม..หรือว่า "ไทยภักดี" กำลังเดินซ้ำรอย พรรคลุงกำนัน

 

และเมื่อกล่าวถึง "พรรคไทยภักดี" ก็ต้องพูดถึง พรรครวมพลังประชาชาติไทย ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือลุงกำนัน  ไปพร้อมๆกัน เพราะทั้งสองพรรคมีฐานเสียงหลักอยู่ที่มวลชน กปปส. หากย้อนไปดูการเลือกตั้งครั้งหลังสุดเมื่อปี 2562  พรรครวมพลังประชาชาติไทยได้ ส.ส.มาเพียง 5 ที่นั่งเท่านั้นได้ต่ำกว่าจากที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย ตั้งเป้าไว้ 50-60 ที่นั่ง เพื่อเป็นพรรคขนาดกลางและร่วมกับพรรคพลังประชารัฐตั้งรัฐบาล  ทั้งที่ตอนนั้นเลือกตั้งใช้ บัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งเอื้อให้กับพรรคการเมืองเล็กและพรรคใหม่ ๆ ได้แจ้งเกิดด้วยซ้ำ

 

และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การตั้ง รัฐบาลลุงตู่ ยากขึ้น ต้องลุ้นกับทางฝั่งพรรคเพื่อไทยที่ฟอร์มรัฐบาลแข่งชนิดใจหายใจคว่ำ ทางพรรคพลังประชารัฐ ต้องไปรวบรวมพรรคการเมืองถึง 19 พรรคการเมือง จึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสม 20 พรรคการเมืองได้ นับเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา 

 

และมองไปที่ฐานเสียงของ"พรรคไทยภักดี"และพรรครวมพลังประชาชาติไทยของลุงกำนัน ส่วนใหญ่ก็มาจากฐานเสียงเดียวกัน  คือ มาจากมวลชน สมาชิก กปปส.
 

 

หากยังจำกันได้หลังจากที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ลาออกจากประชาธิปัตย์ เขาได้มาอยู่กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย แต่ต่อมาเขาได้ลาออกจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย โดยให้เหตุผลว่าหลังจากมีโอกาสปรึกษากับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ จึงอยากตั้งกลุ่มการเมืองเพื่อให้ความรู้ประชาชนและเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาของบ้านเมือง เขาจึงตั้งกลุ่มไทยภักดีขึ้น และต่อมาตั้งเป็น "พรรคไทยภักดี" 

 


 

 

 

ดังนั้นหากทั้งสองพรรค ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในการเลือกตั้งครั้งหน้าแข่งกัน ก็จะแย่งคะแนนเสียงกันเอง อีกทั้งหากใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งเอื้อให้กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ทั้งสองพรรค จะได้ที่นั่งเท่าไหร่กันหรืออาจไม่ได้เลย

 

 

ตัวแปรสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ "พรรคไทยภักดี" และพรรครวมพลังประชาชาติไทย จะได้ที่นั่งจำนวนมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความเป็นไปของพรรคพลังประชารัฐด้วย 

 

 

หากการเลือกตั้งครั้งหน้า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แยกตัวออกไปตั้งพรรคเอง คะแนนเสียงของ กปปส.ที่เคยเทให้กับพรรคพลังประชารัฐเพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ก็จะหันมาเทให้กับ"พรรคไทยภักดี" และพรรครวมพลังประชาชาติไทยแทน ซึ่งจะทำให้ทั้งสองพรรคพอมีทางรอด แต่ถ้าหากพรรคพลังประชารัฐมีเสถียรภาพ พล.อ. ประยุทธ์ ยังได้รับการสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ ให้เป็นนายกฯ เหมือนเดิม พรรคไทยภักดีและพรรครวมพลังประชาชาติไทย  ตกอยู่ในสถานะลำบากแน่ในการเลือกตั้งหน้า

 

 

ทางรอดสุดท้าย"พรรคไทยภักดี"กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย อาจยุบควบรวมกันก็เป็นได้ 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ