คอลัมนิสต์

ต่างขั้วต่างรุ่น "6ตุลา" มิตรสหายตามหา เสนาบดี เอนก

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปีที่ 45 รำลึกเหตุการณ์ "6ตุลา" ต่างขั้วความคิด แยกทางห่างเหิน มิตรสหายตามหารัฐมนตรีเอนก อดีตผู้นำนักศึกษา คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

ปีที่ 45 ของเหตุการณ์ “6ตุลา” เปลี่ยนรูปแบบและเนื้อหา จากพิธีกรรมรำลึกประจำปีหรืองานเช็งเม้งของคนเดือนตุลา สู่สายธารการเคลื่อนไหวของเยาวชนนักศึกษายุคปัจจุบัน

 

“6ตุลา” ในมุมมองของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าโศกนาฏกรรม หรือเรื่องต้องห้าม ตรงกันข้ามมันเป็นเครื่องมือปลุกเร้าจิตใจการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยประชาชน

 

การรำลึก 6 ตุลาคม 2519 ของกลุ่มนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ และผู้จัดการชุมนุมของกลุ่มราษฎร จึงเข้มข้นและมีเป้าหมายทางการเมืองชัดเจน

 

ช่วงก่อนถึงวาระ 45 ปี 6 ตุลา ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่อนุญาตให้จัดงานรำลึกในพื้นที่มหาวิทยาลัย เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 โดยให้จัดในรูปแบบออนไลน์แทน จึงเกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ต่อมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกหนังสือชี้แจง โดยระบุจะทำหนังสือขออนุญาตไปยังกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร

 

พลันที่มีข่าวนี้ออกไป เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กลายเป็นตำบลกระสุนตกทันที ในฐานะเอนก เคยเป็นอดีตผู้นำนักศึกษารุ่น 6 ตุลา

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็เปิดอ้าให้คณะผู้จัดงาน 45 ปี 6 ตุลา ได้เข้าไปใช้บริเวณสวนประติมากรรมจัดพิธีกรรมรำลึกได้ตามปกติ

 

‘ซ้ายจุฬา’

ช่วงก่อนเหตุการณ์ “6ตุลา” สถานการณ์ในรั้วจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ไม่ต่างจากสถาบันการศึกษาแห่งอื่น ที่มีการต่อสู้ 2 ขั้วความคิด ระหว่างนักศึกษาปีกก้าวหน้ากับนักศึกษาปีกอนุรักษนิยม

ปี 2518 เอนก เหล่าธรรมทัศน์ นิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับเพื่อนนิสิตหัวเอียงซ้ายก่อตั้งพรรคจุฬา-ประชาชน ส่งภูมิธรรม เวชยชัย เข้าชิงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ (นายก สจม.) แต่ก็พ่ายแพ้แก่วีระกร คำประกอบ ตัวแทนพรรคอนุรักษนิยม

 

ปี 2519 พรรคจุฬา-ประชาชน ส่งเอนกเข้าชิงนายก สจม. แต่คราวนี้ เอนกได้รับเลือกตั้งเป็นนายก สจม. และฝั่งจุฬาฯ ส่ง สุธรรม แสงประทุม เป็นเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)

 

ดังนั้น การชุมนุมใหญ่ต่อต้านการกลับคืนประเทศไทยของจอมพลถนอม ทางเอนก นายก สจม.จึงมีบทบาทในการนำพานิสิตจุฬาฯ เข้าร่วมชุมนุมที่ธรรมศาสตร์

 

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา อเนกเดินทางไปร่วมการต่อสู้ในเขตป่าที่เขตงานพัทลุง ตรัง และสตูล (เทือกเขาบรรทัด) มีชื่อจัดตั้งว่า “สหายประยูร” และปี 2520 สหายประยูร เดินทางไกลจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ โดยจัดตั้งส่งให้ไปอยู่สำนัก 61 ภูพยัคฆ์ น่านเหนือ ร่วมกับเพื่อนผู้นำนักศึกษาอีกหลายสิบชีวิต

 

ปี 2544 เอนกเข้าสู่ถนนการเมือง โดยเริ่มต้นที่พรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะลาออกตาม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ มาก่อตั้งพรรคมหาชน และเป็นหัวหน้าพรรคมหาชน

 

ปี 2561 เอนกเป็นกรรมการบริหารพรรครวมพลังประชาชาติไทย และได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.)

 

‘สองฝั่งความคิด’

เมื่อออกมาจากป่า และไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ มีมุมมองต่อ “6ตุลา” แตกต่างจากเพื่อนร่วมอุดมการณ์ยุคสงครามเย็น

 

หลังพฤษภาทมิฬ งานวิชาการเรื่องสองนคราประชาธิปไตย ทำให้เอนกมีบทบาททางวิชาการและมีอิทธิพลต่อการทำความเข้าใจสังคมไทยในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ

 

ปลายปี 2561 อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ให้สัมภาษณ์ 101.world ว่าด้วยการเมืองไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตอนหนึ่งเขาพูดถึงเปลี่ยนผ่านของสังคมไทย

 

“สมัยที่ผมยังเด็ก ผมคิดแค่ว่าขบวนนักศึกษาต้องเดินขับไล่รัฐบาลเหมือนในอีกหลายๆ ประเทศที่มีการประท้วง ทั้งในเยอรมนี รัสเซีย จีน อเมริกา จนกระทั่งผมได้เห็นขบวนนักศึกษาขับไล่ทหารออกไปในเดือนตุลาคม ปี 2516 และมาเห็นขบวนคนชั้นกลางในช่วงพฤษภาคม 2535 ที่ผมเรียกว่าม็อบมือถือ”

 

“คนรุ่นผมโตมากับสิ่งคณะราษฎรทิ้งมรดกไว้ให้ ทั้งแนวคิดประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ แต่คณะราษฎรก็มีพลังเพียง 25 ปีเท่านั้น หลังปี 2500 ก็หมดพลังไป..ผมชัดเจนว่าไม่ชอบเผด็จการ แล้วเพื่อนหลายคนที่ต่อสู้เอาร่างกายไปสูญเสียในเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ เราคิดว่าเราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย โมเดลในหัวเราเป็นแบบนี้”

 

เอนกในวันที่สวมหัวโขนรัฐมนตรี อาจถูกเพื่อนเดือนตุลาตัดขาดญาติมิตร แต่เขาบอกเพื่อนมิตรว่า “เราอาจต้องคิดเรื่องการอยู่อย่างไรกับความเป็นจริง”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ