คอลัมนิสต์

พลังประชารัฐ หนุน "ประยุทธ์" เกมลับในมือ "ธรรมนัส"

01 ต.ค. 2564

โหมโรงเลือกตั้ง เกมหนุน "ประยุทธ์" ลับลวงล่อ จะเชื่อใจใคร พปชร.ในมือ "ธรรมนัส" หรือพรรคใหม่ปลัดฉิ่ง คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

พลันที่มีชื่อพรรคปลัดฉิ่งกระฉ่อนเมือง จู่ๆก็มีข่าวพรรคพลังประชารัฐ ประกาศหนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งสมัยหน้า

 

 

ท่าทีหนุน “พล.อ.ประยุทธ์” แต่ไก่โห่ ของแกนนำพรรคพลังประชารัฐ รวมถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เหมือนต้องการจบข่าวความขัดแย้งของ 3ป. ซึ่งไม่เป็นผลดีแก่พรรคโดยภาพรวม

 

 

สัมพันธภาพของ “ประยุทธ์-ธรรมนัส” เหมือนไฟสุมขอน แม้จะมีคำสั่งอภินิหารให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ดูแล 4 กรมของกระทรวงเกษตรฯแล้วก็ตาม

 

 

มือแจกข่าวของพลังประชารัฐ ได้โค้ดคำพูดของ พล.อ.ประวิตร “ผมยังเป็นหัวหน้าพรรค ส่วนนายกฯเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ลุงตู่อยู่กับเรา จะไปไหน ต้องตายจากกันไปข้างหนึ่ง ไปไหนกันไม่ได้ ไม่มีแตกแยก ไม่ขัดแย้ง”

วันที่ 1 ต.ค.2564 นักข่าวเจอหน้า พล.อ.ประวิตร พยายามสอบถามข่าวพลังประชารัฐ หนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกครั้ง ปรากฏว่า บิ๊กป้อมไม่ตอบ เดินหนีนักข่าวไปเลย

 

 

บ่ายวันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร เดินทางไปยังเทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ตรวจเยี่ยมประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยมี ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐทั้ง 6 คน มาต้อนรับ

 

 

‘เสนอชื่อนายกฯ’

เหมือนเรื่องบังเอิญ พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล เพื่อนรัก “พล.อ.ประยุทธ์” ชิงเปิดเกมพรรคปลัดฉิ่ง เขย่าพลังประชารัฐภาคใต้ ตามมาด้วย ส.ส.ใต้บางคนขานรับเรื่องกระแสความนิยมในตัวบิ๊กตู่

จังหวะเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้เรียกประชุมหัวหน้าภาคทั้ง 9 ภาค หารือถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น และเพื่อวางกลยุทธ์เลือกตั้งใหญ่ ที่บ้านป่ารอยต่อฯ แถมมีเรื่องหนุน “ประยุทธ์” เป็นนายกฯ

 

 

จริงๆแล้ว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อสำนักหนึ่งไปก่อนหน้านี้ว่า หัวหน้าพรรคและประธานยุทธศาสตร์พรรค จะเรียกประชุมหัวหน้าภาค เตรียมการเลือกตั้ง

 

 

พรรคพลังประชารัฐ ตัดสินใจแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้ง เป็นบัตรสองใบ เพราะพรรคจะใหญ่ขึ้น ร.อ.ธรรมนัส พูดกลางที่ประชุมใหญ่พรรคฯว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคจะได้ ส.ส.มากกว่า 150 เสียง จากปัจจุบันมี 122 เสียง

 

 

นับแต่ก้าวเป็นเลขาธิการพรรค ร.อ.ธรรมนัสย้ำว่า พรรคจะทำนโยบายใหม่ และให้ ส.ส.ลงทำงานพื้นที่มากขึ้น แต่ไม่เคยเอ่ยถึงว่า จะหนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอีกสมัย

 

 

กระทั่งเมื่อเร็วๆนี้ ร.อ.ธรรมนัส ให้สัมภาษณ์สื่อสำนักหนึ่งว่า หลังเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริหารพรรค และหัวหน้าพรรคจะเป็นผู้ชี้ขาด

 

 

‘สายธรรมนัส’

หลังศึกซักฟอก มีกระแสข่าว “พล.อ.ประยุทธ์” จะเข้ามายึดพรรคพลังประชารัฐ และกดดันให้ พล.อ.ประวิตร ปลด ร.อ.ธรรมนัส ออกจากเลขาธิการพรรค เมื่อมีการตั้ง พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคฯ ข่าวดังกล่าวก็เงียบหายไป

 

 

สำหรับการประชุมเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่น และเลือกตั้งทั่วไปที่บ้านป่ารอยต่อ ไร้เงาคณะกรรมการบริหารพรรคระดับบิ๊กๆอีกหลายคน แต่มี ส.ส.ระดับหัวหน้าภาคทั้ง 9 ภาคเข้าร่วมประชุม

 

 

ร.อ.ธรรมนัส ได้แบ่งการรับผิดชอบ ส.ส.เหมือนโครงสร้างตำรวจ มี 9 ภาค และโดยมีภาค กทม. เป็นภาคที่ 10 ก็เหมือนตำรวจนครบาล

 

 

รายชื่อหัวหน้าภาคส่วนใหญ่อยู่ในเครือข่าย “ธรรมนัส-วิรัช-สันติ” ประกอบด้วย ยงยุทธ สุวรรณบุตร ส.ส.สมุทรปราการ ,ฐานิสร์ เทียนทอง ส.ส.สระแก้ว ,สุชาติ อุตสาหะ ส.ส. เพชรบุรี ,ทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา ,เอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ , จีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา, วันเพ็ญ พร้อมพัฒน์ ส.ส.เพชรบูรณ์ ,รงค์ บุญสวยขวัญ ส.ส.นครศรีธรรมราช และอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.ยะลา

 

 

ระดับหัวหน้าภาค ไม่มี ส.ส.อาวุโส จากกลุ่มสามมิตรแม้แต่คนเดียว ยกตัวอย่างภาคตะวันตก ร.อ.ธรรมนัส ตั้ง สุชาติ อุตสาหะ ส.ส.เพชรบุรี สมัยแรก แทนที่จะเป็นบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี 3 สมัย สายกลุ่มสามมิตร

 

 

แม้แต่ ส.ส.กลุ่มพลังชล และกลุ่มเสี่ยเฮ้ง-สุชาติ ชมกลิ่น ที่มีอาวุโสพอจะเป็นหัวหน้าภาคได้ ก็ไม่มีชื่อเช่นกัน

 

 

ดังนั้น ศึกภายในพลังประชารัฐ ดูเหมือนสงบลงชั่วคราว แต่ก็ยังแฝงไว้ด้วยความระแวงแคลงใจ พวกใครพวกมัน รอวันปะทุเป็นความขัดแย้งครั้งใหม่

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง