คอลัมนิสต์

ฉากชีวิต ‘ผู้ว่าฯปู’ เลือดอ่างทอง ทายาทแสงศรีโฟโต้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ย้อนรอย “ผู้ว่าฯปู” เกิดอ่างทอง ลูกชายร้านถ่ายรูปแสงศรี เด็กหัวก้าวหน้าแห่งตลาดศาลเจ้าโรงทอง วิเศษชัยชาญ คอลัมน์ท่องยุทธภพ โดยขุนน้ำหมึก

เช้าวันที่ 24 ส.ค.2564 ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ค “เอก ประทุมรัตน์” ติดแฮชแท็ก #คืนปูสู่อ่างทอง ตามด้วยข้อความว่า “ขอต้อนรับว่าที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ลูกอ่างทอง เลือดอ่างทองบ้านเรา นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผมเชื่อว่า อาเจ็กปูไม่มาพักแน่นอน วัดวาอาราม 202 วัด เตรียมแสงศรีดรามาได้เลย”

 

 

ก่อนหน้านั้น “เอก ประทุมรัตน์” อัพสเตตัส เพลง “บ้านเรา” ขับร้องโดยสุเทพ วงศ์กำแหง เหมือนส่งสัญญาณว่า "ผู้ว่าฯปู" ได้กลับบ้านเกิดแน่

 

 

“บ้านเรา แสนสุขใจ แม้จะอยู่ที่ไหน ไม่สุขใจเหมือนบ้านเรา..” และ “..เมฆจ๋า ฉันว้าเหว่ใจ ขอวานหน่อยได้ไหม ลอยล่องไปยังบ้านเขา จงหยุดพัก แล้วครวญรักฝากกับสาว ว่าฉันคืนมาบ้านเก่า ขอยึดเอาไว้เป็นเรือนตาย”

 

 

“เอก ประทุมรัตน์” นักธุรกิจหนุ่ม ที่สนิทสนมกับ “ผู้ว่าฯปู” มายาวนานในฐานะคนบ้านเดียวกันคือ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง

 

++

แสงศรีโฟโต้

++

“ผู้ว่าฯปู” วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี เกิดเมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2504 ที่ตลาดศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง โดยครอบครัวเปิดร้านถ่ายรูปชื่อ “แสงศรี” อยู่กลางตลาด

หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.2516 “เฮียตือ” สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล คนบ้านเดียวกันกับ “ผู้ว่าฯปู” กำลังเรียนอยู่ที่ ม.รามคำแหง ตั้งพรรคสัตยาเคราะห์ ทำกิจกรรมต้านเผด็จการทหาร ได้กลับมารวบรวมเยาวชนหัวก้าวหน้า แถววิเศษชัยชาญ ทำกำแพงข่าวโฆษณาแนวคิดประชาธิปไตย

 

 

เวลานั้น “ผู้ว่าฯปู” เรียนชั้นมัธยม รักการอ่าน ชอบเขียนกลอน และชอบทำกิจกรรม จึงรับหน้าที่เขียนข่าวในกำแพงข่าว เมื่อเกิด 6 ต.ค.2519 ฝ่ายปกครองเมืองอ่างทอง ก็มาไล่จับเด็กๆ เลยต้องหลบกันไปพักใหญ่

 

ฉากชีวิต ‘ผู้ว่าฯปู’ เลือดอ่างทอง ทายาทแสงศรีโฟโต้

ทายาทร้านถ่ายรูปแสงศรี ตลาดศาลเจ้าโรงทอง

 

 

ด้วยความเป็นคนบ้านเดียวกัน เมื่อปี 2538 “เฮียตือ” สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล มีตำแหน่งเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา มีความจำเป็นที่จะหาคนเขียนสคริปต์ข่าวสาร รวมถึงคำปราศรัยต่างๆ “เฮียตือ” จึงนึกถึง “ผู้ว่าฯปู” ซึ่งตอนนั้น รับราชการเป็นพัฒนาชุมชนอยู่แถวสพรรณบุรี

 

 

“ผู้ว่าฯปู” มาช่วยราชการที่สำนักนายกฯ อยู่พักหนึ่ง เมื่อ “เฮียตือ” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ผู้ว่าฯปู ก็ตามไปช่วยเขียนสคริปต์ให้อีก 2 ปี ระหว่างนั้น เฮียตือได้แนะนำให้ผู้ว่าฯปู ไปเข้าโรงเรียนนายอำเภอ จนเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตข้าราชการ จากกรมการพัฒนาชุมชน มาอยู่กรมการปกครอง

ดังนั้น "ผู้ว่าฯปู" กับเฮียตือ จึงมีความรักและผูกพันกันยิ่งนัก วันที่ผู้ว่าฯปู ไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เมื่อปี 2559 “เฮียตือ” ยังนำชาวบ้านแถวอ่างทอง ตามไปไปส่งถึงจวนผู้ว่าฯ

 

++

คนดนตรี

++

ปี 2522 “วีระศักดิ์” ลูกชายเจ้าของร้านถ่ายรูปแห่งตลาดศาลเจ้าโรงทอง อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ได้เข้าเรียนที่คณะศิลปศาสตร์ (มนุษยศาสตร์) มหาวิทยาลัยบูรพา (มศว.บางแสน) ด้วยความรักในการเล่นดนตรี การอ่าน และการเขียนหนังสือมาแต่สมัยเรียนมัธยมฯ เขาจึงรวบรวมเพื่อนร่วมคณะ ตั้งวงดนตรีโฟล์คซอง ‘กอไผ่’ โดยมีสมาชิกทั้งหมด 5 คน

 

 

วงกอไผ่ บางแสน เป็นวงโฟล์คซองแนวเพื่อชีวิต ที่ได้รับอิทธิพลมาจากเพลงเพื่อชีวิตยุคแรก หลัง 6 ตุลา 2519 วงดนตรีเพื่อชีวิตอย่าง คาราวาน, กรรมาชน, กงล้อ, รวมฆ้อน, โคมฉาย, คุรุชน และต้นกล้า ต้องหลบหนีภัยเผด็จการไปอยู่ในเขตป่าเขา

 

 

ช่วงต้นปี 2522 สถานการณ์การเมืองเริ่มผ่อนคลาย วงเพื่อชีวิตยุคที่ 2 ในรั้วมหาวิทยาลัยเริ่มปรากฏ อย่างวงน้ำค้าง, ประกายดาว, พิราบ, หยาดฝน, ทานตะวัน,ฟ้าสาง รวมถึงวงกอไผ่ (มศว.บางแสน)

 

ฉากชีวิต ‘ผู้ว่าฯปู’ เลือดอ่างทอง ทายาทแสงศรีโฟโต้

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รุ่นพี่ที่คอยเกื้อหนุน "ผู้ว่าฯปู" มาโดยตลอด

 

ทั้งหมดนี้เป็นเสี้ยวชีวิตของนักปกครองชื่อ “วีระศักดิ์” ลูกชายเจ้าของร้านถ่ายรูป “แสงศรี” ตลาดศาลเจ้าโรงทอง ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดการเมืองยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน(ช่วงสั้นๆ) จากรุ่นพี่นักกิจกรรมหัวก้าวหน้า

 

 

1 ปีที่เหลืออยู่ในชีวิตราชการ ผู้ว่าฯปู ได้กลับมาทำงานที่บ้านเก่า และคนที่ดีใจมากที่สุด คงหนีไม่พ้น “เฮียตือ” นักการเมืองรุ่นใหญ่แห่งตลาดศาลเจ้าโรงทอง

logoline