"แก้รัฐธรรมนูญ" แบบ "บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ" พรรคเล็กตายเรียบ
พรรค"ก้าวไกล" โวยเลือกตั้งแบบใหม่ไม่แฟร์ "เพื่อไทย"-"พลังประชารัฐ" จับมือแก้คำนวณคะแนนแบบใหม่ พรรคเล็กหมดโอกาสทางการเมือง
"การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" เพิ่มเติม สัดส่วนส.ส.เขต 400 บัญชีรายชื่อ 100 โดยใช้ "บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ" วิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน คำนวณจากฐานส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เหมือนรัฐธรรมนูญ 40 ไม่ใช่คำนวณจากฐานส.ส.ทั้งหมด 500 คน ตามการคำนวณในรธน. 2560 และให้ใช้รูปแบบการเลือกตั้งที่มีการเสนอแก้ไขในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า
ผลที่จะเกิดขึ้นหากรัฐสภามีมติรับร่างแก้ไขในการพิจารณาวาระสอง ปลายเดือนนี้ และวาระสามกลางเดือนหน้า จะทำให้พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงพรรคน้อยกว่า 300,000 คะแนน สูญพันธ์หมด ยกเว้นพรรคที่ได้ส.ส.เขต พรรคเสรีรวมไทยและพรรคก้าวไกล จะเป็นพรรคที่จะได้รับผลกระทบมากสุด เลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะหายไป 50-70 % จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาคำนวณ ภายใต้กติกาใหม่ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคนจะต้องมีคะแนนพรรคอย่างน้อย 330,000 คะแนน ขณะที่การเลือกตั้งปี 62 คะแนนเฉลี่ยต่อส.ส. หนึ่งคนอยู่ที่ 66,000 คะแนน เท่านั้น
นี่อาจเป็นที่มาทำให้พรรคก้าวไกลออกมาตั้งคำถามว่า ในการพิจารณาของสภา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการรับรองหลักการมีแค่ร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี 2 มาตราเท่านั้นคือ มาตรา 83 และ เป็นเรื่องจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากเดิม 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน แต่มีการแปรญัตติให้แก้เป็นสส.เขต 400 คน สส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ส่วน มาตรา 91 เป็นเรื่องการคำนวณระบบเลือกตั้ง โดยให้ใช้ระบบคู่ขนานเหมือนรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหาในการไม่สะท้อนความนิยมของพรรคหรือนโยบายตามเสียงที่ประชาชนต้องการจริงๆ
ส่วนในรัฐธรรมนูญ 60 มีปัญหาที่การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่งพรรคก้าวไกลเสนอหลักการคือ จำนวน ส.ส.เหมือนเดิมเป็น 350 กับ 150 แต่การคำนวณให้ใช้แบบ MMP จากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คะแนนของบัตรเลือกพรรคการเมืองจะถูกนำมาใช้เพื่อคำนวนเป็นจำนวน ส.ส. พึงมีของพรรคการเมือง นำจุดแข็งของทั้งรัฐธรรมนูญ 40 และ 60 มารวมกัน เป็นพัฒนาทางการเมืองที่เป็นธรรม โดยกำจัด ส.ส.ปัดเศษออกไปด้วยการคำนวณที่เหมาะสม แต่การพิจารณากลับเป็นไปอย่างเร่งรีบ จนไม่สามารถอภิปรายเรื่องระบบการเลือกตั้งแบบ MMP ได้
จะเห็นได้ว่า "การแก้รัฐธรรมนูญ" ครั้งนี้ พรรคที่จะได้ประโยชน์เต็มเหนี่ยวกับรูปแบบ เลือกตั้งที่มีการแก้ไข คือ "พลังประชารัฐ"
และ "พรรคเพื่อไทย"
โดยในการลงมติวาระสามต้องได้เสียงส.ว.สนับสนุน หนึ่งในสามหรือ 84 คน จากส.ว.ทั้งหมด 250 คน ตามไทม์ไลน์ที่ประธานกรรมาธิการ พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ก่อนปิดสมัยประชุมนี้