คอลัมนิสต์

หมอประเวศ เตือนผู้นำระวังปากต้องพูดจริง "นายกฯ" พลิกกลไกรัฐสู้โควิด-19

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ราษฏรอาวุโส ติงนายกฯรวบอำนาจจนทำไม่ไหว โควิด-19คนล้มตายอย่างน่าอนาถ พร้อมๆกับเศรษฐกิจล้มละลาย แนะเป็นผู้นำทิศทาง/นโยบายไม่ใช่มั่วงานทุกอย่างจนเสียศูนย์ ควรใช้ 2เครื่องมือใหม่ ระวังปากผู้นำต้องพูดจริง

ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฏรอาวุโส  เสนอทางออกวิกฤติประเทศผ่านบทความหัวข้อ"พลิกกลไกรัฐ พลิกสถานการณ์โควิด" มีใจความดังต่อไปนี้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :  

"ครม."เคาะลดภาระค่าเรียน"นักเรียน-นักศึกษา" วงเงิน 32,000 ล้านบาท

ด่วน "ตรีนุช" นำทัพผู้บริหารศธ.แถลงทุกข้อสงสัย"เงินเยียวยา"นักเรียนคนละ 2,000 บาท

เช็กสิทธิ์ เงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท รร.รัฐบาล-เอกชน ครบทุกขั้นตอนที่นี่

 

ความเป็นรัฐราชการ (Bureaucracy) คือปัญหาใหญ่ของประเทศ

นักคิดนักวิชาการได้เตือนมานานว่า โครงสร้างอำนาจ คือ ปัญหาใหญ่ของประเทศ ระบบอำนาจรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง ระบบราชการที่เน้นการควบคุมด้วยกฎหมาย กฎ ระเบียบ จำนวนมหาศาล เหมือน “มัดตราสังประเทศไทย” ให้ไม่มีศักยภาพที่จะคิดเองทำเอง ริเริ่มใหม่ หรือนวัตกรรมให้สอดคล้องกับสถานการณ์

 

ระบบราชการจึงอืดอาดยืดยาด เช้าชามเย็นชาม ไม่มีสมรรถนะที่จะเผชิญสิ่งที่ยากและซับซ้อน เป็นเหตุให้ประเทศวิกฤตและควบคุมโควิดไม่อยู่

 

ระบบรวมศูนย์อำนาจ ทำให้นายกรัฐมนตรีที่ผ่านมาทุกคนทำผิดบทบาท คือใช้เวลาไปกับการบริหารจิปาถะรอบตัวจนทำไม่ไหวและทำไม่ได้ดี แทนที่จะทำหน้าที่ผู้นำทิศทางและนโยบายของประเทศ

 

นายกรัฐมนตรีควรจะเป็นผู้สร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม ให้ทุกภาคส่วนของประเทศมีความมุ่งมั่นร่วมกันและเป็นผู้ปฏิบัติ อีกนัยหนึ่งคือการกระจายอำนาจไปอย่างทั่วถึงส่วนกลางทำหน้าที่นำทิศทางและนโยบาย ซึ่งรวมทั้งสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จ

การปรับตัวฉับพลันให้ทันสถานการณ์เฉพาะหน้า

สถานการณ์เฉพาะหน้าคือ คนไทยทั่วประเทศกำลังเจ็บป่วยล้มตายอย่างน่าอนาถ พร้อมๆ กับเศรษฐกิจล้มละลาย เราจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากกลไกของรัฐปรับตัวอย่างฉับพลันให้กระฉับกระเฉง ว่องไว รวดเร็ว ทันการณ์ และมีสัมฤทธิภาพสูง

 

ในระบบร่างกาย หัวใจ ตับ ปอด ต่อม ไต ต่างๆ ต้องมีความเป็นอัตโนมัติ (Autonomy) จะไปรอให้มีใครมาสั่งไม่ได้ เพราะจะไม่ทันการณ์และสั่งผิดสั่งถูก หัวใจต้องเต้นเอง ปอดต้องหายใจเองฉันใด กลไกของรัฐก็ฉันนั้น นั่นคือปล่อยให้ทุกส่วนมีความเป็นอัตโนมัติ สามารถคิดเอง ทำเอง ริเริ่มเอง ปรับตัวได้รวดเร็วให้สอดคล้องกับสถานการณ์

 

รัฐส่วนกลางปรับตัวมาทำหน้าที่ชี้นำทิศทางและนโยบาย ซึ่งรวมทั้งสร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม หรือความมุ่งมั่นร่วมกัน เมื่อคนทั้งประเทศมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม ก็จะเป็นประดุจการจูนคลื่นแสง เกิดเป็นพลังแสงเลเซอร์ที่มีอำนาจทะลุทะลวงสูง 

นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้นำทิศทางและนโยบาย ไม่ใช่มั่วงานทุกอย่างจนเสียศูนย์ และทำการสื่อสารให้คนทั้งประเทศมีเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วมรัฐสภาต้องรวมตัวกันแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคโดยรวดเร็ว ถ้าสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน สามารถแก้กฎหมายเก่า สร้างกฎหมายใหม่ ได้รวดเร็วภายใน ๑ วัน

เครื่องมือใหม่ ๒ อย่างของนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีตั้งแต่นี้ต่อไป ควรจะมีเครื่องมือใหม่ ๒ อย่าง คือ

(๑) ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่มีความเฉียบแหลมประดุจขงเบ้ง นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจสูงสุด จึงต้องประกอบด้วยปัญญาสูงสุด ที่ประชุมครม.ไม่ใช่องค์ปัญญาสูงสุด แต่มีหางของอำนาจและผลประโยชน์ยาวไกล

ปัญญาสูงสุดต้องเป็นอิสระจากผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ

 

นายกรัฐมนตรีต้องตามหาที่ปรึกษาชนิดนี้ เหมือนเล่าปี่ตามหาขงเบ้ง นายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาต้องมีความสัมพันธ์เชิงกัลยาณมิตร เหมือนเล่าปี่ - ขงเบ้ง เล่าปี่มีขุนพลที่รบเก่ง แต่รบไม่ชนะจนกระทั่งได้ขงเบ้งมาเป็นที่ปรึกษา ฉันใด นายกรัฐมนตรีไทยต่อไปก็ควรเป็นเช่นนั้น

 

(๒) ทีมสัมฤทธิศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี (Prime Minister’s Delivery Unit = PMDU) การบริหารนโยบายจากครม. ไปตามช่องทางปรกติของระบบราชการไม่นำไปสู่ความสำเร็จ เพราะระบบราชการเน้นที่การบริหารกฎระเบียบ ไม่ใช่ระบบบริหารความสำเร็จ

 

การบริหารนโยบายไปสู่ความสำเร็จต้องทำให้ครบวงจร ซึ่งมี ๑๒ ขั้นตอน ถ้าทำเป็นระบบครบวงจร ไม่มีทางไม่สำเร็จ แม้จะยากเพียงใดก็สำเร็จ จึงเรียกกระบวนการนี้ว่าสัมฤทธิศาสตร์

 

ทีมสัมฤทธิศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี (PMDU) ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนนโยบายครบวงจรสู่ความสำเร็จ จะช่วยให้เกิดความสำเร็จในนโยบายต่างๆ

กระทรวงต่างๆ ก็ควรมีทีมสัมฤทธิศาสตร์ ด้วยเหมือนกัน

เครื่องมือใหม่ ๒ อย่าง จะช่วยให้ใครก็ตามที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีมีความสำเร็จสูง

 

เป้าหมาย ๓ ประการในการเผชิญสถานการณ์โควิด-19

ขณะนี้โควิด-19 ได้ระบาดไปทั่วประเทศแล้ว เป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม น่าจะมี ๓ ประการ คือ

1.รักษาผู้ป่วยทุกคนทั่วประเทศ

2.ฉีดวัคซีนประชากรให้มากที่สุดเร็วที่สุด

3. สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ทุกตำบล ทุกอำเภอ ทุกจังหวัด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจ สังคม

โดยขยายความดังนี้

1. รักษาผู้ป่วยทุกคนทั่วประเทศ

(๑) ผู้ป่วยอาการไม่หนัก รักษาตัวที่บ้านหรือในชุมชน โดยให้ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์โดยสะดวกทุกคน ต้องทุ่มเทเรื่องการผลิตยา และนำยาถึงบ้านผู้ป่วยอย่างเพียงพอและรวดเร็ว

(๒) ผู้ป่วยอาการปานกลาง ขยายฐานการรักษา วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย ชุมชน กองทัพ บริษัท ดูแลโดยอาสาสมัครที่เคยป่วยด้วยโควิดมาแล้ว คนเหล่านี้มีภูมิคุ้มกัน รู้วิธีรักษา และกำลังตกงาน ถ้าได้ทำงานนี้มีเบี้ยเลี้ยงด้วย ดูแลได้ดีด้วย โดยไม่ต้องกลัวติดโรคด้วย

(๓) ผู้ป่วยหนัก ดูแลโดยแพทย์ และพยาบาลในสถานพยาบาล

2. ฉีดวัคซีนโควิดในประชาชนให้ได้มากที่สุดและเร็วที่สุด

จะโอ้เอ้ล่าช้าเหมือนเมื่อเริ่มต้นไม่ได้ ต้องกระจายอำนาจไปให้องค์กรที่สามารถทำได้รับผิดชอบ เช่น อบต. มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน สภากาชาด มูลนิธิที่เข้มแข็งภาคธุรกิจที่แข็งแรง 

3. สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ทุกตำบล อำเภอ จังหวัด

เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคมและเศรษฐกิจ

การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ทำให้ประชาชนมีกินมีใช้ มีเงินในมือ ทำให้มีกำลังกาย กำลังใจ กำลังทางสังคม เป็นภูมิคุ้มกันทางสังคมเศรษฐกิจเข้ามาบรรจบกัน การสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนหยุดยั้งการระบาดของโควิดลงได้ทั้งประเทศในเวลาไม่นาน

 

ทั้งนี้ รัฐส่วนกลางต้องไม่ออกคำสั่งเชิงปฏิบัติ ซึ่งจะล่าช้าไม่ทันการณ์และสั่งผิดสั่งถูก ให้เป็นหน้าที่ของภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ที่จะคิดเองทำเองอย่างสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยส่วนกลางทำหน้าที่นำทางทิศทางและนโยบาย สร้างเป้าหมายและวิสัยทัศน์ร่วม

การมีทีมสัมฤทธิศาสตร์ของนายกรัฐมนตรีและของกระทรวงต่างๆ จะช่วยให้นโยบายทุกอย่างเป็นผลสำเร็จ

อนึ่ง ในยามคับขันที่จะต้องเอาชนะข้าศึก การพูดจาของทุกฝ่ายจะต้องระมัดระวัง แม้ของผู้ที่ขึ้นชื่อว่าเชี่ยวชาญ จะพูดจากความรู้ทางเทคนิคเท่านั้นไม่ได้ เพราะนโยบายต้องเป็นปัญญาสูงสุดรอบด้านที่สุด วิเคราะห์ผลดีผลเสียทุกด้านมาอย่างดีที่สุด แล้วจึงพูดหรือไม่พูด สาธารณะจะได้ไม่สับสนอย่างทุกวันนี้ ถือหลักสัมมาวาจาที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้จะดีที่สุด คือ

(๑) จะพูดอะไรต้องเป็นความจริง มีที่มา มีที่อ้างอิง

(๒) พูดเป็นปิยวาจา ไม่พูดเพ้อเจ้อ ส่อเสียด ยุยงให้เขาแตกกัน

(๓) พูดถูกกาละเทศะ

(๔) พูดแล้วเกิดประโยชน์ ไม่เกิดประโยชน์ไม่พูด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ