คอลัมนิสต์

เฮือกสุดท้าย "กองทัพ" ขยับช้า

24 ก.ค. 2564

ดิ้นสู้วิกฤตโควิด "ประยุทธ์" สั่งทุกเหล่าทัพขับเคลื่อนช่วยประชาชน "บิ๊กบี้" มาช้าดีกว่าไม่มา คอลัมน์ .. ท่องยุทธภพ โดย .. ขุนน้ำหมึก

หลายคนทักท้วงว่า “มาทำช้าไปหรือเปล่า” หลังอ่านข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมด่วน ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ,พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย , ผู้ว่าฯ กทม. รวมถึงปลัดสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อแก้ปัญหาการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ศูนย์แรกรับ เมื่อค่ำวันที่ 23 ก.ค.2564  ว่ากันว่า การประชุมหนนี้ ตอกย้ำนโยบายที่จะต้องไม่มีผู้ป่วยและเสียชีวิตริมถนน หรือในที่สาธารณะ

 

 

 

สรุปสั้นๆ มี 7 แนวทางคือ ให้เร่งจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น, เพิ่มขีดความสามารถโรงพยาบาลสนาม, เห็นชอบแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน, มอบหมายให้ทหารเข้ามาร่วมช่วยเหลือ,ให้รัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวในภูมิลำเนา,สนับสนุนทีมปฏิบัติการแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก และปรับปรุงระบบการรับเรื่องผ่านโทรศัพท์สายด่วน  ที่น่าสนใจคือ พล.อ.ประยุทธ์ ได้วางแนวทาง “..ให้ทหารเข้ามาร่วมช่วยเหลือ สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย รวมถึงการจัดส่งอาหารและยาให้ผู้ติดเชื้อที่รักษาตัวที่บ้านและที่ชุมชนในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง”

 

ตรงจุดนี้ถือว่า เป็นจุดอ่อนของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตั้ง “บิ๊กเล็ก” พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งไม่สามารถจัดการเรื่องผู้ป่วยนอนรอเตียงจำนวนมาก บางรายเสียชีวิตคาบ้าน ไม่รับคนเร่ร่อนที่นอนตายข้างถนน  ด้วยเหตุนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม จึงต้องสั่งให้ 3 เหล่าทัพ ขยับเข้ามาอุดช่องโหว่เรื่อง รพ.สนาม, การสแกนหาคนป่วยโควิด, การส่งต่อกลับบ้านเกิด ,การจัดการศพ ฯลฯ ซึ่งกองทัพมีกำลังคน และเครื่องไม้เครื่องมือ ที่จะจัดการเรื่องเหล่านี้ได้อยู่แล้ว

 

 

 

กองทัพติดลบ

ท่ามกลางมหาวิกฤตโควิด กองทัพเรือกลับพยายามผลักดันโครงการจัดหาเรือดำน้ำเข้าสู่การพิจารณางบประมาณปี 2565 จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ให้กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือ ชะลอการจัดหาเรือดำน้ำไปก่อน 

 

ล่าสุด มีเรื่องฉาวโฉ่ สื่อสังคมออนไลน์เผยแพร่ภาพหนังสือกรมสารบรรณทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย ถึงสภากาชาดไทย ขอรับการสนับสนุนวัคซีนโมเดอร์นาให้กับกำลังพลและครอบครัว  ร้อนถึงกองบัญชาการกองทัพไทย ต้องสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่า กรมสารบรรณทหารได้ทำหนังสือเพื่อขอรับการสนับสนุนวัคซีนจริง แต่เป็นการทำหนังสือที่ไม่ถูกต้อง และได้ถูกยกเลิกหนังสือดังกล่าว พร้อมพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่กำลังพลดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม กองทัพไทยได้จัดตั้ง รพ.สนาม จะเริ่มเปิดใช้ในวันที่ 30 ก.ค.นี้ โดยเฉพาะสโมสรกองทัพบก เตรียมไว้ 300 เตียง โดยจะขยายขีดความสามารถเพิ่มได้ถึง 100 เตียงรวม 400 เตียง โดยปัจจุบันจัดไว้ 34 แห่ง ในกรุงเทพฯและปริมณฑล และอีก 24 จังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันรองรับได้ 6,135 เตียง  มีเสียงวิจารณ์ว่า หากกองทัพไทยได้มาช่วยทำ รพ.สนาม อย่างจริงจัง ก็คงช่วยแก้ปัญหาเตียงไม่มี เตียงไม่ว่าง จนทำให้เกิดสภาพ “นอนรอเตียงจนตาย” ดังที่ผ่านมา

 

เฮือกสุดท้าย  \"กองทัพ\" ขยับช้า

จุดบริการของกองทัพไทย

 

 

 

 

‘บิ๊กบี้’หายไปไหน

แม้ “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานต้านภัยโควิด ทบ.” มาแต่เดือน พ.ค.2564 แต่ก็เป็นแค่กำลังเสริม และรอปฏิบัติตามคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อยอดผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่แตะหลักหมื่นต่อวัน เตียงใน รพ.ไม่เพียงพอ คนต่างจังหวัดที่มาทำงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อพบว่าติดเชื้อโควิด จึงดิ้นรนกลับไปรักษาตัวที่บ้านเกิด  พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีนโยบายพาคนป่วยกลับบ้าน โดยเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อโควิด ที่ไม่มีอาการ(สีเขียว) กลับภูมิลำเนาเพื่อไปรักษาตัว 

 

เฮือกสุดท้าย  \"กองทัพ\" ขยับช้า

เครื่องบินนำคนป่วยติดเชื้อกลับบ้าน

 

 

ดังนั้น พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก ได้สั่งการให้หน่วยทหารทั้งในส่วนกลางและต่างจังหวัด ร่วมรับผู้ป่วยกลับไปรักษายังภูมิลำเนา รวมถึงนำอากาศยานของกองทัพบก มาเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อทางอากาศไปส่งยังบ้านเกิด 

 

กองทัพมีศักยภาพที่จะช่วยเหลือประชาชน ในยุคมหาวิกฤตโควิด แต่ทำไม “พล.อ.ประยุทธ์” จึงไม่สั่งการให้กองทัพเคลื่อนกำลังเต็มตัวมาช่วยงานกระทรวงสาธารณสุข นี่คือคำถามค้างคาใจประชาชน