เจาะประเด็นร้อน

เมื่อ อนุทิน "ลอกการบ้าน" ไทยรักไทย ส่งให้ประชาชนตรวจ ผ่านหรือไม่ผ่าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อ อนุทิน "ลอกการบ้าน" ไทยรักไทย ส่งให้ประชาชนตรวจ ผ่านหรือไม่ผ่าน บทวิเคราะห์.. โดยชัยวัฒน์ ปานนิล

พรรคไทยรักไทย(ทรท.) ในยุคของ นายสุขวิช รังสิตพล ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) ได้มีการประกาศนโยบายปฏิรูปการศึกษา มีการออกพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2542 เป็นแนวทางในการดำเนินการ

 

ด้วยความเป็นนักธุรกิจของรัฐมนตรีศึกษาธิการและนายทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้กับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) อย่างเต็มที่ จนกระทรวงศึกษาธิการ กลายเป็นกระทรวงเกรดเอ ที่หลายคนหมายปองเก้าอี้รัฐมนตรี

กระบวนการปฏิรูปการศึกษา เริ่มขึ้นเมื่อ ปี 2542 โดยมีหลักการจัดการศึกษาที่สำคัญ คือ การกระจายอำนาจ การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย การยึดมาตรฐาน และการยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ นำมาสู่ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2542 มีการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เกิดเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา

ผลที่เกิดขึ้นเห็นได้ค่อนข้างชัด ทั้งเรื่อง กฎหมาย โครงสร้าง การศึกษาภาคบังคับ 9 ปี การจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตทุกรูปแบบ อาทิ ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สวนสัตว์ ฯลฯ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณต่างๆ ให้กับสถานศึกษา ชนิดที่เรียกว่า ไม่อั้น จนเป็นเหตุให้มีการทุจริตตามมาในกรณี การจัดซื้อคอมพิวเตอร์เกินราคาสำหรับโรงเรียนกว่า 39,000 แห่ง

จากผลของการปฏิรูปในครั้งนั้น เป็นจุดเปลี่ยนทำให้อาชีพครู กลายเป็นอาชีพยอดนิยม ในเวลาต่อมา เนื่องจากมีอัตราเงินเดือนที่สูงและมีค่าตอบแทน ที่เรียกว่า เงินวิทยฐานะ รวมทั้งเส้นทางการทำงานที่เอื้อต่อชีวิตครอบครัว ไม่เสี่ยงอันตราย และไม่ต้องย้ายที่ทำงานบ่อยๆ

เรียกกันว่า วิชาชีพครูได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า ในส่วนของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นเหตุให้พรรคไทยรักไทย ในเวลานั้นครองใจข้าราชการครูเกือบทั้งประเทศ ที่มีอยู่กว่า700,000 คนในยุคนั้น  และกลายเป็นฐานเสียงเงา ทำให้พรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายในเวลาต่อมา

เวลาผ่านไป 20 ปี มีเหตุการณ์ที่คล้ายกันเกิดขึ้นอีก แต่เปลี่ยนเป็นกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีนักการเมืองหนุ่มอนาคตไกล แสดงความจำนงแน่วแน่ ขอเข้ามาเป็นเจ้ากระทรวง พร้อมนโยบายที่เหมือนว่าจะโดนใจประชาชน จนได้รับฉายาว่า รัฐมนตรีกัญชา มีการใช้นโยบาย กัญชาเสรี จูงใจให้ประชาชนเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค แต่นโยบายดังกล่าวก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ผู้ได้รับผลประโยชน์กลับเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่และกลุ่มทุนต่างๆ

บังเอิญว่า ในช่วงปลายปี 2562 ได้เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขึ้นจึงทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ในขณะนั้น กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายพื้นที่ว่า เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ว่า สามารถควบคุมได้ เชื้อโควิด19 “กระจอกงอกง่อย” ถ้าเราเข้าใจมัน เราก็สู้กับมันได้

หลังโรคโควิด19 สิ้นสุดการระบาดในรอบแรก มีการประกาศชัยชนะและมีการตอบแทนผู้ปฏิบัติงานในกระทรวงสาธารณสุข ด้วยการบรรจุอัตราข้าราชการตั้งใหม่ COVID-19 จำนวน 38,105 อัตรา แบ่งเป็น 3 ระยะดังนี้

1. ระยะที่ 1 รวม 25,051 อัตรา แบ่งเป็น นายแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค นักรังสีการแพทย์ เจ้าพนักงานรังสีการแพทย์ นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก นักเทคนิคการแพทย์ เจ้าพนักงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข เภสัชกร และเจ้าพนักงานเภสัชกรรม

2. ระยะที่ 2 รวม 5,616 อัตรา แบ่งเป็น นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยา นักเทคโนโลยีสารสนเทศ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ นักกายภาพบำบัด เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข วิศวกร(ชีวการแพทย์) นักวิชาการอาหารและยา นักกิจกรรมบำบัด นักโภชนาการ โภชนาการ

3. ระยะที่ 3 รวม 7,438 อัตรา แบ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพ พยาบาลเทคนิค นักเทคนิคการแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข เจ้าพนักงานสาธารณสุข เภสัชกร เจ้าพนักงานเภสัชกรรม นักจิตวิทยา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ นักกายภาพบำบัด เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข

ในปัจจุบันการบรรจุข้าราชการ COVID-19 ก็ยังมีปัญหาในเรื่องของการตกหล่น มีการเยี่ยวยากันเป็นระยะ เป็นเหตุให้มีข้าราชการเพิ่มขึ้นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น ส่งผลต่อการบริการงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข และส่งผลต่องบประมาณระบบหลักประสันสุขภาพถ้วนหน้า ในปีงบประมาณ 2565 และปีต่อๆ ไป

และในสถานการณ์การระบาดของเชื้อ COVID-19 ยังมีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทั่วประเทศเป็นระยะเวลาติดต่อกันตั้งแต่เกิดการระบาดจนถึงปัจจุบัน ใช้งบประมาณหลายพันล้านบาท ยังไม่รวมเงินค่าเสี่ยงภัยโควิดที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าหน้าที่และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งยังไม่ได้รับก็ตาม

เมื่อเทียบสองเหตุการณ์ที่มีระยะเวลาห่างกัน 20 ปี ทำให้มองเห็นความคล้ายของการใช้จ่ายงบประมาณ หรือพูดง่ายๆ ว่า ใช้สถานการณ์ซื้อใจข้าราชการ เพื่อหวังผลทางการเมือง เหตุการณ์แรก ทำให้พรรคไทยรักไทย รัฐบาลในยุคนั้น ครองใจข้าราชการสำเร็จและได้ชัยชนะในการเลือกตั้งติดต่อกันหลายสมัย จนกระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และทำให้อาชีพครู เป็นอาชีพ ในระดับ ต้นๆ ที่คนรุ่นใหม่ต้องการ

แต่เมื่อนักการเมืองรุ่นใหม่ ลอกการบ้านนักการเมืองรุ่นเก่าบ้าง ผลที่ได้จะเป็นเช่นไร การที่นักการเมืองจัดหนักจัดเต็ม ให้กับข้าราชการในกระทรวงที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรี จะซื้อใจข้าราชการได้หรือไม่ ค่าตอบแทนและงบประมาณที่มอบให้ไปจะสูญเปล่าหรือไม่ คงต้องวัดกันเมื่อมีการเลือกตั้งใหญ่ในอนาคต

แต่ขอฝากข้อคิดว่า ลอกการบ้าน กระทรวงศึกษาธิการ นั้นยาก เนื่องจากมีความเป็นเนื้อเดียวกันของข้าราชการและมีการปรับเปลี่ยนสายงานได้ตามความรู้ ความสามารถ

แต่กระทรวงสาธารณสุข เป็นกระทรวงที่ค่อนข้างมีความตายตัวในเรื่องของตำแหน่งหน้าที่ ตั้งแต่บรรจุเป็นข้าราชการจนเกษียณอายุราชการ สังเกตได้จาก ชื่อเรียก ของตำแหน่งที่กำหนดไว้ให้สามารถเป็นได้เฉพาะกลุ่มเฉพาะรายเท่านั้น การลอกการบ้าน แม้มีความเหมือนในด้านการทุ่มงบประมาณทั้ง2กระทรวง แต่เมื่อส่งให้ประชาชนตรวจการบ้านจะผ่านหรือไม่ผ่านต้องรอลุ้นกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' อยากจะกลับบ้าน จริงไหม

วิกฤตศรัทธาไฟลาม "หนู"

ลีลา "หนู" พลิ้ว พลิก "วัคซีนการเมือง"

"อนุทิน" ซัดกลับ "หมอบุญ" จะทำกำไรจากวัคซีนต้องคุยผู้ขายให้จบ อย่ามามือเปล่า

"ล็อกดาวน์" ด่วน "โควิด-19" ระลอก 4 มาแน่ นักวิชาการนิด้า เตือน 7 วันอันตราย

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ

logo-pwa

เพิ่ม คมชัดลึก ออนไลน์

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด